สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “ประชาชน 68.52% เห็นด้วยกับการกำหนดมาตรการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5”

จันทร์ ๒๘ มกราคม ๒๐๑๙ ๐๙:๒๔
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ "ความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5" สำรวจระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 มกราคม พ.ศ. 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,185 คน

ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาจนถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ได้เกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการว่าปัญหาดังกล่าวจะยังดำเนินต่อไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ยานพาหนะปล่อยมลพิษ ปริมาณการจราจรที่หนาแน่น การก่อสร้างโครงการใหญ่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นต้น สำหรับมลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นจะส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหากไม่มีการป้องกันที่ถูกต้อง โดยถึงแม้ผู้คนในสังคมจะตื่นตัวและตระหนักถึงอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นโดยการหาอุปกรณ์ป้องกันขณะอยู่ภายนอกอาคารในบริเวณที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การสวมหน้ากากอนามัย

แต่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะเดียวกันนักวิชาการตลอดจนผู้คนทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงวิธีการป้องกันอันตรายอย่างเพียงพอ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.38 และเพศชายร้อยละ 49.62 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความสนใจติดตามข่าวและความรับรู้เกี่ยวกับอันตรายของฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.65 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.69 ยอมรับว่าตนเองไม่ให้ความสนใจติดตามข่าวเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 19.66 ให้ความสนใจติดตามข่าวโดยตลอด ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.81 ทราบว่าปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 จะส่งผลกับสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.19 ยอมรับว่าไม่ทราบ

ในด้านความคิดเห็นต่อการตื่นตัวและการตระหนักถึงอันตรายของปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.24 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ตื่นตัวถึงอันตรายจากปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.63 มีความคิดเห็นว่ายังไม่ตื่นตัว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.13 ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.81 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงการป้องกันอันตรายจากปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.51 มีความคิดเห็นว่าตระหนักแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.68 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.23 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 ให้ประชาชน แต่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.58 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสนใจแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาวอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.52 เห็นด้วยหากรัฐบาลกำหนดมาตรการเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ การสั่งลดเวลาทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมต่อวัน การสั่งหยุดการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง การสั่งห้ามยานพาหนะที่มีควันดำวิ่งทันที การกำหนดให้ยานพาหนะส่วนบุคคลวิ่งสลับวันกันตามเลขทะเบียนลงท้าย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.04 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.44 ไม่แน่ใจ

แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.25 กังวลว่าจะมีผู้ออกมาคัดค้าน/หาวิธีหลีกเลี่ยงหากรัฐบาลกำหนดมาตรการเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ การสั่งลดเวลาทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมต่อวัน การสั่งหยุดการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง การสั่งห้ามยานพาหนะที่มีควันดำวิ่งทันที การกำหนดให้ยานพาหนะส่วนบุคคลวิ่งสลับวันกันตามเลขทะเบียนลงท้าย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.25 ไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.5 ไม่แน่ใจ

และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.04 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าในอนาคตจะเกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถี่ขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.88 ไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.08 ไม่แน่ใจ

หมายเหตุ : 1.หากต้องการใช้ตัวย่อสำหรับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม" ขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนใช้คำว่า วทส. หรือ STC (สอนระดับปริญญาตรี-โท-เอก) ถ้าย่อคำว่า Siamtech (สยามเทค) (สอนระดับปวช.ปวส.) เป็นคนละสถาบันการศึกษา และ 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นคนละสถาบันกันกับมหาวิทยาลัยสยาม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4