วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ เผยข้อมูลแนวโน้ม 11 จังหวัดภาคอีสาน มีแนวโน้มท่วม-แล้งรุนแรง ชี้ไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านชลศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

จันทร์ ๑๐ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๒:๒๙
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดสถิติปริมาณฝนของไทยย้อนหลัง 60 ปี วิเคราะห์ผลและสร้างแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศ พบ 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ที่มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติจากฝน-แล้งรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา และสุรินทร์

ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ชาลีรักษ์ตระกูล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า จากผลงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ลุ่มน้ำโขง ชี และมูล) โดยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลฝนระดับสถานีจากกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย กับข้อมูลภูมิอากาศระดับโลกของแบบจำลองการหมุนเวียนอากาศจากประเทศอังกฤษ แคนาดา ซึ่งผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่ามีข้อมูลภูมิอากาศที่มีความสำคัญในการพยากรณ์ฝน ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน ค่าความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ความแรงของการไหลเวียนอากาศ ทิศทางลม ความชื้นในอากาศ โดยแบบจำลองความสัมพันธ์นี้ สามารถใช้ในการวิเคราะห์จังหวัดที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติในอนาคต

ทั้งนี้จากงานวิจัยดังกล่าวพบข้อมูล พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่มีแนวโน้มทวีรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะอยู่บริเวณตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ลุ่มแม่น้ำโขง รองลงมาเป็นพื้นที่สีส้ม ในลุ่มแม่น้ำมูล และพื้นที่สีเหลืองที่เกือบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา และสุรินทร์ ประกอบไปด้วยพื้นสีแดง เป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดภัยแล้งรุนแรงขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะกระจุกตัวบริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลุ่มแม่น้ำชี และบางส่วนของทางตะวันออกของภาค รองลงมาคือพื้นที่สีส้ม ในลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง และพื้นที่สีเหลืองที่เกือบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการวิเคราะห์เชิงสถิติจากการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนย้อนหลังเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกตื่น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะมีประโยชน์สำหรับการเตรียมรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ยังสามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำฝนล่วงหน้าในอนาคตได้

ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีไทยจะสามารถผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมโยธาได้จำนวนมาก แต่กลับมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มุ่งสู่อาชีพด้านชลศาสตร์ กลายเป็นอาชีพที่ไทยยังขาดแคลน และยังส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา ที่จะต้องเร่งปั้นนักศึกษาของตนให้เชี่ยวชาญ และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากจบออกไปทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และต้องการให้นักศึกษาวิศวกรรมโยธาทุกคนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการทำงานในด้านนี้เช่นเดียวกัน"

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรด้านวิศวกรพันธุ์ใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญศาสตร์ที่ผสมผสาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านได้พัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมในสาขาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมตลอดมา เพื่อตอบยุทธศาสตร์ประเทศ รวมถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ปัจจุบัน คณะฯมีหลักสูตร วิศวกรรมศาสตร์ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและนานาชาติ จำนวนมาก ร่วมถึงมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนชั้นนำทั่วโลก อย่างไรก็ตามเร็วๆ นี้ คณะฯ กำหนดเปิดตัวการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่จะพลิกโฉมหลักสูตรวิศวกรรมในประเทศไทยให้สอดรับกับความต้องการของโลกอย่างแท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดจนติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ www.engr.tu.ac.th/ และ Facebook fanpageของคณะฯ ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้