NIDA Poll สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3

จันทร์ ๐๕ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๒๙
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อเพศที่ 3 ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านาม และการเพิ่มช่องเพศทางเลือกในการกรอกเอกสารราชการ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชนกรณีหากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.15 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ วัดกันที่ความสามารถและนิสัยใจคอเป็นหลัก ไม่ควรเอาเรื่องเพศมาเป็นการตัดสิน ถือว่าเป็นคนในสังคมเหมือนกันทุกคน อีกทั้งมีเพื่อนเป็นเพศที่ 3 ที่คอยสร้างความสนุกสนานและเพิ่มสีสันให้กับชีวิต รองลงมา ร้อยละ 7.78 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 2.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ยอมรับได้ในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น และไม่สามารถยอมรับได้ มีสัดส่วน ลดลง โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 88.72 ยอมรับได้ ร้อยละ 10.00 ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 1.28 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

ด้านการยอมรับของประชาชนกรณีหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.81 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ ในเมื่อเป็นไปแล้วก็ต้องทำใจยอมรับ ถึงยังไงก็ถือว่าเป็นคนในครอบครัว ไม่สามารถตัดขาดกันได้ เพียงแต่ขอให้เป็นคนดี สามารถดูแลตัวเองได้ก็พอ ครอบครัวก็มีสมาชิกเป็นเพศที่ 3 อยู่เหมือนกัน รองลงมา ร้อยละ 11.44 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ เป็นการฝืนธรรมชาติ ถือเป็นภาพลักษณ์ของครอบครัว ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ยอมรับได้ในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น และไม่สามารถยอมรับได้ มีสัดส่วน ลดลง โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 79.92 ยอมรับได้ ร้อยละ 16.80 ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 3.28 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.49 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 36.53 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ บางคนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเพศไหน อาจเกิดความสับสนวุ่นวายตามมา เช่น การตามหาตัวบุคคล การติดต่อเอกสารหน่วยงานต่าง ๆ ควรใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพเดิม และร้อยละ 8.98 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วย นั้น ร้อยละ 56.56 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 กลุ่มที่แปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ขณะที่ ร้อยละ 43.44 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 ทุกกลุ่มสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่เห็นด้วยในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น อย่างชัดเจน และไม่เห็นด้วย มีสัดส่วน ลดลง อย่างชัดเจนเช่นกัน โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 39.44 ที่เห็นด้วย ร้อยละ 53.20 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 7.36 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือกในการกรอกข้อมูลเอกสารราชการทุกชนิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.69 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นการระบุให้ชัดเจน เป็นการเพิ่มช่องเพศให้ตรงกับเพศที่อยากจะเป็น และ ง่ายต่อการระบุหรือจัดประเภท รองลงมา ร้อยละ 26.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่สามารถแยกแยะเพศสภาพที่แท้จริงได้ อาจเกิดปัญหาตามมา ควรระบุให้ตรงกับเพศสภาพ และร้อยละ 7.39 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่เห็นด้วยในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น และไม่เห็นด้วย มีสัดส่วน ลดลง โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 59.36 เห็นด้วย ร้อยละ 35.12 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 5.52 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.90 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.65 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.19 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.58 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.85 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.15 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 9.21 มีอายุ 15 – 25 ปี ร้อยละ 17.24 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.22 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.49 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 16.84 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 92.61 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.45 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.87 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.07 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 25.34 สถานภาพโสด ร้อยละ 68.79 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.57 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.30 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 26.61 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.40 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.39 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.50 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.24 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.86 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 11.60 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.44 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.25 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.82 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.85 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.10 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.10 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 14.61 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.59 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.33 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.70มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.88 ไม่ระบุรายได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital