รีวิว 8 ทักษะจำเป็น นอกตำราเรียน สำหรับเยาวชนผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

ศุกร์ ๑๔ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๑:๐๕
"โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร..?" ประโยคคำถามสุดคลาสสิคของผู้ใหญ่ที่มักเอ่ยถามเหล่าลูกหลานทุกครั้งที่พบเจอ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการวาดฝันและหาคำตอบว่า "เราอยากประกอบอาชีพอะไร" ในครั้งวัยเยาว์เราทุกคนล้วนมีความฝันที่แตกต่างกันออกไป หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ถึง 20 ปีก่อน หมอ วิศวกร นายกรัฐมนตรีและตำรวจ คงเป็นคำตอบยอดฮิตของเหล่าเยาวชน แต่ด้วยปรากฏการณ์เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ชุมชนเสมือนบนโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือแอปพลิเคชันปฏิวัติวงการคมนาคมอย่างแกรบ (Grab) และอูเบอร์ (Uber) ฯลฯ ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำและยุติความจำเจของการทำงานในออฟฟิศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด คำตอบของคำถามสุดคลาสสิคที่ผู้ใหญ่มักถามเด็ก จะเปลี่ยนไปเป็น "เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ"

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เยาวชนที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ควรเตรียมความพร้อมด้านการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และด้านความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เป็นพิเศษ โดยความพร้อมทั้ง 3 ด้านนี้ เยาวชนจะต้องมี 8 ทักษะ ดังต่อไปนี้

- การใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ได้หมายถึงการริเริ่มไอเดียใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกใช้ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่าง ในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นี้ มีความจำเป็นอย่างมากในการต่อสู้และสร้างความโดดเด่นในสนามธุรกิจอันดุเดือด

- การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Co-Creation)

แน่นอนว่าการประกอบธุรกิจย่อมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว โดยการทำงานเป็นทีมนี้หากสมาชิกเกื้อหนุนกัน ย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจ ดังนั้นการรับฟังและยอมรับความเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น เพื่อนำมาประยุกต์และต่อยอดในการพัฒนาชิ้นงานและแก้ไขปัญหาของทีม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ

- การลงมือทำและความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

การมีไอเดียที่สดใหม่และแตกต่างนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำธุรกิจ แต่การนำไอเดียดังกล่าวไปสร้างเป็นธุรกิจจริง จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจกลไกของธุรกิจ รวมทั้งสามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเองได้อย่างถูกต้อง เพราะหากไอเดียดีเพียงไร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ ธุรกิจดังกล่าวย่อมไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง

- การสื่อสาร (Communication)

การทำธุรกิจย่อมหนีไม่พ้นการนำเสนองาน ทั้งกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ (Partner) ตลอดจนเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ความสามารถในการถ่ายทอดความคิดและทัศนคติ ได้อย่างถูกต้องและชัดเจน รวมทั้งมีทักษะการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ จึงเป็นทักษะที่สำคัญ นอกจากสร้างความเข้าใจแล้ว การสื่อสารที่ดียังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย

- การคิดและมองแบบองค์รวม (Holistic)

หากการเรียนรู้ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ไม่สามารถทำความเข้าใจได้แค่ลักษณะพื้นที่ของกรุงเทพฯ การทำธุรกิจก็เช่นกัน การเป็นผู้ประกอบการที่ดีจึงไม่ควรโฟกัสเพียงแต่ธุรกิจของตนเอง โดยไม่สนใจสภาะแวดล้อมรอบข้าง อาทิ รูปแบบการตลาดของคู่แข่ง ฯลฯ และการมีความเข้าใจในมิติความรู้ที่หลากหลายและรอบด้าน รวมทั้งเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ สังคมและสภาพแวดล้อม ย่อมเป็นหนทางสู่การสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ

- การเข้าใจปัญหา (Understanding)

ทุกปัญหามีทางออกและทุกอุปสรรคมีโอกาสเสมอ หากสามารถค้นหาสาเหตุ ข้อจำกัดและเงื่อนไขของปัญหานั้นได้ และนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งนำมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป ตลอดจนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีก

- การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและวัสดุ (Material and Technology Literacy)

การนำเทคโนโลยีมาใช้ทุ่นแรงในการทำธุรกิจ มิใช่เพียงหนทางของการลดเวลา ลดต้นทุนและเพิ่มผลเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางแห่งการสร้างโอกาสและความแตกต่าง หากมีความเข้าใจในระบบสั่งการและสามารถใช้งานเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีความรู้ในวิทยาการด้านวัสดุ

- การจัดการความเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลว (Change and Failure Management)

ทุกธุรกิจย่อมมีความล้มเหลว แม้ในเริ่มต้นอาจสวยหรูแต่ย่อมมีจุดตกต่ำในวันหนึ่ง ความเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินธุรกิจนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ รวมทั้งยินดีหากต้องเริ่มต้นใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ทั้งนี้ 8 ทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ผ่านชาเล้นจ์ในโครงการ "ชมรมนักออกแบบรุ่นเยาว์" หรือ "YOUNG DESIGNER CLUB" (YDC) อาทิ การออกแบบโลโก้ THE STORY TELLER การออกแบบแนวทางการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์ การสร้างสรรค์เครื่องแบบนักเรียนแนวใหม่และการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาดราม่าในงานกีฬาสี ซึ่งชาเล้นจ์ต่าง ๆ ล้วนส่งเสริมทักษะที่แตกต่างกันออกไป นอกจากทักษะที่จะได้พัฒนาแล้วนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสได้พบปะและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ผ่านกิจกรรมการลงพื้นที่และการทำเวิร์กช็อป จึงอยากเชิญชวนให้เหล่าเยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จรวมกลุ่มกัน มาร่วมโครงการดังกล่าว โดยสามารถสมัครและดูรายละเอียดได้ที่ www.youngdesignerclub.com นายกิตติรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก

เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7400 หรือเว็ปไซต์ youngdesignerclub.com หรือ www.facebook.com/youngdesignerclub

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4