นักศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดผลงาน “มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ” ครั้งแรกงานวิจัยแปลงมังคุดไทยสู่ “ฟังก์ชันนัลฟู้ดส์” อุดมคุณค่า รับเทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก

อังคาร ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๒๑
นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) โชว์ผลงาน "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก" (Mangosteen vegan yoghurt snack (formula: synbiotic)) ไม่เติมน้ำตาล ขนมทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ ที่ได้รับการพัฒนาจากแนวคิดที่ต้องการผลิตขนมที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกายสามารถตอบโจทย์คนรักสุขภาพ คนที่รับประทานมังสวิรัติ ด้วยการนำเนื้อมังคุดฟรีซดรายคุณภาพดีที่มีชิ้นขนาดเล็ก ไม่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นเนื้อมังคุดฟรีซดรายเกรดพรีเมี่ยมได้ รวมถึงโยเกิร์ตถั่วเหลือง มาพัฒนาสูตรผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปที่ช่วยเพิ่มมูลค่า พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมทานเล่นที่อุดมไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์เชิงฟังก์ชัน รับประทานได้หลายรูปแบบ อีกทั้งยังง่ายต่อการพกพาและเก็บรักษาได้นาน เป็นการสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีอยู่ในท้องตลาด สอดคล้องไปกับเทรนด์โลกปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตร พร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป

สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมอาหารดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) โทรศัพท์ 099-051-5130 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิตโทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat

นายพันธกานต์ บางขุนเทียน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) เผยว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก" (Mangosteen vegan yoghurt snack (formula: synbiotic)) มาจากแนวคิดที่ต้องการนำเนื้อมังคุดฟรีซดรายที่มีชิ้นขนาดเล็ก ไม่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นเนื้อมังคุดฟรีซดรายเกรดพรีเมี่ยมได้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำธุรกิจของครอบครัวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า จากการสังเกตและสำรวจตลาด ณ ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคมักประสบปัญหาเรื่องการเลือกรับประทานอาหารทานเล่นหรืออาหารว่าง มีความต้องการจำกัดการบริโภคน้ำตาล ลดหวาน มัน เค็ม โดยขนมขบเคี้ยวที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลักและมีสารอาหารไม่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้จึงต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ และจากการศึกษาค้นคว้าพบว่า ผู้บริโภควัยรุ่น วัยทำงานในปัจจุบัน หากให้นึกถึงอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะนึกถึงโยเกิร์ตหรือขนมที่ทำจากผลไม้เป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นจึงได้แนวคิดที่จะทำเนื้อมังคุดฟรีซดราย โยเกิร์ต มาเป็นส่วนผสมหลักและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่างประเภทขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าเชิงฟังก์ชันที่ดีต่อร่างกาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

สำหรับ "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก" (Mangosteen vegan yoghurt snack (formula: synbiotic)) เป็นขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าจากสารอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ โพรไบโอติก (Probiotics; จุลินทรีย์ในโยเกิร์ต) และ พรีไบโอติก (Prebiotics; อาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้) เป็นที่มาของสูตรซินไบโอติก (Synbiotic = Probiotics + Prebiotics) ที่ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น โดยทั่วไปโยเกิร์ตผลิตจากนมวัว ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่แพ้นมวัวไม่สามารถรับประทานได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จึงเลือกใช้โยเกิร์ตที่ผลิตจากถั่วเหลืองแทน ทำให้ผู้ที่แพ้นมวัวหรือรับประทานมังสวิรัติก็สามารถรับประทานได้ ผสานคุณค่าด้วยเนื้อมังคุดและเนื้อในเปลือกมังคุดฟรีซดรายที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้การพัฒนาสูตรยังมีส่วนผสมของพรีไบโอติกและใยอาหาร ไม่เติมน้ำตาล เป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่างประเภทขนมที่มีทั้งสารอาหารและคุณค่าเชิงฟังก์ชัน จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีเนื้อสัมผัสกรอบเบา มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวที่ได้จากธรรมชาติจากโยเกิร์ตถั่วเหลืองและเนื้อมังคุด อีกทั้งมีสีม่วงอ่อนจากเนื้อในเปลือกมังคุดชวนน่ารับประทาน รูปแบบในการรับประทานก็หลากหลาย เช่น รับประทานเป็นขนมขบเคี้ยว นำไปตกแต่งกับอาหาร/ขนมหวานอื่น ๆ หรือบดให้ละเอียดแล้วชงละลายกับน้ำอุ่นกลายเป็นน้ำมังคุดโยเกิร์ตพร้อมดื่ม

อย่างไรก็ตาม "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก" เป็นผลงานวิจัยร่วมกับนางสาวเบญจวรรณ กุลทรัพย์สถิต นักศึกษาร่วมสาขา โดยมี ดร.กฤติยา เขื่อนเพชรอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตร พร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการเพื่อให้ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป นายพันธกานต์ กล่าว

รศ.ปกรณ์ เสริมสุข รักษาการแทนในตำแหน่งคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า สำหรับ "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก"(Mangosteen vegan yoghurt snack (formula: synbiotic)) ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการประดิษฐ์ของนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดและจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ "The 30th International Invention, Innovation and Technology Exhibition" (ITEX 2019) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษา และทีมคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ที่มุ่งเน้นผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้กล้าคิด กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับแนวคิดของผู้ประกอบการ(Entrepreneurial mindset) เข้าด้วยกัน จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต ตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยผลงาน "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก" นอกจากเป็นการนำมังคุดฟรีซดรายคุณภาพดีที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นเกรดพรีเมี่ยมได้ มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมเพื่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกช่องทางหนึ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของไทย เป็นสินค้าที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะมังคุดถือเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีชื่อเสียงและได้รับความชื่นชอบ จนได้รับฉายาว่า "ราชีนีแห่งผลไม้" (Queen of fruit) ดังนั้นเชื่อว่าผลงานดังกล่าวจะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และผู้บริโภคกลุ่มมังสวิรัติได้เป็นอย่างดี ในขณะที่นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปโดยใช้ผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมอาหารดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) โทรศัพท์ 099-051-5130 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิตโทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4