กีฬาเปลี่ยนชีวิต “นรินทิรา เรืองโรจน์” มรภ.สงขลา นศ.ครุฯ ผู้พลิกวิกฤตโรคไต สู่เส้นทางปันจักสีลัตอาชีพ

อังคาร ๑๒ มีนาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๒๘
หลังทัพนักกีฬา มรภ.สงขลา เดินทางไปคว้าชัยในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 รอบมหกรรม จ.อุบลราชธานี ด้วยผลงาน 1 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สถาบัน หนึ่งในนั้นคือ นรินทิรา เรืองโรจน์ เจ้าของเหรียญเงินกีฬาปันจักสีลัต ประเภทต่อสู้ ผู้บอกตัวเองเสมอว่า แม้ความพยายามอาจจะไม่สำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จล้วนมาจากความพยายาม จนทำให้วันนี้เธอสามารถเดินทางตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ไกลเกินครึ่ง

"กิ๊ฟ" นรินทิรา เรืองโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เล่าย้อนกลับไปว่า ในอดีตเธอเป็นเด็กที่ไม่ชอบออกกำลังกาย และป่วยเป็นโรคไตตั้งแต่เรียนชั้น ป.2 อาการแย่ลงทุกวัน จนกระทั่งคุณแม่ของเธอชวนไปปั่นจักรยานเล่นทุกเย็น เพื่อหวังให้สุขภาพดีขึ้น โดยพัฒนาจากระยะทาง 1-2 กม. จนตอนนี้สามารถออกทริปกับครอบครัวและเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ ด้วยการจัดกระเป๋าคาดท้ายจักรยานไปไกลถึงประเทศมาเลเซีย เป็นระยะทางกว่า 50 กม. ต่อวันได้อย่างสบาย เมื่อสุขภาพดีขึ้นเธอจึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการกีฬา เริ่มเล่นทั้งคาราเต้ มวย และ ปันจักสีลัต ที่เดินสายแข่งขันตลอดระยะเวลา 4 ปี ขณะกำลังเรียนที่ มรภ.สงขลา โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ การเข้าร่วมทีมชาติไทยไปร่วมชิงชัยยังสนามต่างประเทศในวันข้างหน้า

กิ๊ฟ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักกีฬาปันจักสีลัตว่า เกิดความสนใจในกีฬาประเภทนี้หลังได้รับคำแนะนำจาก อ.พลากร นัคราบัณฑิต และ อ.ฐาปนวัฒน์ สุขปาละ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลศึกษา ให้ไปเข้าร่วมอบรมปันจักสีลัตพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 1 และมีโอกาสได้ลงแข่งในปีนั้นเลย แต่ด้วยความที่เคยเล่นกีฬาคาราเต้มาก่อน ทำให้เกิดความสับสนทั้งในเรื่องของกระบวนท่า กติกาในเกมการแข่งขัน เนื่องจากทั้งสองประเภทกีฬามีพื้นฐานใกล้เคียงกัน เธอจึงศึกษาการเล่นกีฬาปันจักสีลัตอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งสู่นักกีฬาอาชีพตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

หลังจบการแข่งขันปันจักสีลัต เธอตัดสินใจไปอบรมต่อที่ จ. ปัตตานี ทำให้ฝีมือดีขึ้นในระดับหนึ่ง และยังเป็นสมาชิกชมรมเล็กๆ ของสุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ฝึกซ้อมร่วมกับน้องๆ นักกีฬาทั้งรุ่นยุวชนและเยาวชน ซึ่งก่อนหน้าเคยเป็นเด็กติดเกมที่หันมาเล่นกีฬาตามคำชักชวน จนทุกวันนี้หลายคนพัฒนาฝีมือจนถึงขั้นติดทีมชาติ ยิ่งทำให้เกิดความสนุกและมีแรงผลักดันมากขึ้น ต่อมาเธอยังเข้าอบรมการเป็นโค้ชและผู้ตัดสินเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้สามารถอ่านเกมและเข้าใจเกณฑ์การให้คะแนนได้มากขึ้น

