ความสุขจากการให้ ผศ. ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ สถาบันเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐเศรษฐศาสตร์และโลกปริทรรศน์ ม. รังสิต

พุธ ๑๐ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๖:๒๓
ความสุขตามแนวทางพุทธศาสนาเน้นความสุขจากภายในจิตใจและสติปัญญา ดังนั้นความสุขอาจไม่ได้มาจากการ"ได้"รับสิ่งใดๆเพื่อตนเอง แต่เป็นความสุขจากการ"ให้" หรือการเสียสละเพื่อผู้อื่นก็เป็นได้ บทความนี้จึงอยากสะท้อนผลของการวิจัยเชิงปริมาณอันหนึ่งโดยผู้เขียน เกี่ยวกับเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความสุข ซึ่งผลจากการวิจัยนี้พบว่า การให้ หรือการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนมีความสุขได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดใน World Happiness Report ที่มีองค์ประกอบหนึ่งของความสุข คือ Generousity หรือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่บุคคลอื่น

ในการศึกษาหนึ่งที่ผู้เขียนได้ลองทดสอบความสัมพันธ์ของความสุขของบุคคลและปัจจัยต่างๆในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในทางทฤษฎีของตะวันตกและแนวคิดทางพุทธศาสนา โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพและปริมณทล เกือบ 500 ตัวอย่าง พบว่า ตัวแปรที่เกี่ยวกับการให้และการเสียสละ (โดยดูจากความถี่ในการช่วยเหลือผู้อื่น การทำงานจิตอาสา และการบริจาคเงินเพื่อการกุศลต่างๆ) มีความสัมพันธ์เป็นบวกกับความสุขของบุคคลอย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากตัวแปรด้าน สุขภาพ การศึกษา การมีครอบครัวที่อบอุ่น และการลดความเครียด เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่า "การให้" ทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนั้น เมื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มย่อย อาทิ กลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น แยกกลุ่มตามระดับรายได้และการมีงานทำ พบว่า กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางและระดับสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ (ในกลุ่มตัวอย่าง คือกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 20000 - 60000 บาท ต่อเดือน และ กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 60000 บาท ต่อเดือน ตามลำดับ) ซึ่งมีสถานะที่ไม่ลำบากมากและมีฐานะที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า (ต่ำกว่า 20000 บาท ต่อเดือน) ตัวแปรด้านการให้และการแบ่งปันมีผลต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางและสูงกว่า และยิ่งมีผลต่อความสุขในขนาดที่มากขึ้นในกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งมีความพร้อมและสถานะที่จะช่วยเหลือเจือจานผู้อื่นได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

นอกจากนั้น เมื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นผู้มีงานทำและผู้ไม่มีงานทำ พบว่า ความสุขของผู้มีงานทำมีความสัมพันธ์เป็นบวกกับการให้ (นอกเหนือจาก ตัวแปร ด้านสุขภาพ การศึกษา ความสัมพันธ์ในครอบครัว และรายได้) อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มผู้มีงานทำ มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่าผู้ไม่มีงานทำ จึงมีศักยภาพและโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากกว่า กลุ่มผู้ที่ไม่มีงานทำ รวมทั้งกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยที่ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งความสัมพันธ์ของตัวแปรนี้ไม่มีนัยสำคัญต่อความสุขในทางสถิติ นอกจากนี้ ยังพบว่าในกลุ่มผู้ทำงานภาคธุรกิจเอกชน ที่รวมทั้งเจ้าของกิจการและพนักงาน ตัวแปรการให้และการแบ่งปัน มีผลต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

ผลการศึกษาที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ตัวแปรรายได้ ไม่ค่อยมีผล หรือ มีผลต่อความสุขของคนน้อยกว่าตัวแปรอื่น เช่น สุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น และในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทำงานแล้ว (เช่น กลุ่มที่มีรายได้ดีและข้าราชการ) ปัจจัยด้านรายได้ไม่ได้มีผลต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ แต่รายได้จะมีผลต่อความสุขในกลุ่มที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่นกลุ่มคนว่างงาน เป็นต้น นอกจากนั้น ในกลุ่มที่เหลือ (ประมาณ 13% ของกลุ่มตัวอย่าง) พบว่า ความต้องการทางด้านวัตถุที่ลดลง มีผลต่อความสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะเห็นว่ารายได้ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสุขของคนทุกกลุ่ม ในขณะที่สุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขของเกือบทุกกลุ่ม

ดังนั้น จากผลการศึกษานี้ จะเห็นว่า ความสุขของคนไม่ได้มาจากการมีรายได้มากหรือการได้ทางวัตถุมากเสมอไป แต่อาจได้มาจากการให้ผู้อื่นหรือการเสียสละช่วยเหลือส่วนรวม หรืออาจมาจากการลดความต้องการทางด้านวัตถุก็ได้ (เป็นการลดละกิเลสอย่างหนึ่ง) ซึ่งก็คือ ความสุขจากภายใน ตามแนวทางของพุทธศาสนา ที่เน้นความสุขจากการพัฒนาจิตใจและปัญญา มากกว่าการแสวงหาความสุขจากภายนอกหรือความสุขทางกายภาพเท่านั้น ดังนั้น หากการพัฒนาช่วยให้คนส่วนใหญ่พ้นจากความขัดสนและถึงพร้อมด้วยปัจจัยสี่ และพัฒนาจิตใจและสติปัญญาต่อไปแล้ว การมีส่วนเกินทางวัตถุก็จะสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นและช่วยเหลือสังคมได้ และหากเน้นการพัฒนาคนให้มีความสุขจากภายในได้มากขึ้น จะลดความต้องการทางด้านวัตถุลง อันจะนำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 2030 ซึ่งเป็นวาระการพัฒนาของโลกอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๓๖ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัล Digital Transformation Initiative of the Year 2024 จากเวที Healthcare Asia Awards
๑๒:๐๐ กลับมาอีกครั้งกับงานช้อปอย่างมีสไตล์ รายได้เพื่อชุมชน ครั้งที่ 14 เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนมาช้อป ชม ของดี ของเด็ดประจำจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง 4 - 10
๑๒:๓๙ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สนับสนุนพื้นที่ กรมพลศึกษา จัดแข่งขันกีฬากระบี่กระบองระหว่างโรงเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเยาวชน ส่งเสริม SOFT POWER
๑๑:๑๕ TOA ย้ำแชมป์สีเบอร์หนึ่ง คว้า 2 รางวัลใหญ่ 'สุดยอดองค์กร และแบรนด์สีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด' 13 ปีซ้อน Thailand's Most Admired Company Brand ปี
๑๑:๔๒ ไทยพีบีเอสยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ป้องกัน-กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์
๑๑:๕๘ ศิษย์เก่าวิศวฯ SPU กว่า 5 ทศวรรษ ร่วมย้อนวันวานในงาน วิศวฯ คืนถิ่น SEAN HOMECOMING 2024
๑๑:๑๓ เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ประจำปี 2567
๑๑:๔๕ YouTrip สาดความคุ้มต้อนรับสงกรานต์กับ 2 โปรพิเศษ 4.4 Travel Sale และ Japan Mega Cashback รับส่วนลดสุดคุ้มจากแบรนด์ท่องเที่ยวดัง และเงินคืนสูงสุด 2,000
๑๑:๕๒ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชา อนาคตเศรษฐกิจไทย: ยืดหยุ่นและยั่งยืน
๑๑:๑๐ เจแอลแอล ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