เปิดวัดนัด “พ่อ-แม่-ผู้ปกครอง-ลูก-หลาน” คุยเรื่อง “เซ็กส์” สานสัมพันธ์คนสองวัย สร้างความรู้-ภูมิคุ้มกันสุขภาวะทางเพศ

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๓๙
การพูดคุยเรื่องเพศในสังคมไทยยังมักถูกมองในด้านลบว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย และไม่ควรถูกนำมาพูดถึงถึง แต่สภาพสังคมปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เด็กและเยาวชนเรียนรู้เรื่องเพศได้จากสื่อตามช่องทางต่างๆ ดังนั้นให้ความรู้สร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องจึงเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุด

ประกอบกับปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นวัยเรียนยังคงปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน โครงการ "ร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ สานพลังชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เข้าไปหนุนเสริมท้องถิ่นเพื่อพัฒนาศักยภาพในการสร้างสุขภาวะทางเพศสำหรับเยาวชนในชุมชน สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559

บ้านควนขัน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นชุมชนกึ่งเมือง ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและค้าขาย ค่อนข้างมีฐานะยากจน พบปัญหาครอบครัวแตกแยก และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม 2 ราย

เจษฎาพร ทองงาม โครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศฯ บ้านควนขัน ซึ่งเคยร่วมทำงานกับกลุ่มเพศทางเลือกมาก่อนรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน จึงได้ชักชวนผู้ปกครองและเด็กวัย 12-15 ปี ฝ่ายละ 10 คน มานั่งพูดคุยสร้างความเข้าใจสุขภาวะทางเพศ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติในการสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องสุขภาวะทางเพศแก่เยาวชน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากวัดควนขันซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์รวมจิตใจในการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรม

"ได้ยินปัญหาในชุมชนมาพอสมควร มีวัยรุ่นไม่รู้จักดูแลตัวเองจำนวนมาก แต่สังคมยังไม่สามารถพูดเรื่องเพศได้ และมักมองไปในเรื่องลามกอนาจาร หลังจากพูดคุยกับกลุ่มเยาวชนพบว่าผู้ที่เด็กอยากคุยด้วยคือพ่อแม่แต่กลับคุยไม่ได้ เมื่อถามไปอาจถูกดุด่าเลยไม่พูดดีกว่า อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เด็กยังไม่รู้ว่าจะต้องดูแลทำความสะอาดอย่างไร ผู้ปกครองไม่ได้สอน แต่เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองหรือไปเรียนรู้กับเพื่อนซึ่งอาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ ทั้งที่ผู้ปกครองผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาแล้วควรจะถ่ายทอดให้กับลูกอย่างถูกต้อง" หัวหน้าโครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศฯ บ้านควนขัน กล่าว

ศิรินทราธ์ สุธาประดิษฐ์ หนึ่งในคณะทำงานกล่าวเสริมว่า คณะทำงานโครงการมีทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และครูที่รู้จักคนในชุมชนเป็นอย่างดี โดยเลือกชักชวนไปยังบ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งถูกปฏิเสธตั้งแต่เริ่มแรก เพราะเห็นว่าเรื่องเพศยังไม่สมควรจะพูดกับลูกในเวลานี้ หรือบางรายเข้ามาร่วมกิจกรรมแล้วออกไปกลางคันเพราะเวลาไม่เอื้ออำนวย แต่กลับพบว่าลูกอยากมาร่วมกิจกรรม ซึ่งจะเน้นการพูดคุยสร้างความเข้าใจ แบ่งกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มเด็กออกจากกันในตอนแรก เพื่อให้เด็กได้กล้าพูดและเปิดใจ หลังจากนั้นจึงร่วมทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในภายหลัง

"ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวร้อยละ 60 เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับย่าหรือยาย แต่กลับพบว่าย่าหรือยายมีความเข้าใจมากกว่าพ่อแม่ของเด็ก เปิดใจให้มาร่วมรับฟังมากกว่า เพราะมีประสบการณ์มากกว่า แต่ถ้าเป็นแม่ที่ทันสมัยก็จะมีทัศนคติเชิงบวก เราจะแนะให้ผู้ปกครองฟังอย่างมีสติ ต้องฟังลูกก่อน ส่วนใหญ่จะพบว่าไม่เคยฟังลูกจบเลย และจะดุด่าทันที ทำให้เด็กไม่กล้าพูดกล้าถามอีก จึงพยายามยามให้ครอบครัวได้สื่อสารกัน ไม่ใช่วางเงินไว้ให้แล้วออกจากบ้านไปทำงาน ลูกก็ไปเรียน กลับมาต่างคนต่างอยู่กับหน้าจอแล้วก็เข้านอน ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นคุยเรื่องเพศก็ได้ แต่ถ้าคุยสร้างความรู้ความเข้าใจได้จะเป็นเรื่องที่ดี" ศิรินทราธ์ กล่าว

