ชาวบ้าน “บ่อเมา-แหลมแท่น” ร่วมใจคัดแยกขยะ

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๐๑
ขยะกำลังเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญหาทางแก้ไข ข้อมูลล่าสุดระบุว่าประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นปีละประมาณ 27 ล้านตัน แต่ 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมดไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี การลดปริมาณขยะทำให้เกิดน้อยที่สุด หรือหากมีขยะเกิดขึ้น การคัดแยกก่อนการนำไปกำจัดหรือนำไปใช้ซ้ำเป็นเรื่องง่ายมาก สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอนโยบายจากใครทั้งสิ้น

บ้านบ่อเมา-แหลมแท่น หมู่ 1 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนตั้งอยู่ริมหาดติดทะเลฝั่งอ่าวไทย มีถนนเลียบชายฝั่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม มีร้านอาหารและที่พักตั้งอยู่ประปราย สิ่งที่ชาวบ้านกำลังเผชิญก็คือปัญหาขยะที่ลอยจากทะเลมาบนชายหาดในหน้ามรสุม และการทิ้งขยะไม่เป็นที่ตามริมทางถนนเลียบชายหาด

ขณะที่การกำจัดขยะในครัวเรือนเป็นไปตามภูมิความรู้ของแต่ละบ้าน บ้างก็ใช้วิถีฝังกลบ บางบ้านใช้วิธีเผา มีเพียงบางส่วนถูกจัดเก็บโดยเทศบาลเพื่อนำไปกำจัด ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตขึ้นแกนนำชุมชนซึ่งเคยดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำชายฝั่ง จึงได้หารือร่วมกันดำเนิน โครงการ "การจัดการขยะ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการส่งเสริมสุขภาพขนาดเล็ก ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชิดสุภางค์ ชำนาญ แกนนำชุมชนในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่าบ้านบ่อเมา บ่ออิฐ และบ้านแหลมแท่นมีพื้นที่ติดต่อกัน แนวชายหาดมีผู้ประกอบการที่พักและร้านอาหารอยู่ 6 ราย ริมถนนมีขยะที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกที่ผ่านไปมา รวมทั้งขยะที่ลอยมาติดชายฝั่งซึ่งชาวชุมชนช่วยกันดูแลเก็บอยู่เป็นระยะๆ และแต่ละครัวเรือนก็มีวิธีการกำจัดที่แตกต่างกัน ทั้งการเผาทิ้ง การฝังกลบ และส่วนที่เป็นขวดพลาสติกก็แยกไว้สำหรับขาย การประชุมหมู่บ้านไม่เคยมีการพูดถึงการคัดแยกขยะเลย ในขณะที่การจัดการขยะกำลังเป็นปัญหาระดับจังหวัด

"เทศบาลชงโคก็ไม่มีที่ทิ้งขยะก็ต้องจ่ายเงินให้กับเทศบาลเมือง เอาไปทิ้งที่กองขยะของเทศบาลเมืองซึ่งอยู่ในชุมชนเขากล้วย ก็ไปเป็นปัญหาที่นั่นกลายเป็นภูเขาขยะกองโต ทั้งกลิ่นทั้งน้ำขยะ เวลาฝนตกน้ำขยะก็ไหลเป็นปัญหาของชุมชน ดังนั้นหมู่ที่ 1 ของเราก็จะทำเรื่องการคัดแยกขยะให้เป็นตัวอย่างถึงแม้มันจะลดได้นิดเดียวแต่ก็เป็นสำนึกของชุมชน" ที่ปรึกษาโครงการ กล่าว

ที่ปรึกษาโครงการจัดการขยะ ยังกล่าวด้วยว่าสิ่งที่ทำได้เลยคือ การไปจ่ายตลาดต้องลดใช้ถุงพลาสติก ต้องรณรงค์ให้ชาวบ้านกลับมาใช้ตะกร้า แม้จะมีขยะถุงพลาสติกติดมาบ้างแต่ต้องให้ความรู้ในการคัดแยกให้ถูกต้อง โดยมีศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ร้านอาหารเอกชนที่ให้พื้นที่ไว้เป็นต้นแบบการคัดแยกขยะ และให้กลับไปคัดแยกขยะที่บ้าน จากนั้นจะเป็นคนกลางในการรับซื้อขยะเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ เมื่อเริ่มต้นเป็นรูปร่างแล้วจะเข้าไปเผยแนวทางให้เทศบาลได้รับรู้ เพื่อขยายต่อสู่ชุมชนอื่นต่อไป นอกจากนี้จะเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำขยะเปียกต่อยอดไปทำปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน

"ที่ผ่านมามีกลุ่มแทรชฮีโร่ (Trash Hero) เข้ามาเก็บขยะตามชายหาดบ้าง เราก็รู้สึกนะว่าเขาเป็นคนพื้นที่อื่น เราเองก่อขยะขึ้นแต่ทำไมต้องให้เขามาเก็บขยะให้พวกเรา ที่ผ่านมาพวกเราทำเรื่องอื่นๆเรื่องอนุรักษ์กันมาบ้างแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องทำเรื่องขยะกันบ้าง" ชิดสุภางค์ กล่าว

ขณะที่ ประหยัด อยู่เย็น สมาชิกชุมชนซึ่งประกอบอาชีพทำสวนปาล์มและออกเรือประมง กล่าวว่าในครอบครัวมีการคัดแยกขยะอยู่แล้ว ส่วนที่เป็นขวดพลาสติกจะเก็บแยกไว้ขาย บางส่วนที่ขายไม่ได้ก็จะใช้วีธีการเผา ส่วนขยะเปียกเศษอาหารต่างๆ จะนำไปเทใส่โคนต้นปาล์มเพื่อให้เป็นปุ๋ย และยอมรับว่าการคัดแยกขยะที่ทำอยู่ในปัจจุบันเกิดจากเรียนรู้กันเอง ยังไม่มีการแยกขยะชัดเจนอย่างเป็นระบบ

"ที่ผ่านมาก็พยายามยามแยกกันเองในบ้าน อันไหนขายได้ก็ขาย ส่วนที่กำจัดไม่ได้ก็ทิ้งในหลุมหลังบ้านใช้วีธีเผา ถ้าไม่เผาก็จะเพิ่มขึ้นเยอะ เราก็ทำได้แค่นี้ เพราะเทศบาลไม่สามารถเข้าไปเก็บได้ทุกพื้นที่ ชุมชนก็ต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่าจะจัดการให้ถูกต้องอย่างไร จะเริ่มต้นที่ร้านค้าด้วยมั้ย เพราะร้านค้าเวลาซื้อของก็จะใส่ถุงพลาสติกให้" ประหยัด ตั้งข้อสังเกต

ทางด้าน ศตวรรษ ทองประภา ผู้ดูแลร้านอาหารและรีสอร์ท กล่าวว่าในส่วนที่พักขยะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกที่แขกผู้เข้าพักนำมา และขวดน้ำพลาสติกซึ่งมีการคัดแยก

"ส่วนที่ขายได้ก็จะแยกไว้ขายส่วนที่ไม่สามารถกำจัดก็จะรวบรวมไว้ให้รถเก็บขยะของเทศบาล ส่วนขยะเปียกหรือเศษอาหารก็จะรวบรวมไว้ให้เทศบาลไปกำจัดเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากมีการให้ความรู้การคัดแยกขยะก็ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะเห็นว่าเป็นจิตสำนึกส่วนรวมในการร่วมกันรักษาความสะอาด ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนีภาพ สภาพแวดล้อมทำให้นักท่องเที่ยวอยากเข้มาในพื้นที่" ศตวรรษ กล่าว

วันนี้ปัญหาขยะกำลังขยายตัวมากขึ้นในทุกพื้นที่ขอประเทศ ชาวชุมชนบ่อเมา-แหลมแท่นจึงเริ่มตระหนักด้วยตนเองว่าหากปล่อยไว้จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของตนเอง และหมักหมมจนกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก จึงร่วมใจกันเริ่มคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือนพร้อมๆ กับสร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดเพื่อส่วนรวม ซึ่งแนวทางการดำเนินอย่างง่ายๆ ของชุมชนแห่งนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อร่วมสร้างสุขภาพวะที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นได้ทั่วประเทศ.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4