“จ๊อบไทย” เผยเทคนิคการสัมภาษณ์งาน สำหรับคน “Extrovert” และ “Introvert”

จันทร์ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๕:๕๒
การสัมภาษณ์งานถือเป็นประตูด่านสำคัญในการเข้าทำงานกับองค์กรที่ต้องการ ซึ่งการสัมภาษณ์งานของหลายคนก็ประสบความสำเร็จได้อย่างราบรื่น แต่บางคนกลับรู้สึกประหม่าและเป็นกังวลจนทำให้การสัมภาษณ์นั้นสะดุด เนื่องจากแต่ละคนมีลักษณะท่าทางและการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่าเราจะได้งานที่ต้องการนั้นหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) จึงได้เผยเทคนิคการสัมภาษณ์งานสำหรับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) และอินโทรเวิร์ต (Introvert) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์งานของคนทั้งสองกลุ่ม เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) น่าจะได้เปรียบมากกว่าคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) แต่ในความเป็นจริงแล้วการสัมภาษณ์งานถือเป็นความท้าทายของคนทั้งสองกลุ่ม ดังนั้นถ้าเราสามารถทำความเข้าใจคุณสมบัติของการเป็น Introvert และ Extrovert พร้อมทั้งมีการเตรียมความพร้อมที่ดี ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจและทำให้การสัมภาษณ์งานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เริ่มต้นด้วยคนที่มีลักษณะแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) คนกลุ่มนี้มักจะมีความสามารถในการเข้าสังคม เพราะพูดเก่ง และเข้ากับคนได้ดี ซึ่งการสัมภาษณ์งานก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้วการสัมภาษณ์งานถือเป็นความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เพราะพวกเขามักจะพูดสิ่งที่รู้สึกออกมาอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เนื่องจากการสัมภาษณ์แต่ละครั้งมีหลายองค์ประกอบที่ผู้สัมภาษณ์นำมาใช้ในการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะในการทำงาน การสื่อสาร ทัศนคติ ล้วนมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นเทคนิคในการสัมภาษณ์งานที่คนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ควรนำไปปรับใช้ มีดังนี้

- สร้างความได้เปรียบด้วยการเลือกงานที่ได้พบปะผู้คน – หากต้องทำงานที่ไม่ได้สนใจหรือไม่ตรงกับความเป็นตัวตน อย่างการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ได้ออกไปไหนและไม่ค่อยได้พูดกับใคร อาจทำให้คนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) เกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้นให้ลองทบทวนการเลือกตำแหน่งงานที่จะสามารถนำจุดแข็งมาใช้ได้ ซึ่งงานที่เข้ากับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ได้ดีคืองานประเภทที่ได้พบปะผู้คนอย่างงานขาย งานบริการลูกค้า (AE) งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

- หลีกเลี่ยงการพูดคุยเล่นและเรื่องส่วนตัวที่มากเกินไป – การพูดคุยก่อนเริ่มการสัมภาษณ์แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีในการทำความรู้จักกันและทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์ดูผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็เป็นช่วงเวลาในการสร้างความประทับใจแรกที่ผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกได้ ดังนั้นไม่ควรนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาเล่ามากจนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวเพราะอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกถึงความไม่เป็นมืออาชีพ

- นำเสนอตัวเองให้เหมาะสมกับประเด็นคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการ – โดยธรรมชาติของคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) จะชอบพูดเสนอความเป็นตัวเองให้มากไว้ก่อน แต่สิ่งสำคัญในการสัมภาษณ์งานคือต้องพยายามจับประเด็นผู้สัมภาษณ์ให้ได้ ควรตอบให้กระชับและตรงประเด็นมากที่สุด แต่หากผู้สัมภาษณ์ถามคำถามปลายเปิดมาก็สามารถ อธิบายเพิ่มเติมด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์หรือผลงานที่เคยทำมา ซึ่งจะเป็นการนำเสนอตัวเองที่เหมาะสมและผู้สัมภาษณ์ก็จะรู้สึกถึงความตั้งใจของเราได้เป็นอย่างดี

- เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี – คนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) มักจะชอบเป็นผู้นำในการสนทนา แต่สำหรับการสัมภาษณ์งานต้องมองถึงความเหมาะสมและกาลเทศะเป็นสำคัญ โดยให้ผู้สัมภาษณ์เป็นคนนำบทสนทนาบ้าง และยอมเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะจะทำให้ทราบถึงแนวทางของการสัมภาษณ์ว่าจะไปในทิศทางไหน และอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำคือการพูดแทรกในระหว่างที่ผู้สัมภาษณ์กำลังพูด เพราะคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) มักจะตอบคำถามขึ้นมาทันทีที่คิดได้ ดังนั้นควรฟังให้จบประโยค รวมถึงทบทวนคำถามให้ดีก่อนแล้วค่อยตอบออกไป อย่ารีบพูดแทรกจนทำให้คนสัมภาษณ์รู้สึกว่าความใจร้อนของเราอาจกลายเป็นปัญหาในการทำงานได้

