งานวิจัย พบ เจาะบาดาล เสี่ยงดินเค็ม แนะ วางแผนจัดการน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบร่วมกับน้ำผิวดิน

พฤหัส ๑๘ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๔๔
โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแต่ในปีนี้หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานของไทยประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนักเช่นที่นครราชสีมา แล้งสุดในรอบ 50 ปี จากภาวะฝนทิ้งช่วง ที่ขอนแก่นแหล่งน้ำผิวดินอยู่ในสภาพแห้งหมดอ่าง แนวทางแก้ที่ผ่านมาคือการใช้น้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะระบบประปาหมู่บ้าน ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดภัยแล้งสิ่งที่รัฐทำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง คือ การแจกงบประมาณปูพรมเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้า แต่ปัญหา "น้ำบาดาลเค็ม" ที่เกิดขึ้นมีมาช้านาน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ แถมน้ำผิวดินบางช่วงก็เกิดปัญหาความเค็มด้วย เช่นกรณีลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาแห้งแถมเค็ม และอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำบาดาลที่เคยใช้กลายเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคและเพาะปลูกต่อไปได้ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างมากโดยเฉพาะในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้น้ำบาดาลเค็ม!

เป็นที่มาของ "โครงการแนวโน้มผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการใช้ที่ดินต่อศักยภาพการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง" ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อวางแผนการบริหารจัดการที่ดินและการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ในอนาคต ให้มีทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานคู่ขนานบนฐานข้อมูลเดียวกับการศึกษาแนวโน้มการแพร่กระจายดินเค็มในอนาคตในช่วง 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีข้างหน้า บนพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ผลการศึกษาที่ได้อยู่ในรูปแบบของแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการใช้น้ำบาดาล และแผนที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็ม โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์

ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งมีผลต่อระบบอุทกธรณีวิทยาและมีผลต่อปริมาณการเพิ่มเติมน้ำบาดาล สมดุลน้ำบาดาลและศักยภาพน้ำบาดาล การกระจายความเค็มในน้ำบาดาลและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดินเค็มในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้มีทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ได้อย่างยั่งยืน และอาจช่วยให้เข้าใจถึงความเสี่ยงในการขยายตัวของพื้นที่น้ำบาดลขัง-ดินเค็ม โครงการวิจัยนี้ มีเป้าหมายเพื่อประเมินศักยภาพทรัพยากรน้ำบาดาลและประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดขึ้นน้ำขัง-ดินเค็มในลุ่มน้ำห้วยหลวง ในปัจจุบันและอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการใช้น้ำในอนาคต คาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ทรัพยากรน้ำ และพื้นที่ดินเค็ม ได้นำผลการศึกษาไปใช้ในการวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และการใช้ที่ดินได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาพื้นที่อื่นต่อไป

ลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งภาคอีสาน โดยลุ่มน้ำห้วยหลวงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,900 ตร.กม. อยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และหนองคาย พื้นที่ประกอบด้วยภูเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอน และที่ราบลุ่ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 160-200 เมตร โดยพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงรองรับด้วยกลุ่มหินโคราช ที่มีหน่วยหินมหาสารคามรองรับอยู่ ซึ่งเป็นชั้นหินที่มีเกลือหินแทรกตัวอยู่ พื้นที่บางแห่งจึงพบน้ำบาดาลเค็ม โดยเฉพาะบริเวณที่มีชั้นเกลือหินแทรกตัวในระดับตื้นๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงมีข้อจำกัดในการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือมีการพัฒนาใช้น้ำบาดาลจนเกินสมดุล หรือเกินศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรุกตัวหรือกระจายตัวของน้ำบาดาลเค็มในอนาคต

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน บอกว่า การทำวิจัยที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง มี 2 ประเด็นที่สนใจ คือ ปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ และประเด็นการกระจายตัวของน้ำเค็มในอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนปลายบริเวณที่บรรจบกับลุ่มน้ำโขงฝนมาก แต่ตอนที่ลึกเข้ามาในแผ่นดินไปทางจังหวัดอุดรธานีและหนองบัวลำภู จะค่อนข้างแห้งแล้ง

"ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ พื้นที่น้ำเค็มจะกระจายตัวมากขึ้น แต่ความเค็มจะลดลง เปรียบกับไข่แดง ไข่แดงจะลดลง แต่ไข่ขาวจะใหญ่ขึ้น พื้นที่น้ำบาดาลเค็มไม่มากขยายตัวขึ้น แต่เอาน้ำมาใช้ไม่ได้มากขึ้น ขณะที่พื้นที่เค็มจัดๆ จะลดลง"

ดร.โพยม กล่าวว่า " ข้อเท็จจริงคือในภาคอีสาน ถ้าใช้น้ำบาดาลเยอะ ปัญหาแรกที่จะเจอคือ น้ำเค็มเข้า ต่างจากกรุงเทพฯถ้าใช้น้ำบาดาลมาก ดินจะทรุดแล้วน้ำเค็มค่อยเข้าเพราะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนเดินเหนียวอ่อนเมื่อสูบน้ำจากดินจะเป็นน้ำบาดาลในตะกอน มันพร้อมจะยุบตัวถ้าเกิดความดันใต้ดินลดลง แต่ในอีสานเป็นน้ำบาดาลในหิน การสูบน้ำในหินไม่ได้ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน แต่เกลือที่อยู่ใต้หินที่เราใช้น้ำ มันมีความเค็ม พร้อมที่จะกระจายความเค็มหรือค่าคลอไรด์เข้ามาในบ่อบาดาล แล้วจะใช้ไม่ได้ เราจะเห็นว่าบ่อบาดาลในภาคอีสานเป็นบ่อทิ้งร้างจำนวนมาก เจาะกันใช้ปีเดียว พอปีหน้าน้ำเค็มเข้าก็ใช้ไม่ได้ ต้องหาที่เจาะใหม่ไปเรื่อยๆ

ข้อมูลสำคัญที่เราไม่รู้คือ ปริมาณการใช้น้ำบาดาลที่แท้จริง เพราะว่าตอนนี้มีบ่อที่ไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียน เป็นบ่อเถื่อนที่เราไม่รู้ อยู่ในป่าอ้อย ในบ้าน ในวัด ในโรงเรียน และอีกหลายๆ ที่ที่เราไม่รู้ว่ามีการเจาะอยู่ตรงไหน เจาะลึกเท่าไร และสูบน้ำขึ้นมาใช้เท่าไร อย่างในแอ่งแถวอีสานมีที่เรารู้ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ อีกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เราไม่รู้ เราจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาอย่างไรแล้วบริหารจัดการอย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้"

สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ นอกจากข้อมูลเรื่องน้ำบาดาล ดร.โพยม บอกว่า สิ่งที่ได้มีการทดลองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ การศึกษาทดลองหาค่าการแพร่กระจายของมวลสาร (Dispersivity) ในน้ำบาดาล เพราะค่านี้เป็นค่าที่ชี้ว่าน้ำบาดาลเค็มแพร่กระจายไปเร็วหรือช้าแค่ไหน บริเวณน้ำบาดาลที่เราใช้จะอยู่ในหินชั้นบน เป็นหินที่เราใช้น้ำเป็นน้ำจืด แต่ถ้าเราเจาะลึกเกินไปนิดหน่อยจะพบว่าเป็นน้ำเค็ม เนื่องจากเกลือในอีสานมีเยอะมากและหนามาก

บริเวณที่เราพบว่ามีน้ำเค็มมาก คือ บริเวณที่มีเกลือใกล้ผิวดิน เพราะฉะนั้นนอกจากความลึก ความหนาของเกลือเหล่านี้ ระบบการไหลของน้ำบาดาลก็คือส่วนสำคัญเพราะน้ำบาดาลไหลพาเกลือไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝนตกน้อยหรือมาก การไหลพาเกลือไปจึงมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ขณะเดียวกันถ้าปีไหนแล้งติดต่อกันนาน เรายิ่งใช้น้ำบาดาลมาก ทำให้ต้นทุนของน้ำบาดาลยิ่งน้อยลง น้ำเค็มก็จะยิ่งขึ้นมา นี่เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหน้าแล้ง ยิ่งแล้งติดต่อกันหลายๆ ปี ยิ่งมีผลกระทบมาก

