ทุเรียน 3 จ.ชายแดนใต้พร้อมแล้ว ส.ค.-ก.ย. ผลผลิตออกมากให้ลิ้มลอง

พฤหัส ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๔๖
นายสุธรรม ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงปริมาณผลผลิตทุเรียนของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ปี 2562 (ข้อมูล ณ 7 พฤษภาคม 2562 การประชุมคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้) พบว่า เนื้อที่ยืนต้น รวม 3 จังหวัด มีจำนวน 107,685 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 14 เนื้อที่ให้ผล มีจำนวน 80,786 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3ปริมาณผลผลิตรวม 62,980 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล อยู่ที่ 780 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 20

สำหรับเนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาของทุเรียนช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้บริโภคจากจีนมีความต้องการทุเรียนจากไทย ส่งผลให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นโดยปลูกแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา เงาะ ลองกอง และหันมาดูแลรักษาเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทุเรียนที่ปลูกในปี 2557 เริ่มให้ผล ปริมาณผลผลิตรวมจึงเพิ่มขึ้น

หากพิจารณาปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้ง 3 จังหวัด พบว่า ยะลาให้ผลผลิตมากที่สุดรวม 41,507 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 นราธิวาส 17,371 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และปัตตานี 4,102 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 โดยผลผลิตในฤดูเริ่มออกตลาดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562 (คิดเป็นร้อยละ 79 ของผลผลิต 3 จังหวัดภาคใต้) ทั้งนี้ จากการติดตามราคาทุเรียนที่เกษตรกรขายได้ ณ ราคาไร่นา ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทุเรียนเริ่มออกสู่ตลาด พบว่า ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 70 - 80 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 24

สำหรับการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2562 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายวางแนวทางบริหารจัดการผลไม้ให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีพาณิชย์จังหวัดเป็นเลขานุการ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ควรจะต้องเน้นการรักษาคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนดของทุเรียน เนื่องจากคู่แข่งอย่างมาเลเซียจะเข้ามามีส่วนแบ่งการตลาดของประเทศไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ได้มีการบังคับใช้กฎระเบียบการส่งออกไม้ผลของไทยไปต่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดไปประเทศจีน ซึ่งทางโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ขณะที่สวนผลไม้ที่ปลูกต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการจึงต้องรักษาคุณภาพผลผลิต ปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ไม่จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ และระมัดระวังการตัดทุเรียนอ่อน ซึ่งนอกจากผิดกฎหมายผู้บริโภค เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังส่งผลต่อเสถียรภาพราคาและความเชื่อมั่นทุเรียนไทยในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดสถานการณ์ทุเรียนใน 3 จังหวัดภาคใต้ สามารถสอบถามได้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา โทร. 074 312 996 หรือ อีเมล [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๑ เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๖:๓๖ ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๖:๐๐ STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๖:๓๗ ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๖:๑๖ HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๖:๒๑ ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๕:๒๗ เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๕:๑๙ ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๕:๐๖ แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๕:๒๓ YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น