"ทุกๆ วันหลังเลิกเรียน กิ๊ฟจะมีเวลาพักประมาณ 1 ชม. ดูหนัง ฟังเพลง บางครั้งก็นอน และใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างอกไก่กับผักต้มเป็นมื้อเย็น ถ้าไม่มีเรียนจะออกกำลังกายตั้งช่วง 10 โมงเช้า ทำแบบนี้ทุกวันถึงแม้จะไม่มีการแข่ง เพื่อรักษาสภาพร่างกาย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการพักผ่อน จะนอนก่อนเที่ยงคืนตลอด และไปเที่ยวบ้างในวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนช่วงฤดูกาลแข่งขันจำเป็นต้องเคร่งครัดเรื่องวินัยมากขึ้น และลดน้ำหนักไว้ค่อยไปเพิ่มตอนใกล้แข่ง ป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าในขณะนั้น สำหรับเรื่องกำลังใจก่อนลงสนามทุกครั้งแม่จะส่งข้อความมาบอกว่า เต็มที่นะ อีกทั้งยังได้จากทุกๆ ข้อความที่เพื่อนๆ ใน Facebook คอยส่งมาให้เสมอ อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำให้เราใจชื้นและอยากสู้ต่อไป แม้ในช่วงนั้นจะมีปัญหาชีวิตเข้ามาก็จะพยายามไม่สนใจและปล่อยวาง โฟกัสแต่สิ่งตรงหน้าเท่านั้น เพราะการเป็นนักกีฬาได้ต้องมีความอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ ในเมื่อเราเลือกเส้นทางนี้แล้วต่อให้กลับมาบาดเจ็บเขียวช้ำทั้งตัวก็ต้องรีบรักษาตัวเองให้หายเพื่อไปแข่งต่อ"

กิ๊ฟ เล่าอีกว่า เธอได้ก่อตั้งชมรมปันจักสีลัตขึ้นมาในมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนที่สนใจมีโอกาสได้ออกกำลังกายด้วยกัน โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นนักกีฬา บางคนมาเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนรุ่นน้องหลายคนที่มีแววอยากลงแข่งก็สนับสนุนเต็มที่ โดยนำเอาประสบการณ์จากการไปแข่งของตัวเอง และเทคนิคต่างๆ ที่จดจำมาจากโรงเรียนกีฬา มาฝึกซ้อมและแนะนำให้กับคนที่สนใจ เธอจึงรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าหากเรียนจบไปแล้วจะไม่มีใครสานต่อ และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดภาพในอนาคตไว้ว่า หลังจากเรียนจบที่ มรภ.สงขลา แล้ว จะไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้วยโควต้าด้านกีฬา หลังจากนั้นจะสอบบรรจุเป็นครูพละ ความฝันคือช่วงกลางวันเป็นคุณครู ตกเย็นเป็นโค้ชฝึกซ้อมให้กับเด็กๆ ในโรงยิมของตัวเอง เพราะเธอเชื่อว่ามีหลายคนที่สนใจกีฬาชนิดนี้ เพียงแต่อาจไม่ได้รับโอกาส

"ทุกวันนี้กิ๊ฟหายขาดจากโรคไต อีกทั้งระบบต่างๆ ภายในร่างกายดีขึ้น จึงอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง แค่ออกมาเคลื่อนไหวร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เต้นแอโรบิค วิ่ง เดินเบาๆ ไม่ต้องหักโหมแบบนักกีฬา และดื่มน้ำเยอะๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยนมแคลเซียมสูง ไม่ว่าวัยไหน อาชีพอะไร ก็สามารถทำได้เป็นประจำและให้ผลดีกับตัวเองแน่นอน"

สิ่งที่ "กิ๊ฟ" นรินทิรา เรืองโรจน์ อยากบอกก็คือ ไม่มีใครประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้น คนที่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้ ล้วนเคยบาดเจ็บหกล้มมาก่อน เพียงแต่พวกเขาลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อโดยใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าคนทั่วไป เช่นเดียวกับที่เธอสามารถก้าวข้ามความเจ็บป่วย จนสามารถขึ้นมายืนหยัดอยู่ในวงการปันจักสีลัตเช่นทุกวันนี้ได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4