เสนอปฏิรูประบบภาษีลดภาระชนชั้นกลางและคนจน

อังคาร ๓๐ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๕๔
นโยบายต่างๆของรัฐบาลใหม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รัฐจำเป็นต้องขยายฐานภาษีและเก็บภาษีเพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลัง เสนอเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เพื่อไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางแบกรับภาระภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ คนจนนั้นเสียภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรายได้

เสนอเก็บภาษีลาภลอยเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และ นำเงินมาใช้จ่ายพัฒนาประเทศ 14.00 น. 29 ก.ค. 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นโยบายต่างๆของรัฐบาลใหม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รัฐจำเป็นต้องขยายฐานภาษีและเก็บภาษีเพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลัง เสนอเพิ่มเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ภาษีธุรกรรมออนไลน์และทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางแบกรับภาระภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ มีความเข้าใจผิดว่าคนจนเสียภาษีน้อยหรือไม่เสียภาษี จริงๆแล้วคนจนนั้นเสียภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาได้รับ การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้หรือภาษีเงินได้และฐานการบริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีระบบข้อมูลที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนภาษีต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 17-19% เท่านั้น เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ไทยมีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีของประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจำกัดขนาดกลางและขนาดเล็กต้องจ่ายภาษีมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่โดยสัดส่วนรายได้ เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่มากกว่ารวมทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ผู้มีรายได้สูงหรือมีฐานะร่ำรวยได้ประโยชน์จากสังคมและระบบเศรษฐกิจมากย่อมมีหน้าที่ต้องสละรายได้ให้แก่สังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำรายได้มาเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศและนำไปจัดสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย ระบบภาษีในประเทศไทยขณะนี้มีผลให้ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางต้องเสียภาษี

มากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวยเมื่อเทียบสัดส่วนของรายได้ นอกจากนี้ระบบภาษีของไทยยังมีข้อกำหนดเรื่องการลดหย่อนจำนวนมากและสลับซับซ้อน ไม่มีการเสียภาษีส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital-gain Tax) ภาษีมรดกก็จัดเก็บไม่ค่อยได้ ฐานข้อมูลการถือครองทรัพย์สินไม่สมบูรณ์และไม่สามารถบูรณาการข้อมูลทรัพย์สินได้ทั้งระบบ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาและในอนาคต มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบคมนาคมจำนวนมาก การเก็บภาษีลาภลอยมีความจำเป็นและต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม ในเบื้องตันจะมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ การเก็บภาษีลาภลอยจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่างๆของรัฐ สังคมไทยนั้นอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐในการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่สูงนัก จึงไม่เอื้อให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากนัก ทั้งที่การเสียภาษีเป็นหน้าที่และผู้จ่ายภาษีมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ

ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอยเพื่อสามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น โดยสามารถลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น หน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้จากภาษีลาภลอยควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง เก็บรายได้เข้ารัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล การเก็บภาษีแบบนี้เป็นไปตามหลักผลประโยชน์ (the benefit principle) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลควรจะจ่ายเงินให้รัฐในส่วนที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนหรือการใช้จ่ายของรัฐ และ หลักการนี้ยังอ้างอิงความเท่าเทียม คือ การใช้ประโยชน์จากบริการของรัฐ โดยคิดว่าการบังคับเก็บภาษีจากผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์ไม่น่าจะเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ภาษีลาภลอยนี้ก็ควรดูหลักความสามารถที่จะจ่าย (the ability-to-pay principle) ด้วย การปรับโครงสร้างภาษีหรือการปฏิรูปภาษีต้องเป็นกระบวนการเปิดเผยและให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆตรวจสอบถ่วงดุลกันเองผ่านกลไกรัฐสภา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?