กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดจุดรับซื้อข้าวโพดในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด ยืนยันปลูกแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน ชวนเกษตรกรตัดสินใจร่วมโครงการได้ถึง 15 ธันวาคม นี้

พุธ ๓๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๑๔
กรมส่งเสริมสหกรณ์เผยผลการหารือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กำหนดจุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด ตั้งเป้าทุกอำเภอต้องมีจุดรับซื้อข้าวโพดอย่างน้อย 1 จุด พร้อมกำหนดมาตรฐานการรับซื้อเป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ เบื้องต้นตกลงราคารับซื้อข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5 % กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท เชื่อมั่นปลูกแล้วมีตลาดรับซื้อแน่นอน เชิญชวนเกษตรกรตัดสินใจเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม นี้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลุกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่ใน จังหวัดเป้าหมาย 33 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยได้มีการชี้แจง ทำความเข้าใจแก่เกษตรกรได้เห็นถึงรายได้และมาตรการในการจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน ทั้งด้านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 การทำประกันภัยพืชผลเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเพาะปลูกและการหาตลาดเข้ามารับซื้อผลผลิต ซึ่งสหกรณ์การเกษตรจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการผลผลิต ตั้งแต่เริ่มการจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรสมาชิก การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยวจนถึงการประสานกับภาคเอกชนเพื่อเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการคสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีรายงานความก้าวหน้าว่าขณะนี้มีจำนวนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 110,346 ราย พื้นที่ 962,222.50 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานในจังหวัดเป้าหมาย 33 จังหวัด และคาดว่าเกษตรกรจะเริ่มฤดูเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ไปจนถึง 15 มกราคม 2562 และผลผลิตจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง คาดว่าข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจะมีคุณภาพและความชื้นในเกณฑ์ที่ดี โดยมีการประมาณการผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัม

สำหรับการประสานตลาดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และบริษัทเอกชน 15 บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เรื่องการกำหนดราคารับซื้อ และเห็นชอบร่วมกันว่าราคารับซื้อข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5 % ราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาจำหน่ายที่หน้าโรงงานในกทม.และปริมณฑล ส่วนราคารับซื้อในแต่ละพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพ ความชื้น สิ่งเจือปนและค่าขนส่ง ซึ่งจะยึดตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ และใช้มาตรฐานในการรับซื้อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

"ได้ขอความร่วมมือจากทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กำหนดจุดรับซื้อข้าวโพดอย่างน้อย 1 อำเภอ จะมีจุดรับซื้อ 1 จุด ซึ่งขณะนี้มีการกำหนดจุดรับซื้อและชื่อบริษัทที่จะเข้าไปรับซื้อในแต่ละพื้นที่แล้วเกือบทุกจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับจุดรับซื้อได้ชัดเจนในวันที่ 31 ตุลาคม นี้ ซึ่งบางพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดหลังนามาก่อนหน้านี้ ก็จะมีสหกรณ์การเกษตรและลานรับซื้อผลผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ยกเว้นในบางจังหวัดโดยเฉพาะใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่เคยรวบรวมข้าวโพดมาก่อน กรมฯก็ได้แจ้งให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ประสานกับบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมั่นใจว่าจุดรับซื้อข้าวโพดใน 33 จังหวัด ไม่น่าจะมีปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรที่หันมาลองปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จะมีความมั่นใจว่าจะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ส่วนการดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ทางสหกรณ์การเกษตรจะสำรวจเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ ว่ามีเครื่องจักรกลประเภทใดบ้าง เพื่อขึ้นทะเบียนไว้และขอความร่วมมือจากผู้รับจ้างให้ลดค่าบริการในการไถปรับพื้นที่ เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ หรือรถเกี่ยว เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังเจรจากับทางสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ เพื่อขอลดราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ บางแห่งให้ความร่วมมือลดราคาเมล็ดพันธุ์ให้กิโลกรัมละ 30 บาท และการใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูก เกษตรกรสามารถเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทใดก็ได้ ไม่มีการผูกขาดการใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ขอให้ใช้เมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นผู้ผลิต เพื่อป้องกันการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและอาจส่งผลต่อผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการ ซึ่งในพื้นที่ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก สหกรณ์การเกษตรจะเป็นตัวกลางในการสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อให้นำไปกระจาย ต่อให้กับเกษตรกรสมาชิก และทางสมาคมฯพร้อมที่จะสนับสนุนนักวิชาการเกษตรที่มีความรู้เข้ามาแนะนำวิธีการปลูกการดูแลพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร โดยจะมีการแบ่งพื้นที่และมอบให้แต่ละบริษัทรับผิดชอบ ส่วนการติดตามควบคุมคุณภาพผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพตามที่โรงงานอาหารสัตว์ต้องการ จะประสานกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อีกครั้งหนึ่งในเรื่องการกำหนดคุณภาพผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งอยากให้เกษตรกรมั่นใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแล้วจะมีตลาดรับซื้อแน่นอน จึงขอเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม นี้ โดยสอบถามรายะเอียดได้ที่สหกรณ์การเกษตรที่ตนเองสังกัดหรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั้ง 33 จังหวัดเป้าหมาย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4