เรียนอินเดียรุ่งแน่นอน! เปิดข้อมูลอินเดียศึกษา พีบีไอซี กับโอกาสในการเรียนรู้โลกธุรกิจ การค้า การเมืองกับอีกหนึ่งยักษ์ของโลก

พุธ ๐๓ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๐๙
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า การทำธุรกิจในสมัยนี้ หากอยากเติบโตในตลาดต่างประเทศ ต้องมองไปไกลมากกว่าตลาดเดิมๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน รวมถึงประเทศในยุโรป การแสวงหาโอกาสกับประเทศใหม่ๆ ที่ก้าวขึ้นมามีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกวัน ไม่แพ้ประเทศมหาอำนาจ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง "อินเดีย" เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจโลกอย่างมาก จากการจัดอันดับของธนาคารโลก อินเดียก้าวกระโดดขึ้นมามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก แซงหน้าประเทศที่ครองอำนาจทางเศรษฐกิจมายาวนานอย่างฝรั่งเศสได้ในปี 2560 นอกจากความน่าจับตามองทางด้านเศรษฐกิจของอินเดียแล้ว แง่มุมวัฒนธรรม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่งสำหรับอินเดีย เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม อีกทั้งมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการเรียนสายสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) เปิดหลักสูตร "อินเดียศึกษา" เพื่อตอบโจทย์การผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญรอบด้านเกี่ยวกับประเทศอินเดีย โดยในประเทศไทยยังมีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในประเทศอินเดียอย่างลึกซึ้งเป็นจำนวนน้อยมาก ซึ่งการเรียนในหลักสูตรอินเดียศึกษาที่พีบีไอซีนั้น มีความน่าสนใจทั้งด้านรายวิชาที่จะได้เรียนตลอด 4 ปี การมีโอกาสได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศอินเดีย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจทำให้ได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์

หลักสูตรอินเดียศึกษา เป็นหลักสูตร 4 ปี โดยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ โดยตลอด 4 ปี นักศึกษาจะได้ศึกษารายวิชาที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในแง่ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยรวม ในวิชาเรียนรวมของมหาวิทยาลัย ในส่วนของวิชาเฉพาะของหลักสูตรอินเดียศึกษา ก็จะได้เรียนทั้งภาษาฮินดี รวมทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศอินเดียโดยเฉพาะ และในส่วนของวิชาเลือกเพิ่มเติม ก็จะมีวิชาบังคับที่มีเนื้อหาเจาะลึกลงไปในด้านสังคมศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งยังมีวิชาเลือกเสรี ให้ได้เลือกเรียนได้ตามความสนใจเพิ่มเติมของนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งในแต่ละรายวิชามีรายละเอียดดังนี้

วิชาศึกษาทั่วไป หรือหลักสูตรพื้นฐานของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียน หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นวิชาเรียนรวม ซึ่งเป็นจุดเด่นของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่จะต้องได้เรียนวิชาเหล่านี้ตั้งแต่ปี 1 เพื่อปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์ ตัวอย่างเช่น วิชาชีวิตกับความยั่งยืนหรือ มธ.103 ที่จะได้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตของมนุษย์ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นวิชาที่อินเทรนด์สุดๆ อีกหนึ่งวิชาที่เป็นไฮไลต์ของการเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็คือวิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ มธ.100 ซึ่งเป็นวิชาที่สอนให้นักศึกษาตระหนักถึงการทำเพื่อสังคม โดยวิชานี้นักศึกษาจะได้วางแผน และลงมือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัย และชุมชนโดยรอบ สะท้อนสโลแกน "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