ทางด้าน กรกช สมจริง ผู้ปกครองในฐานะคุณป้าของ "น้องฟิว" พรหมพิทักษ์ อันตัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วัย 13 ปี เป็นอีกคู่หนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมเล่าว่า ในบ้านมีหลานชาย 3 คน ผู้เป็นแม่ออกไปทำงานแต่เช้าจะกลับตอนดึก หลานๆ จึงสนิมสนมกับป้ามากกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมพูดคุยครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและเห็นว่าผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไปเรียนรู้เอง

"การพูดคุยในเรื่องเพศก็ต้องดูจังหวะดูอารมณ์เด็กด้วย อย่างที่บ้านแม่จะบ่นมากกว่าเด็กก็ลุกหนีไปเลย เท่าที่คุยกับผู้ร่วมกิจกรรมด้วยกันผู้ปกครองก็กลับไปเปิดใจ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น ทัศนคติเปลี่ยนแปลง อย่างกรณีผู้หญิงพกถุงยางตอนแรกก็ไม่ยอมรับเลยมันดูไม่ดี แต่พอได้มาร่วมกิจกรรมได้รู้เหตุผล ทัศนคติในเรื่องนี้ก็เลยเปลี่ยนไป" ป้าของน้องฟิวกล่าว

แม้ว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการจะมีระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ในการสร้างความรู้ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะทางเพศ แต่ก่อให้เกิดการรับรู้ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างความรู้ความเข้าใจต่อสุขภาวะทางเพศกับสมาชิกในชุมชนมากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายผลการดำเนินงานออกไปในวงกว้างให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๔๔ กรรมการ กคช. ลงพื้นที่ชุมชนดินแดง ย้ำ ! ตรวจสอบอาคาร D1 ให้ละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องดินแดง
๑๑:๑๑ สาขาการผลิตอีเว้นท์ฯ ม.กรุงเทพ พร้อมผลักดันวงการ T-POP ใน CHECKMATE T-POP DANCE BATTLE
๑๐:๑๓ ฟอร์ติเน็ตผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมเป็นศูนย์กลางภาคเหนือ สร้างกำลังพลมืออาชีพด้านไซเบอร์เต็มรูปแบบ
๑๐:๕๘ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ชวนสัมผัสฟาร์มกลางท้องทุ่ง และเรียนรู้อนุรักษ์ควายไทย ในงาน INTO THE FARM มนต์รัก
๑๐:๓๐ วว. แนะวัสดุปลูกต้นอ่อนทานตะวันจากก้อนเห็ดเก่าใช้แล้ว
๑๐:๒๑ MICRO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (E-AGM) ประจำปี 2567 ชูกระแสเงินสดแกร่ง - เตรียมชำระคืนหุ้นกู้ 321 ลบ. เม.ย.
๐๙:๔๓ ยางคอนติเนนทอล ฉลองครบรอบความสำเร็จ 15 ปี ในประเทศไทย และการก่อตั้งโรงงานยางคอนติเนนทอลแห่งแรกในประเทศไทยกว่า 5
๐๙:๕๖ เนสท์เล่ ประเทศไทย เร่งเครื่องกลยุทธ์ ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค นำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่อร่อยและมีคุณค่าโภชนาการ
๐๙:๑๑ วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เปิดศูนย์บริการซ่อมตัวถั และสีมาตรฐานครบวงจรแห่งใหม่ ณ โชว์รูมและศูนย์บริการวอลโว่ พระนคร
๐๙:๔๔ HONNE (ฮอนน์) วงดูโอ้สุดแนวจากอังกฤษ ปล่อยเพลงใหม่ Imaginary ต้อนรับศักราชใหม่ เรื่องราวความรักโรแมนติกที่อิงจากชีวิตจริง