สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 5 เหตุผลที่ไม่รับผู้พิการทางสายตาเข้าเรียนหรือทำงาน

ศุกร์ ๐๓ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๕๕
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เผยผลการสำรวจ "ทัศนคติของประชาชนทั่วไปต่อผู้พิการทางสายตากับการอยู่ร่วมกันในสังคม" โดยสำรวจระหว่างวันที่ 25 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,102 คน

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางสายตาเฉพาะที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ 181,821 คน แต่มีการประมาณการว่าทั่วประเทศมีผู้พิการทางสายตาที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการอีกอย่างน้อย 100,000 คน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อจัดการศึกษาให้กับผู้พิการทางสายตา และนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้โดยไม่เป็นภาระต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในทุกภูมิภาคของประเทศภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงาน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับผู้พิการ ซึ่งรวมถึงผู้พิการทางสายตา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการได้รับสวัสดิการต่างๆ แต่มีผู้พิการทางสายตาไม่ถึง 30% ที่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา และมีผู้พิการทางสายตาเพียง 5% ที่ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวรวมทั้งมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาสังคมในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้พิการทางสายตายังไม่ได้รับโอกาสด้านการศึกษาและด้านการประกอบอาชีพเท่าที่ควรนั้นเกิดจากผู้คนในสังคมยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะความสามารถและศักยภาพของผู้พิการทางสายตา ประกอบกับสถานศึกษาและองค์กรรวมถึงสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาอย่างเหมาะสม

ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีการศึกษาคนตาบอดไทย และครบรอบ 80 ปีมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วไปต่อผู้พิการทางสายตากับการอยู่ร่วมกันในสังคม

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.73 และเพศชายร้อยละ 49.27 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับความรู้สึกเมื่อพบเห็นผู้พิการทางสายตา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.95 ระบุว่าตนเองรู้สึกเวทนาสงสารเป็นอันดับแรก รองลงมามีความรู้สึกเศร้าใจเป็นอันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 19.6 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.7 ร้อยละ 11.16 ร้อยละ 10.34 และร้อยละ 8.08 รู้สึกชื่นชมยกย่อง รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกเฉยๆ และรู้สึกแปลกใจเป็นอันดับแรกตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.26 รู้สึกตกใจเป็นอันดับแรก และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.91 มีความรู้สึกอื่นๆ

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงผู้พิการทางสายตา อาชีพที่กลุ่มตัวอย่างนึกถึงมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ขายสลากกินแบ่งคิดเป็นร้อยละ 88.11 ร้องเพลง/เล่นดนตรีคิดเป็นร้อยละ 86.48 หมอนวดแผนโบราณคิดเป็นร้อยละ 84.21 ครูอาจารย์คิดเป็นร้อยละ 82.3 และพนักงานรับโทรศัพท์คิดเป็นร้อยละ 79.85

ในด้านความเชื่อและความสงสัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้พิการทางสายตานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.08 ยอมรับว่าตนเองไม่เชื่อว่าผู้พิการทางสายตาสามารถหุงข้าว ทำอาหาร ซักผ้า/รีดผ้า เย็บปักถักร้อย กวาดบ้าน/ถูบ้าน ได้ด้วยตนเอง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.76 เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.16 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.6 เคยสงสัยว่าผู้พิการทางสายตาอ่านเขียนหนังสือ ดูนาฬิกาข้อมือ ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ใช้งานคอมพิวเตอร์ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างไร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.14 ระบุว่าตนเองไม่เคยสงสัย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.26 ไม่แน่ใจ

ส่วนพฤติกรรมการเข้าไปสอบถามให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในสถานที่สาธารณะนั้น เมื่อพบเห็นผู้พิการทางสายตากำลังจะข้ามถนน/สะพานลอย ขึ้น-ลงบันไดเลื่อน/ลิฟต์/รถโดยสาร/รถไฟฟ้า เดินอยู่บนบาทวิถี/ภายในบริเวณอาคารสถานที่สาธารณะตามลำพัง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.81 ระบุว่าตนเองจะยืนดูสักพักก่อนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.29 ระบุว่าตนเองจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.9 ยอมรับว่าจะไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนเมื่อพบเห็นผู้พิการทางสายตากำลังยืน/นั่งอยู่ในบริเวณอาคารสถานที่สาธารณะตามลำพัง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.35 ระบุว่าตนเองจะยืนดูสักพักก่อนเข้าไปสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.02 ระบุว่าตนเองจะเข้าไปสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือทันที โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.63 ยอมรับว่าจะไม่เข้าไปสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือ

