นักวิจัยด้านน้ำ ลงพื้นที่ชี้แจง แผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC

ศุกร์ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๗:๐๔
เมื่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง แน่นอนว่าจำนวนประชากรในพื้นที่ EEC ย่อมขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ขณะที่น้ำมีจำกัด ทำให้มีความกังวลว่า อาจเกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางหรือมาตรการเข้ามารองรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ EEC ในอนาคต

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัด "การประชุมชี้แจงแผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC" โดยมี รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC นำคณะวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ เข้าชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ"แผนการดำเนินงานวิจัยการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC" พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี มาเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี ภายในงานได้รับความสนใจจากส่วนราชการต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้บริหารและผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ EEC เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เพราะทรัพยากร "น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญต่อเป้าหมายในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทั้งด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ การพาณิชย์และเกษตร รวมทั้งการขยายตัวและการเกิดใหม่ของเมืองภายใต้พื้นที่ EEC นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร โดยเฉพาะที่จังหวัดชลบุรี ทำให้ความต้องการน้ำในทุกภาคส่วนจะเพิ่มมากขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในอนาคตได้ ซึ่งไม่เพียงภาคอุตสาหกรรม แต่จากข้อมูลภาคเกษตรในจังหวัดชลบุรี ที่มีอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าไร่ จากเดิม 2 ล้านไร่ แม้สัดส่วนจะลดลงไปแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องใช้น้ำอยู่ ดังนั้นหากเป้าหมายที่ต้องการลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15 นอกจากจะพิจารณาจากผู้ใช้น้ำกลุ่มเดิมแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงผู้ใช้น้ำกลุ่มใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย

"ที่ผ่านมาสถานการณ์น้ำของจังหวัดชลบุรี แม้จะไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำมากนัก ยกเว้นที่เกาะสีชังเนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ แต่เมื่อโครงการ EEC เสร็จสมบูรณ์ ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่แหล่งน้ำต้นทุนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่กักเก็บได้เพียง 99 ล้านลูกบาศก์เมตรจากความจุทั้งหมด 200 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียงครึ่งหนึ่งของความจุอ่าง ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่EEC จำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตน้ำ และลดการน้ำใช้ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการชี้แจงโครงการครั้งแรกของคณะวิจัยที่เริ่มดำเนินการ จึงหวังอย่างยิ่งว่า แผนงานวิจัยพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC จะช่วยพัฒนากลไกลเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการน้ำอัจฉริยะ และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้หลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle

และหวังให้การประชุมครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่เป็นจะประโยชน์ รวมทั้งเกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการและนักวิจัยตลอดระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น และสร้างความมั่นคงของทรัพยากรในพื้นที่ EEC ซึ่งน้ำถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป"

รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กล่าวว่า "แผนงานวิจัยดังกล่าว อยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก , สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องของแหล่งน้ำ ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงานวิจัย คือ แผนงานวิจัยการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ,แผนงานวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน และแผนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการน้ำ"

สำหรับประเด็นการชี้แจงแผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้กับส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 1.ภาพรวมของแผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนน้ำในพื้นที่ EEC การจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำ และมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.แผนการจัดการน้ำด้านอุปสงค์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมและเมือง โดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ 3.แผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการ 4.แผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม และ 5.แผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำแบบใช้น้ำบำบัดแล้ว

รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า "สำหรับการดำเนินการวิจัยเราจะมองทุกมิติ ตั้งแต่ปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นกับน้ำ การทบทวนน้ำต้นทุน สภาพน้ำ โซนผังน้ำ ความต้องการน้ำใน 5 ปี 10 ปี 15 ปีและในอีก 20 ปี เมื่อ EEC เสร็จสมบูรณ์แล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งคณะวิจัยจะเข้ามาศึกษาอย่างละเอียด รวมถึงเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงถ้าเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องแก้อย่างไร จะต้องทำอย่างไร ทางออกของแต่ละภาคส่วนต้องมีอะไรบ้าง หรือเรื่องที่เคยพูดกันว่าจะต้องเอาน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ เข้ามา หรือ การออกมาตรการประหยัดน้ำกับทุกภาคส่วน รวมทั้งการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ที่ให้น้ำและผู้ใช้น้ำใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC เท่านั้น แต่ยังรวมถึงจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง เนื่องจากเป้าหมายของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานฯ คือ การใช้น้ำในอีก 10 ปี จะต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15 โดยการใช้น้ำนั้นจะต้องบูรณาการการใช้น้ำร่วมกันระหว่างแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม

เนื่องจากภายใต้แผนงานฯ มีโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการใช้น้ำอยู่หลายโครงการ และจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาติดตาม ตรวจสอบ การลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุปโภคบริโภค ภาคบริการและภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของไม้ผลซึ่งถือว่าเป็นพืชที่มีการใช้น้ำค่อนข้างมาก โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ ในปีแรกจะได้ข้อมูลชัดเจนว่าน้ำเป็นอย่างไร ปีที่สองถ้ามีการเอาน้ำทุกแหล่งมาใช้จะเกิดอะไรขึ้น และในปีที่สามจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นคู่มือการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อความยั่งยืน ลดความขัดแย้งทางสังคมในอนาคต ลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนน้ำ ไม่ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้