ดัชนีก่อการร้ายโลกปี 2562 เผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงครึ่งหนึ่งในช่วง 4 ปีหลัง แต่จำนวนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมีเพิ่มมากขึ้น

พุธ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๒:๐๑
- จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลง 15.2% ในปี 2561 แตะที่ 15,952 คนทั่วโลก นับว่าลดลงเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน

- กลุ่มตาลีบันเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก แทนที่กลุ่ม ISIL โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่มตาลีบันเพิ่มขึ้น 71% คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมดทั่วโลกในปี 2561

- ในปี 2561 คะแนนการก่อการร้ายดีขึ้นใน 98 ประเทศ และแย่ลงใน 40 ประเทศ นับว่าประเทศที่คะแนนดีขึ้นเมื่อเทียบรายปีมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547

- การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของทั่วโลก โดย 71 ประเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งคนในปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2545 และมากกว่าปี 2560 อยู่ 4 ประเทศ

- จำนวนผู้เสียชีวิตในยุโรปลดลง 70% โดยยุโรปตะวันตกเกิดการก่อการร้ายน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555

- การก่อการร้ายโดยกลุ่มขวาจัดเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกันในยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 52% ในปี 2561 และแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในปี 2562 โดยมีผู้เสียชีวิต 77 คน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562

- ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ลดลง 38% จากปีก่อนหน้า

ดัชนีก่อการร้ายโลก (Global Terrorism Index: GTI) ประจำปี 2562 เผยให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายปรับตัวลดลงเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน หลังจากพุ่งสูงสุดในปี 2557 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 52% จาก 33,555 คนในปี 2557 เป็น 15,952 คนในปี 2561 ทั้งนี้ สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) ได้จัดทำดัชนีก่อการร้ายโลกเป็นปีที่ 7 เพื่อให้ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับแนวโน้มการก่อการร้ายทั่วโลก

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงกว่า 15% ในปี 2561 โดยลดลงมากที่สุดในอิรักและโซมาเลีย อันเป็นผลมาจากความพ่ายแพ้ของกลุ่ม ISIL ในอิรัก และการที่กองทัพอเมริกาโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มอัล-ชาบับ ในโซมาเลีย นอกจากนี้ คะแนนการก่อการร้ายยังดีขึ้นใน 98 ประเทศ และแย่ลงใน 40 ประเทศ นับว่าประเทศที่คะแนนดีขึ้นเมื่อเทียบรายปีมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547

อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงของการก่อการร้ายจะลดลง แต่ความแพร่หลายของการก่อการร้ายกลับเพิ่มมากขึ้น โดย 71 ประเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2545

- ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นจาก 67 ประเทศ เป็น 71 ประเทศในปี 2561

- อัฟกานิสถานมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อนหน้า และอัฟกานิสถานก็รั้งท้ายดัชนี

- นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 ที่อิรักไม่ใช่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด

- นอกเหนือจากอัฟกานิสถาน มีอีกสามประเทศที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2561 ได้แก่ ไนจีเรีย มาลี และโมซัมบิก โดยแต่ละประเทศมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกิน 100 คน

- เอเชียใต้ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่อเมริกากลางและแคริบเบียนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สตีฟ คิลเลเลีย ประธานบริหารสถาบัน IEP กล่าวว่า "ผลวิจัยของ IEP พบว่า ความขัดแย้งและการก่อการร้ายที่สนับสนุนโดยรัฐเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อการร้าย ในปี 2561 การเสียชีวิตจากการก่อการร้ายกว่า 95% เกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว และเมื่อรวมประเทศที่มีการก่อการร้ายทางการเมืองในระดับสูง ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 99% ทั้งนี้ ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด* ทุกประเทศมีความขัดแย้งรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่แล้ว"

สำหรับอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และโอเชียเนีย การก่อการร้ายทางการเมืองโดยกลุ่มขวาจัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดห้าปี และมี 19 ประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการโจมตีของกลุ่มขวาจัดในภูมิภาคเหล่านี้พุ่งขึ้นถึง 320% ในช่วงปี 2557-2561 และแนวโน้มดังกล่าวยังดำเนินต่อไปในปี 2562 โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัด 77 คน ทั้งนี้ ในปี 2561 ไม่มีผู้ก่อการรายใดออกมาอ้างว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย จึงทำให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยป้องกันการโจมตีได้ยาก

การก่อการร้ายในอัฟกานิสถานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งในซีเรียและอิรักที่บรรเทาเบาบางลง ส่งผลให้กลุ่มตาลีบันขึ้นแท่นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก แทนที่กลุ่ม ISIL ในปี 2561 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่มตาลีบันเพิ่มขึ้น 71% เป็น 6,103 คน คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมดทั่วโลก ในทางตรงกันข้าม จำนวนผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่ม ISIL ลดลง 70% จาก 4,350 คนในปี 2560 เป็น 1,328 คนในปี 2561

อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่มในเครือ ISIL มีการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่ม IS ในโคราซาน ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดอันดับ 4 ในโลกในปี 2561 โดยสังหารผู้คนกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ ในปี 2561 กลุ่มก่อการร้ายที่สังหารผู้คนมากกว่า 100 คน มีจำนวนทั้งสิ้น 13 กลุ่ม

ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายมากขึ้น แม้ยังมีสัดส่วนน้อยมากก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงห้าปีหลัง โดยการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายหญิงเพิ่มขึ้น 450% ในช่วงปี 2556-2561 ส่วนการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายชายลดลง 47% ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มโบโกฮารามโจมตีโดยใช้มือระเบิดฆ่าตัวตายหญิงมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของการโจมตีโดยใช้มือระเบิดฆ่าตัวตายหญิงทั้งหมดตลอดห้าปี

ในยุโรป จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน จากกว่า 200 คนในปี 2560 เป็น 62 คนในปี 2561 และมีการโจมตีเพียงสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คนขึ้นไป

คุณคิลเลเลียอธิบายว่า "ความพ่ายแพ้ของกลุ่ม ISIL ในซีเรียและอิรัก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยุโรปตะวันตกมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 และไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยฝีมือของกลุ่ม ISIL เลยแม้แต่คนเดียวในปี 2561 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังคงอ่อนไหว โดยหลายพื้นที่ในซีเรียยังคงมีความขัดแย้ง และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่เข้าข้าง ISIL ยังเคลื่อนไหวอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีในยุโรปอีก"

การก่อการร้ายที่ลดลงทำให้ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย โดยคิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ลดลง 38% จากปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เกิดจากการก่อการร้ายมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เกิดจากความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ฆาตกรรม ความขัดแย้งทางอาวุธ และปฏิบัติการทางทหาร โดยมีต้นทุนราว 14.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะสูงกว่านี้มาก เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รวมผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อธุรกิจ การลงทุน และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและต่อต้านการก่อการร้าย

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

ดูรายงานฉบับเต็มและแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟได้ที่ www.visionofhumanity.org

กรุณาติดตาม @GlobPeaceIndex #TerrorismIndex

กรุณากดไลก์ www.facebook.com/globalpeaceindex

* 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด

1) อัฟกานิสถาน 2) อิรัก 3) ไนจีเรีย 4) ซีเรีย 5) ปากีสถาน 6) โซมาเลีย 7) อินเดีย 8) เยเมน 9) ฟิลิปปินส์ 10) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ดัชนีก่อการร้ายโลก

ดัชนีก่อการร้ายโลก (GTI) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวโน้มและรูปแบบของการก่อการร้ายทั่วโลกตลอด 18 ปีที่ผ่านมา รายงานนี้จัดอันดับ 163 ประเทศ (99.7% ของประชากรโลก) ตามผลกระทบที่ได้รับจากการก่อการร้าย โดยพิจารณาจากจำนวนครั้งที่เกิดการก่อการร้าย จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ และความเสียหายของทรัพย์สิน

ฐานข้อมูลก่อการร้ายโลก

ดัชนีก่อการร้ายโลกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลก่อการร้ายโลก (GTD) ของกลุ่มความร่วมมือเพื่อศึกษาการก่อการร้ายและตอบสนองต่อการก่อการร้าย (START) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ โดยเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลกที่ครอบคลุมที่สุด

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองชั้นนำระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์สันติภาพและคุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาดัชนีระดับชาติและระดับโลกหลายดัชนี เช่น ดัชนีสันติภาพโลก เพื่อคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความรุนแรง และทำความเข้าใจผลเชิงบวกของสันติภาพ

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4