วิชาหลักทางด้านอินเดียศึกษา (Area Study) หรือเป็นวิชาที่เจาะลึกสำหรับนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งวิชาที่น่าสนใจและได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ วิชาภูมิศาสตร์ทางสังคมและการเมืองของอินเดีย นักศึกษาจะได้เรียนเรื่องการเจริญเติบโตของประชากร การกระจายและความหนาแน่นของประชากร โครงสร้างการศึกษาและการเติบโตของเมือง และการแบ่งส่วนพื้นที่ของอินเดียและนัยยะทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหนึ่งเดียวและความหลากหลาย เป็นต้น นอกจากนี้จะได้ศึกษาภาษาฮินดีทั้งในแง่ ไวยกรณ์ และการสื่อสาร โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอินเดียทั้งในวิชาด้านภาษาและวิชาเฉพาะของหลักสูตรอินเดียศึกษาบางวิชา เพราะการเรียนรู้จากเจ้าของภาษาและวัฒนธรรม จะทำให้เข้าถึงแง่มุมต่างๆ ของอินเดียได้อย่างชัดเจน วิชาเลือกหรือวิชาโทในหลักสูตรอินเดียศึกษา นักศึกษาจะได้ศึกษาในประเด็นเพิ่มเติมนอกเหนือจากวิชาหลักของอินเดียศึกษา สำหรับใครที่สนใจศึกษาวิชาในหลักสูตรจีนศึกษา หรือไทยศึกษา ก็สามารถเลือกเรียนวิชาต่างๆ ข้ามหลักสูตรได้ อย่างเช่น ถ้านักศึกษาสนใจอยากเรียนรู้ทักษะการสื่อสารภาษาจีนในระดับเบื้องต้นจนถึงระดับกลาง ก็สามารถลงเรียนวิชา จศ.101 หรือ การฟังและการพูดภาษาจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาของหลักสูตรจีนศึกษา หรือหากสนใจแง่มุมด้านสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถเรียนวิชา ทศ.353 หรือ การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจใจประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาของหลักสูตรไทยศึกษาได้ และหากสนใจศาสตร์อื่นๆ เช่น การบริหาร การตลาด หรือกฎหมาย ก็สามารถเลือกเรียนวิชาในหลักสูตรนานาชาติของคณะอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆ ของแต่ละคณะ การเรียนวิชาเลือกหรือวิชาโทจึงทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมตามความสนใจที่เฉพาะของแต่ละคน เพื่อเสริมความเชี่ยวชาญในหลักสูตรอินเดียศึกษาให้มีมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

วิชาเลือกเสรี นอกเหนือจากรายวิชาตามโครงสร้างหลักสูตรที่จัดสรรมาเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนอินเดียศึกษา ที่พีบีไอซีแล้ว เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของนักศึกษาที่อาจไม่จำกัดแค่การเรียนในคณะ นักศึกษายังสามารถเรียนวิชาเลือกเสรี โดยเป็นวิชาของคณะใดก็ได้ที่เปิดสอนในหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการอนุมัติจากหลักสูตรนานาชาติที่ต้องการศึกษา ตัวอย่างวิชาที่สามารถเลือกเรียนได้ เช่น วิชาการตลาดระหว่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BBA) ที่เหมาะสำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมด้านระบบธุรกิจและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจระหว่างประเทศ แนวความคิดด้านการตลาดแบบไร้พรมแดน ตลอดจนประเด็นปัญหาการตลาดระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สำหรับคนที่สนใจด้านการบริหารจัดการองค์การและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ก็อาจเลือกเรียนวิชาเลือกเสรีลักษณะนี้ได้ในหลักสูตรนานาชาติ ของคณะรัฐศาสตร์ (BIR) โดยจะได้ศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างองค์การ ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อองค์การ และกระบวนการจัดการวางแผน การอำนวยการ และการควบคุม เป็นต้น

อีกหนึ่งความพิเศษของหลักสูตรอินเดียศึกษาอยู่ที่ เมื่อนักศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 และมีผลการเรียนตามเกณฑ์ จะได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในประเทศอินเดีย เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา โดยตัวอย่างมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศอินเดีย เช่น Chandigarh University Aligarh Muslim University เป็นต้น ซึ่งการได้มีโอกาสไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่อินเดียถึง 6 เดือน เป็นโอกาสที่หาได้ยากมากๆ และถือเป็นประสบการณ์พิเศษที่จะได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของอินเดีย ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลหลักสูตรอินเดียศึกษาเบื้องต้นแล้ว เชื่อเลยว่าผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้ไปจะต้องเป็นผู้รอบรู้ทางด้านอินเดียในทุกศาสตร์ ดังนั้น อาชีพที่สามารถทำได้ในอนาคตจึงมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นักการทูต ล่าม มัคคุเทศก์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ สื่อมวลชนสายต่างประเทศ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมายที่มีความเกี่ยวข้องกับอินเดีย

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3701 หรือ

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/pbic.tu

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4