สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตแถลงข่าวและเผยแพร่บทวิเคราะห์ ( วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 )หัวข้อ “ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลของประเทศไทย”

อังคาร ๐๙ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๑๓

รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

นัยสำคัญของชีวิตดิจิทัล

การพัฒนาเทคโนโลยีในสังคมดิจิทัลปัจจุบันทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล ท่องเว็บไซท์และดูหนังฟังเพลงอย่างแพร่หลายทดแทนการดูหนังในโรงภาพยนตร์และแผ่นดีวีดี ผู้คนเริ่มใช้คอมพ์พิวเตอร์และแท็บเล็ตช่วยในการเรียนและการทำงาน ผู้คนเริ่มเปลี่ยนจากการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์มาเป็นการติดต่อสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น อาทิเช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) ไลน์ (Line) เป็นต้น พ่อค้าแม่ค้าเริ่มหันมาทำธุรกิจทางออนไลน์มากขึ้น ผู้คนเริ่มหันมาซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ทดแทนการซื้อสินค้าและบริการจากหน้าร้านมากขึ้น ผู้คนเริ่มโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลส่งผลกระทบในด้านบวกหลายประการ อาทิเช่น ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและสะดวกสบาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ช่วยลดต้นทุน ช่วยเพิ่มช่องทางในการค้าขายและสร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หากประชากรในประเทศมีความแตกต่างทางความรู้หรือขาดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคดจิทัลนี้หรือที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล ย่อมนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบในการดำเนินชีวิตและในการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

การจัดทำดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การจัดทำดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล (Digital Life Inequality Index: DLII) จึงมีความสำคัญเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถาณการณ์และระดับความเหลื่อมล้ำด้านชีวิตดิจิทัล (Digital life) ในสังคมไทยอันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ ปรับปรุงการแก้ไขและการพัฒนาเชิงนโยบายโดยทั้งจากทางภาครัฐและทางภาคเอกชน โดยที่ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลนี้อ้างอิงจากผลการวิจัยเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลในประเทศไทย ของ นางสาวฐิติมา ปานศรี นักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต และ ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยสังเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจการมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2556 - 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลคำนวณจากความแตกต่างของพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดิจิทัลของแต่ละปัจเจกบุคคลใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย รูปแบบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต รูปแบบพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และรูปแบบพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารแบบเวลาจริง อาทิเช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ต สถานที่ ประเภทอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ ความถี่ในการใช้งาน การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายต่างๆ การใช้โทรศัพท์ การส่งข้อมูล การค้นหาข้อมูล การใช้อีเมล์ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และการใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงาน การเรียน เล่นเกม บันเทิง เป็นต้น ทั้งนี้การวิเคราะห์กำหนดให้รูปแบบพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลในแต่ละด้านมีคะแนนสูงสุด 100 คะแนน และค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลที่คำนวณได้จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 100 โดยที่ 0 หมายถึง มีความเสมอภาคหรือไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย และ 100 หมายถึง มีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรงที่สุด

สถานการณ์ชีวิตดิจิทัลของประเทศไทย ชีวิตดิจิทัล

ในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2556 – 2560) ที่ผ่านมา การใช้ชีวิตดิจิทัลของคนไทยในภาพรวมระดับประเทศมีแนวโน้มคะแนนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 23.39 คะแนน ในปี พ.ศ. 2556 เป็น 32.9 คะแนน ในปี พ.ศ. 2560 แต่อย่างไรก็ตามชีวิตดิจิทัลของคนไทยโดยเฉลี่ยยังได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเมื่อดูคะแนนของรูปแบบพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านต่างๆ พบว่า คนไทยพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านการใช้อินเทอร์เน็ตและด้านการติดต่อสื่อสารแบบเวลาจริงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กลับลดลงอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากคนส่วนใหญ่เน้นการใช้เทคโนโลยีผ่านทางสมาร์ทโฟน (Smart phone) และแท็ปเล็ท (Tablet) ซึ่งสะดวกและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ (Life style) ของคนทั่วไปมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์พีซีแบบตั้งโต๊ะและแบบโน๊ตบุ๊คพกพาซึ่งมักใช้กันในแวดวงการศึกษาและการทำงานเฉพาะทางเท่านั้น

ในระดับภูมิภาค คนกรุงเทพครองอันดับ 1 ชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยมากที่สุด อันดับที่ 2 คือคนภาคกลาง เป็นที่น่าสังเกตว่าคนภาคใต้มีพัฒนาการทางด้านชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าคนภาคเหนือโดยแซงคนภาคเหนือจากอันดับที่ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ในขณะที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุดอย่างต่อเนื่อง

ในระดับจังหวัด คนกรุงเทพยังคงครองอันดับ 1 ชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยมากที่สุดในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยที่คนนนทบุรีครองอันดับที่ 2 มาในอดีตแต่ถูกคนปทุมธานีและภูเก็ตแซงขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ใน 2 ปีหลัง ทำให้คนนทบุรีตกลงมาเป็นอันดับที่ 4 ในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่คนแม่ฮ่องสอนได้คะแนนชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศติดต่อกันมาในอดีต แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2560 คนแม่ฮ่องสอนอันดันดีขึ้นมา 3 อันดับ โดยที่ คนสกลนคร คนนราธิวาส และคนหนองคาย ขึ้นแท่นอันดับชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุด อันดับที่ 1 2 และ 3 แทน

ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในภาพรวมระดับประเทศมีแนวโน้มไปในทางที่ดีโดยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 50.63 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 42.46 ในปี พ.ศ. 2560

ในระดับภูมิภาค ภาคตะวันอกเฉียงเหนือมีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุด โดยลดลงจาก 51.77 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 45.36 ในปี พ.ศ. 2560 เคียงคู่มากับภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ โดยที่กรุงเทพมหานครมีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลน้อยที่สุดและแตกต่างกับภูมิภาคอื่นๆอย่างโดดเด่นชัดเจน โดยลดลงจาก 41.38 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 31.93 ในปี พ.ศ. 2560 เป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลในภาคเหนือสูงใกล้เคียงกับภาคตะวันอกเฉียงเหนือมาโดยตลอดและแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 45.47 ในปี พ.ศ. 2560

ในระดับจังหวัด จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยลดลงจาก 67.68 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 51.68 ในปี พ.ศ. 2560 รองลงมาอันดับที่ 2 คือจังหวัดน่าน ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 และจังหวัดนราธิวาส ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 โดยล่าสุดเป็นจังหวัดตาก ในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่ ใน ปี พ.ศ. 2560 จังหวัดน่าน ไม่ได้ติดอันดับความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับแรกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 กรุงเทพมหานครกลับไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลน้อยเป็นอันดับ 1 ของประเทศเสมอไป ด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 41.38 38.97 37.15 34.61 และ 31.93 ตามลำดับ โดยเสียแชมป์ให้กับจังหวัดนนทบุรีด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 38.35 ในปี พ.ศ. 2557 และล่าสุดเสียแชมป์ให้จังหวัดภูเก็ตด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 31.53 ในปี พ.ศ. 2560

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4