- ใช้จุดแข็งด้านการสื่อสารและกล้าแสดงออกให้เป็นประโยชน์ – การแสดงออกถึงความมั่นใจ ความเป็นมิตร รวมถึงทักษะการสื่อสารที่ดี เป็นจุดแข็งสำคัญของคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ดังนั้นควรหมั่นพัฒนาจุดแข็งเหล่านี้ พร้อมนำมาปรับใช้ในระหว่างการสัมภาษณ์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความประทับใจและเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้งาน

ส่วนการสัมภาษณ์งานสำหรับคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกดดัน เพราะลักษณะของคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) จะเป็นคนที่ชอบเก็บตัว พูดน้อย ไม่ชอบเข้าสังคมที่มีคนจำนวนมาก ด้วยลักษณะนี้เองที่สร้างความกดดันให้กับคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) และอาจทำให้การสัมภาษณ์งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้คนกลุ่มนี้ต้องมีการเตรียมตัวให้มากกว่าคนอื่น สำหรับเทคนิคการสัมภาษณ์งานที่คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) ควรนำไปปรับใช้เพื่อเสริมความมั่นใจในระหว่างการสัมภาษณ์ ได้แก่

- ศึกษารายละเอียดของงานและประเด็นคำถามที่มักถูกถามเพื่อลดความประหม่า – การวางแผนก่อนการสัมภาษณ์ถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้คนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นด้วยการทบทวนคุณสมบัติของตำแหน่งงานให้ละเอียด แล้ววิเคราะห์ตนเองว่าเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับหรือไม่ อีกทั้งควรฝึกตอบคำถามที่มักถูกใช้ในการสัมภาษณ์งาน เช่น การแนะนำตัวเอง การเล่าถึงสิ่งที่เคยทำมาในอดีต ฯลฯ หากเราตอบได้อย่างมั่นใจก็จะเป็นผลดีต่อการสัมภาษณ์งาน นอกจากนี้ควรไปถึงก่อนเวลานัดสัมภาษณ์เพื่อที่จะได้สร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ และลดอาการประหม่าลงได้

- อัดวิดีโอการตอบคำถามเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของตัวเองและสร้างความมั่นใจก่อนการสัมภาษณ์งานจริง – คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) มักไม่ค่อยขอให้ใครมาช่วยถามคำถามสัมภาษณ์ เพราะคิดว่าเป็นการรบกวนผู้อื่นเกินไป ฉะนั้นการอัดวิดีโอสัมภาษณ์ด้วยตัวเองจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งยังทำให้เราเห็นถึงจุดบกพร่องและสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากที่สุดอีกด้วย

- พูดถึงความสำเร็จต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจ – คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) หลายคนมักจะไม่ค่อยมั่นใจที่จะพูดถึงความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมาของตัวเอง แต่ในการสัมภาษณ์งานหากไม่กล้าบอกและแสดงออกถึงความสำเร็จเช่นนี้อาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งคนอื่น เพราะถึงแม้ผู้สัมภาษณ์จะดูผลงานจากในเรซูเม่หรือแฟ้มสะสมผลงานได้ แต่การบอกเล่าเรื่องราวในเชิงลึกด้วยตัวเราเองย่อมทำให้เราเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นลองปรับมุมมองเกี่ยวกับการพูดถึงความสำเร็จให้เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวบางอย่างที่สามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินใจรับเราเข้าทำงานได้ง่ายขึ้น

- นำข้อดีของคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) มาเป็นจุดขาย – ข้อดีของคนกลุ่มนี้คือการเป็นผู้ฟังที่ดีที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น มีความเห็นอกเห็นใจ นอกจากนี้ยังเป็นคนจริงจัง และมุ่งเน้นเรื่องรายละเอียดในงาน หากมีเวลาเตรียมตัวที่มากพอคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) ยังสามารถฉายแววเด่นในที่ประชุมและการนำเสนองานอีกด้วย ซึ่งงานที่เหมาะกับคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) คืองานที่ใช้ความคิด และไม่ต้องพบปะผู้คนเยอะ ๆ เช่น ผู้ตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษา นักวิจัย ตลอดจนศิลปิน นักเขียน ผู้ตรวจพิสูจน์อักษร กราฟิกดีไซน์เนอร์ งานไอที เป็นต้น

สุดท้ายนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภท เอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) หรือ อินโทรเวิร์ต (Introvert) หากรู้จักตัวตนและเลือกงานให้เหมาะสมกับสไตล์ตนเอง เลือกใช้จุดแข็งของตนเองให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งการพัฒนาข้อบกพร่องต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ก็จะทำให้การสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นและยังช่วยให้การสัมภาษณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม จ๊อบไทย ยังมีบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานอีกมากมาย โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่จ๊อบไทย (JobThai) โทรศัพท์ 02-353-6900 หรือเข้าไปที่ www.jobthai.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4