“สื่อสังคมออนไลน์” ขัดแย้ง – คิดต่างให้สร้างสรรค์

จันทร์ ๑๙ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๕๑
"มากกว่า 80% ของกลุ่มตัวอย่างเวลารับข่าวสารจากสื่อออนไลน์มักอ่านแล้วเชื่อเลย และส่วนใหญ่ก็พร้อมจะตัดสินคนอื่นในทันทีจากมาตรฐานถูกผิดของตนเอง มีเพียงไม่ถึง 20% ที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นก่อนจะทำการตัดสิน หรือ แสดงความคิดเห็น"

คือข้อค้นพบจากงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้ทำวิจัยในประเด็นการพิจารณาข้อขัดแย้งของคนไทยในเว็บสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสำรวจ รวบรวม อันนำไปสู่ความเข้าใจความขัดแย้งที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และข้อเท็จจริงนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่รวบรวมพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารทางอินเตอร์ของคนในไทยในปี พ.ศ.2561 ระบุว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตยาวนานถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีและเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram, Twitter รวมไปถึงเว็บไซต์อย่าง Pantip สูงถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวันซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกที่สังคมไทยจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความขัดแย้งเช่นที่เราเห็นกันจนชินตาในสื่อสังคมออนไลน์

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ ให้เหตุผลว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยอยู่ในวงล้อมของข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม และระเบียบวินัยในเว็บสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ขณะที่เหตุการณ์จำนวนมาก ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของ การฆาตกรรม การคอรัปชั่น ความเท่าเทียมทางเพศ หรือ รูปแบบการปกครองประเทศ

ทัศนคติและความความเชื่อ เหตุแห่งความขัดแย้ง

เพราะปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ คือช่องทางหลักในการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสังคม หลายครั้งเราเองไม่ได้เข้าไปในฐานะคนเสพสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ทำตัวในฐานะผู้ตัดสินในสนามสังคมออนไลน์นั้นด้วยข้อคิดเห็น คำวิจารณ์ในพื้นที่ comment กันอย่างสนุกปาก ความเสรีโดยไม่ต้องมีตัวตนที่ชัดเจนในสื่อออนไลน์หลายเกือบทุกครั้งจึงนำมาซึ่ง "สงครามน้ำลาย" ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และการใส่ร้ายป้ายสีกันไปมาได้ในทุกหัวข้อสนทนา เลยเถิดไปจนถึงการด่าทอกันมากกว่าจะเป็นการแสดงออกทางความคิดบนฐานของเหตุผล

"จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการคิดเห็นไม่ตรงกัน กระทั่งนำไปสู่การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ตลอดเวลา" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ระบุ พร้อมเสริมว่า

"การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนมาจากความเชื่อทางด้านจริยศาสตร์และญาณวิทยาของตนเอง โดยความเชื่อทาง จริยศาสตร์ คือ ความเชื่อเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินเชิงคุณค่า มาตรฐานความดี การกระทำที่ดี และ ความเชื่อทางญาณวิทยา คือ ความเชื่อเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินความรู้ เกณฑ์การตัดสินแหล่งที่มาของความรู้ และเกณฑ์การตัดสินเหตุอันควรให้เชื่อของความรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งสองส่วนนี้ส่งผลต่อการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งทั้งนี้อาจบวกกับลักษณะของสังคมออนไลน์ที่หลายแห่งเป็น Anonymous Society คือไม่มีการบ่งบอกได้ว่าแต่ละบุคคลเป็นใคร จึงอาจทำให้ความขัดแย้งทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยค่อนข้างรุนแรง เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นเชิงตัดสิน เราจะเห็นพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับมาตรฐานความดี-ชั่ว ของแต่ละคนต่างกันไป และหากเกิดความขัดแย้ง แต่ละคนใช้อะไรในการสนับสนุนความคิดของตัวเอง เช่น คำบอกเล่าของผู้อื่น ประสบการณ์ตรง หรือ ความรู้อันเป็นตำรา ซึ่งแต่ละคนก็จะให้ลำดับความสำคัญของส่วนนี้ต่างกัน"

เปิดใจ รู้ตัว เข้าใจ หนทางสู่การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์

ถึงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์คงไม่ต่างอะไรกับสภากาแฟแถวบ้านที่สมาชิกต่างมาสนทนา วิจารณ์ข่าวสารที่ได้รู้มา หนึ่งบทบาทที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตต่างสวมอยู่โดยอาจไม่รู้ตัวก็คือการเป็น "ลูกขุนออนไลน์" ชี้ถูกผิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเมามัน แต่วิธีการ และการถกเถียง และนำไปสู่การตัดสินอย่างสร้างสรรค์ ไม่นำไปสู่กระบวนการ "ล่าแม่มด" ดังปรากฏในโลกออนไลน์ คือ "การเปิดใจ" ที่จะยอมรับความต่างทางความคิดของผู้อื่น และ "การตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อของตนเอง" จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีสติ ไม่กลายเป็นเหล่าลูกขุนออนไลน์ที่ชี้ผู้อื่นถูกผิดด้วยอีโก้ซึ่งมักคิดว่าตัวเองถูกเสมอ มั่นใจและเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่

"สังคมโซเชียลจัดเป็นแหล่งความรู้ที่ดีแหล่งหนึ่ง หลายคนได้ความรู้ใหม่จากพื้นที่นี้ ทุกประเด็นที่เกิดการถกเถียงได้ถือเป็นเรื่องดี แต่นั่นต้องขึ้นอยู่บนฐานความรู้ที่ถูกต้องและแย้งกันด้วยข้อมูล หากมองกันอย่างเปิดตาและเปิดใจ จะเห็นว่าการถกเถียงบนโลกออนไลน์คล้ายแผ่นงานศิลปะที่ทำให้เรามองเห็นแถบสีของความคิดความต่างของแต่ละบุคคล การมองเห็นตัวเองว่ามีพื้นฐานความเชื่อที่ทำให้แสดงความคิดบนโลกออนไลน์อย่างไร พื้นฐานความเชื่อนั้นมีความต่างจากคนอื่นด้วยเหตุใด อาจช่วยลดอีโก้ของตัวเองให้น้อยลง และเปิดรับความเห็นต่างได้มากขึ้น"

"เพราะการถกเถียงจะนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดที่จะเป็นประโยชน์ให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งลดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนไทยด้วยกันเอง และเป็นแนวทางที่ช่วยให้คนไทยสามารถตั้งรับกับสภาพสังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและมีความแตกต่างขัดแย้งทางความเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?