บจธ. ชู ความสำเร็จวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ ต้นแบบโมเดลบริหารจัดการที่ดินครบวงจร

พุธ ๒๕ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๓:๒๑
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. เผยการให้ความช่วยเหลือจัดหาที่ดินทำกินกับเกษตรกรผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และต้องการหาที่ดินประกอบอาชีพเกษตร เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ 65 ครัวเรือน เกินเป้าหมาย ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่พบกลุ่มสมาชิกเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ของคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินและผู้บริหาร บจธ. นำโดย ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา ประธานกรรมการบริหาร บจธ. ในพื้นที่เป้าหมายชองชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 7 บ้านใหม่กือนา ตำบลริมกก อ. เมือง จังหวัดเชียงราย ห่างจากสนามบินแม่ฟ้าหลวง ประมาณ 7 กม. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ของ บจธ. ในรูปแบบของโฉนดชุมชนหรือโฉนดรวม โดยจะมีการจัดสรรแบ่งแปลงตามความต้องการให้ทำกินร่วมกันรวมเนื้อที่ประมาณ 69 ไร่

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์" นี้เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกบางส่วนของสหกรณ์เคหะสถานล้านนาเชียงราย จำนวน 65 ครัวเรือน โดยมี นายจรัส บำรุงแคว้น เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ สมาชิกสามารถ สร้างความเข้มแข็งในการออมเงินกันเองภายในกลุ่ม จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้น และเคยได้รับความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัย โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งปัจจุบันยังขาดที่ดินทำกิน และได้นำเสนอโครงการเข้ามายัง บจธ. เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2562 เพื่อขอรับการสนับสนุนความช่วยเหลือ ต้องการมีที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้านเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน สมาชิกมีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกพืชผักปลอดสารหรือพืชผักเกษตรอินทรีย์ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิ ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย ผักกุ๋ยฉ่าย ถั่วฟักยาว ผักบุ้ง เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงปลา เป็นต้น และยังแบ่งพื้นที่ส่วนกลางของกลุ่มไว้ประมาณ 5 ไร่ สำหรับใช้เป็นพื้นที่เป็นที่ทำการของวิสาหกิจฯ ถนน และสาธารณูปโภค โดยสมาชิกเกษตรกรจะทยอยผ่อนชำระกับ บจธ. ในระยะเวลา 30 ปี

"โครงการที่บ้านเวียงกือนา ตำบลริมกก แห่งนี้ มีความก้าวหน้าไปกว่า 90% แล้ว เป็นไปตามเป้าหมายการช่วยเหลือให้เกษตรกรและผู้ยากจนที่เป็นผู้ไม่มีที่ดิน ได้สามารถถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม สัมฤทธิ์ผลความสำเร็จเป็นโครงการแรกของโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรของ บจธ. ที่ขณะนี้เหลืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560" นายกุลพัชรกล่าว

ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น นอกจากสามารถช่วยเหลือเกษตรกรยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองตามภาระกิจและวัตถุประสงค์ของ บจธ. ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเหมาะสมแล้ว สัมฤทธิ์ผลในด้านการเกิดเป็น "นวัตกรรมใหม่" ในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน (Innovation Land Management) ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินครบวงจรอีกด้วย คือ สามารถใช้หลักเกณฑ์แบบใหม่ทางการเงิน ที่สามารถนำทรัพย์สินที่ดินของคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ หรือทำประโยชน์ไม่เต็มที่ มาให้เกษตรกรสามารถถือครองที่ดินและเป็นของตนเองได้ในระยะยาว และสามารถบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อสร้าง ความเข้มแข็ง ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ ตามแนวทางพระราชดำริ เศรษฐกิจแบบพอเพียง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้

นายกุลพัชร เปิดเผยอีกว่า การดำเนินการให้ความช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรกลุ่มนี้ที่ผ่านมา บจธ. ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 2 ครั้งหลังจากที่เสนอโครงการเข้ามา เพื่อทำการสำรวจความพร้อมของที่ดินในการทำการเกษตรกรรม วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ตลอดจนความเหมาะสมของที่ดินเพื่อเกษตรกรรม บริเวณที่ดินโดยรอบมีความเหมาะสม แก่การทำการเกษตร รวมถึงเรื่องน้ำสำหรับใช้เพาะปลูก และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จากการวิเคราะห์พื้นที่โดยรวมแล้ว พบว่าที่ดินนี้ มีความสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูก และการคมนาคมขนส่งสะดวกอยู่ห่างจากสนามบินตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร อีกทั้ง บจธ. ได้ประสานกับตลาดกลางทางการเกษตรรายใหญ่ในจังหวัดเชียงรายที่กำลังจะเปิดบริการในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ ให้เกษตรกรในกลุ่มได้สามารถนำสินค้าการเกษตรของตนเข้ามาจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ได้

โมเดลโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรนี้ เป็น 1 ใน 4 ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บจธ. ดำเนินการ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ดินที่ได้รับอย่างเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร โดยมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เริ่มต้นที่เกษตรกรจะต้องมี การรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีรายชื่อและ จำนวนสมาชิกที่ชัดเจน โดยจะต้องมีเป้าหมายหลักในการกระจายการถือครองที่ดิน ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน กล่าวคือ จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ในการจะใช้ประโยชน์และจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทาง บจธ. จะมีหน้าที่คอยให้ความ ช่วยเหลือดูแล ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยในเบื้องต้น บจธ. จะเป็นผู้ลงสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบ ความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน สำหรับเป็นที่ทำกิน ดูความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในการผลิตต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เพื่อจัดซื้อที่ดินต่อไป ที่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

นอกจากการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเสนอโครงการ จัดทำข้อมูลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรตามเป้าหมายแล้ว ในโมเดลนี้ยังสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และสร้างอาชีพที่ มั่นคงแก่เกษตรกรด้วยการส่งเสริมอาชีพอีกด้วย โดย บจธ. ได้ร่วมกับ 15 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการด้านสนับสนุนให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ ดูแลกระบวนการผลิตไปจนถึงจัดหาแหล่งตลาดกลางพืชผลและส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่กลุ่มเกษตรกรอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน บจธ. ได้ดำเนินโครงการไปแล้วใน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.ชุมชนใน ต. ริมกก อ. เมือง จ. เชียงราย 2. ชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี 3. ชุมชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และ 4. ชุมชนใน จ. นครศรีธรรมราช โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหมดประมาณ 150 ครัวเรือน ในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท จากงบทั้งหมดที่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บจธ. ต้องดำเนินการ ในพื้นที่ทั่วประเทศทั้งหมด 200 ล้านบาท

สำหรับทั้ง 4 โครงการที่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ในวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 400 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำรอง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ เชียงใหม่ และ ลำพูน 2. โครงการต้นแบบการบริหารจัดการธนาคารที่ดินแบบครบวงจรใน 4 พื้นที่ 3. โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกร และผู้ยากจน 4. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายภาครัฐ และยังมีอีก 1 โมเดล คือ โครงการตลาดกลางที่ดิน ซึ่งทั้งหมด 5 โมเดลนี้เป็นโมเดลที่ บจธ. ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องนับจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภารกิจที่ บจธ. ต้องดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชกฤษฏีกาในการจัดตั้ง บจธ. เมื่อปี 2554 มีดังนี้ กระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม จัดตั้งธนาคารที่ดิน รวบรวมข้อมูลที่ดินและเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน กับเจ้าของที่ดินที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ หรือเจ้าของที่ดินที่ยังไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่ ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินของรัฐ และดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดินของเอกชน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เพื่อให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง สนับสนุนให้ชุมชนมีการบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน ทั้งที่ดินทำกินและที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th หรือส่งอีเมลล์ที่ [email protected] หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610 มือถือ 09 2659 1689

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๐๔ กลุ่ม KTIS จับมือ Marubeni ประสานความร่วมมือในการขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน (REC)
๑๔:๒๐ ผู้ถือหุ้น TIDLOR อนุมัติจ่ายปันผลเป็นหุ้น-เงินสด อัตรา 27 หุ้นสามัญ : 1 หุ้นปันผล พร้อมจ่ายเงินสด 0.2698 บ./หุ้น เตรียมขึ้น XD วันที่ 24 เม.ย. 67 รับทรัพย์ 14
๑๔:๔๙ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย
๑๔:๑๐ สสวท. เติมความรู้คู่กีฬากับ เคมีในสระว่ายน้ำ
๑๓:๐๓ ฉุดไม่อยู่! ซีรีส์ Kiseki ฤดูปาฏิหาริย์ กระแสแรง ขึ้น TOP3 บน Viu ตอกย้ำความฮอต
๑๔:๒๔ TM บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุพระราม 9
๑๔:๑๒ ผถห. JR อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น พร้อมโชว์ Backlog แน่น 9,243 ลบ.
๑๔:๕๐ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ
๑๔:๓๔ ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท
๑๔:๑๔ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