จากการศึกษาชั้นดินชั้นหินทางธรณีวิทยาและการประเมินปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ได้อย่างยั่งยืน (Sustainable yield) โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ ทำให้ทราบว่า บริเวณไหนเกลืออยู่ตื้น-ลึกขนาดไหน น้ำบาดาลตรงไหนเค็มมาก เค็มน้อย ถ้าต้องการจะพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ควรจะไปใช้ตรงไหนและใช้ได้เท่าไรในสภาวะไหน ถ้ามีฝนปริมาณนี้ใช้น้ำได้ประมาณไหน โดยใช้สภาพภูมิอากาศในอนาคตมาจำลองว่าน้ำในอนาคตจะไหลลงไปใต้ดินเท่าไร และจะไหลพาเอาความเค็มไปทางไหน โดยใช้สัญญาลักษณ์สีเป็นตัวกำกับความเค็ม อาทิ สีฟ้า คือน้ำจืด สีเขียว คือน้ำกร่อย สีแดง คือเค็ม พบว่า พ.ศ.2580 - 2590 พื้นที่ตรงที่ไม่เคยแดงก็จะแดง โดยเฉพาะแถวอำเภอกุดจับ ความเค็มจะมากขึ้น

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ยอมรับว่า "การใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือประเมินศักยภาพน้ำบาดาล เปรียบไปไม่ต่างกับการทำนายภูมิอากาศ เพราะเป็นผลกระทบของภูมิอากาศอีกต่อหนึ่ง เราจะสามารถวางแผนได้ว่าควรจะไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือจะไปทำอะไร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และ เกษตรกร จะได้เข้าใจว่าถ้าเราจะขยายพื้นที่ชลประทานหรือขยายนาข้าว ควรจะพิจารณาตรงไหนเป็นพื้นที่ที่ควรขยาย หรือ หลีกเลี่ยงอะไร อย่างไร ขณะเดียวกันถ้าเรารู้จักการบริหารจัดการ พื้นที่ที่บอกว่าจะเค็มในอนาคตอาจจะไม่เค็มก็ได้"

นอกจากนี้ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็ม ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ ตำบลเชียงยืน ตำบลปะโค ตำบลกุดสระ และในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2570 จะขยายตัวจากเดิมไปในพื้นที่ตำบลสามพร้าว และตำบาลนาข่า กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็มเพิ่มขึ้น ดังนั้น การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้พื้นที่ ต้องมีการเฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและความเค็มของน้ำบาดาล ต้องมีการวางแผนไม่ให้เกิดการใช้น้ำบาดาลเกินศักยภาพตามปริมาณการใช้ตามสภาพภูมิอากาศและการใช้ดินที่เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันการแทรกตัวของน้ำบาดาลเค็ม เข้ามาในบ่อบาดาลที่มีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำบาดาลเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งของน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งน้ำดื่ม น้ำแร่สารพัดยี่ห้อ กระทั่งประปาหมู่บ้านล้วนแล้วแต่อาศัยแหล่งน้ำจากใต้ดินทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำเรื่องน้ำบาดาลมาอยู่ในแผนที่เดียวกับแหล่งน้ำผิวดินเวลาบริหารจัดการน้ำ!! ซึ่งเรื่องนี้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ยอมรับว่า การบริหารจัดการน้ำนั้นต้องทำทั้งน้ำบนดินและน้ำบาดาล ที่ผ่านมาการวางแผนน้ำส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องแผนการจัดการน้ำผิวดิน ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ๆ พึ่งพาการใช้น้ำบาดาลเป็นหลักจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำบาดาล ประเทศไทยเราตอนนี้จึงกำลังดำเนินการเรื่อง Groundwater Governance อยู่อย่างเร่งด่วน โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็น Regulator

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4