ในด้านความคิดเห็น ความรู้สึก และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ/อำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.07 ยอมรับว่ารู้สึกกังวลว่าหากตนเองเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาข้ามถนน/สะพานลอย ขึ้น-ลงบันไดเลื่อน/ลิฟต์/รถโดยสาร/รถไฟฟ้า จะส่งผลให้เกิดอันตรายกับตนเองหรือผู้พิการทางสายตา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.25 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงาน/อาคาร/สถานที่ต่างๆส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.13 ยอมรับว่าตนเองยังไม่มีความเข้าใจ-รับรู้เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาดีพอ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.69 ยอมรับว่าตนเองยังไม่มีความเข้าใจ-รับรู้เกี่ยวกับศักยภาพ/ความสามารถในด้านการเรียน/การทำงานของผู้พิการทางสายตาดีพอ

สำหรับปัจจัยสำคัญสูงสุด 5 ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรับผู้พิการทางสายตาเข้าเรียนในสถานศึกษาหรือเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนคือ ขาดความเชื่อมั่นต่อศักยภาพและความสามารถคิดเป็นร้อยละ 86.3 ไม่ทราบทักษะความรู้ความสามารถคิดเป็นร้อยละ 84.39 ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลช่วยเหลือคิดเป็นร้อยละ 83.3 ตำแหน่งงาน/หลักสูตรไม่เหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 81.85 และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 79.31

และในด้านความคิดเห็นต่อการอยู่ร่วมในสังคมของผู้พิการทางสายตานั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.52 เชื่อว่าผู้พิการทางสายตามีความสามารถ-ศักยภาพในการเรียน/ทำงานได้ไม่ด้อยไปกว่าคนปกติทั่วไป และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.95 เห็นด้วยว่าหากผู้พิการทางสายตาได้รับการพัฒนาด้านการศึกษา/ทักษะความรู้ในการดำรงชีวิตด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้พิการทางสายตากลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๔๔ กรรมการ กคช. ลงพื้นที่ชุมชนดินแดง ย้ำ ! ตรวจสอบอาคาร D1 ให้ละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องดินแดง
๑๑:๑๑ สาขาการผลิตอีเว้นท์ฯ ม.กรุงเทพ พร้อมผลักดันวงการ T-POP ใน CHECKMATE T-POP DANCE BATTLE
๑๐:๑๓ ฟอร์ติเน็ตผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมเป็นศูนย์กลางภาคเหนือ สร้างกำลังพลมืออาชีพด้านไซเบอร์เต็มรูปแบบ
๑๐:๕๘ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ชวนสัมผัสฟาร์มกลางท้องทุ่ง และเรียนรู้อนุรักษ์ควายไทย ในงาน INTO THE FARM มนต์รัก
๑๐:๓๐ วว. แนะวัสดุปลูกต้นอ่อนทานตะวันจากก้อนเห็ดเก่าใช้แล้ว
๑๐:๒๑ MICRO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (E-AGM) ประจำปี 2567 ชูกระแสเงินสดแกร่ง - เตรียมชำระคืนหุ้นกู้ 321 ลบ. เม.ย.
๐๙:๔๓ ยางคอนติเนนทอล ฉลองครบรอบความสำเร็จ 15 ปี ในประเทศไทย และการก่อตั้งโรงงานยางคอนติเนนทอลแห่งแรกในประเทศไทยกว่า 5
๐๙:๕๖ เนสท์เล่ ประเทศไทย เร่งเครื่องกลยุทธ์ ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค นำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่อร่อยและมีคุณค่าโภชนาการ
๐๙:๑๑ วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เปิดศูนย์บริการซ่อมตัวถั และสีมาตรฐานครบวงจรแห่งใหม่ ณ โชว์รูมและศูนย์บริการวอลโว่ พระนคร
๐๙:๔๔ HONNE (ฮอนน์) วงดูโอ้สุดแนวจากอังกฤษ ปล่อยเพลงใหม่ Imaginary ต้อนรับศักราชใหม่ เรื่องราวความรักโรแมนติกที่อิงจากชีวิตจริง