หนุน “เมืองแม่กลอง” สู่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ที่ยั่งยืน ผ่านงานวิจัยท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำ

จันทร์ ๐๒ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๓๓
จังหวัดสมุทรสงคราม หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามเมืองแม่กลอง เป็นเมืองที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในประเทศไทย ด้วยพื้นที่ของจังหวัดที่มีเพียง 416.7 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที มีทั้งหมด 36 ตำบล 284 หมู่บ้าน พื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเล มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ผ่านอำเภอบางคนที อำเภออัมพวา ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม แต่มีลำคลองมากกว่า 360 ลำคลอง และมีลำประโดงกว่า 2,000 สายกระจายทั่วพื้นที่ ทำให้จังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อการผลิตพืชผักผลไม้และอาหารทะเล อีกทั้งยังมีการรวมตัวของกลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นด้านน้ำที่ได้ดำเนินการจัดการน้ำในชุมชนของตนเองโดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการจัดการความแตกต่างของน้ำในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดสมุทรสงครามมีความหลากหลายด้านน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม หรือที่เรียกว่าระบบนิเวศแบบ"สามน้ำ" นำมาสู่ถอดบทเรียนในเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ"การจัดการน้ำแบบบูรณาการบนความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรม" จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ณ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ มูลนิธิชัยพัฒนา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงาน จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สมุทรสงครามเป็นเมืองที่ถูกออกแบบให้เผชิญกับน้ำ เมื่อน้ำเข้ามาจะกระจายไปอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นเมืองแม่กลองจึงมีความหลากหลายทางระบบนิเวศทางด้านการจัดการน้ำ การยึดภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้เราชนะการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะน้ำต้องมีที่อยู่เหมือนกับคนที่ต้องการมีที่อยู่ แต่ปัจจุบันระบบนิเวศเริ่มเปลี่ยนไปทำให้การจัดการน้ำมีปัญหา และกำลังสำคัญที่สุดในการจัดการน้ำ ก็คือคนในชุมชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบนบริบทของตัวเอง เป็นที่มาให้คนแม่กลองต้องรักษาลำน้ำ ลำคลอง ลำปะโดงและรักษาตัวแม่น้ำไว้ ผ่านกรณีศึกษาจากตัวแทนงานวิจัยด้านการจัดการน้ำทั้ง 3 พื้นที่ ประกอบด้วย ตำบลแพรกหนามแดง ตำบลบางสะแก และตำบลคลองโคน

นายปัญญา โตกทอง แกนนำนักวิจัยชุมชนจากตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา ตัวแทนพื้นที่น้ำกร่อยจุดกำเนิดของปัญหาน้ำและการเข้ามาของงานวิจัยท้องถิ่น กล่าวว่า เดิมตำบลแพรกหนามแดงมีปัญหาเรื่องข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างพื้นที่น้ำจืดและน้ำกร่อย ซึ่งปัญหานี้ถูกสะสมมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมการทำวิจัย ช่วยให้ตัวเองมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหามากขึ้น งานวิจัยช่วยหล่อหลอมให้เรามองว่าคนไม่ใช่ศัตรู แต่ให้มองว่าปัญหาต่างหากที่เป็นศัตรู กระบวนการวิจัยทำให้รู้วิธีการเข้าหาชุมชนในเชิงบวก และสกัดความรู้ออกมา ทำให้เห็นความเป็นแพรกหนามแดง

"นำมาสู่การถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อออกแบบประตูระบายน้ำ มีลักษณะคล้ายกับหน้าต่างเรือนไทยสมัยก่อน(บานหับเหย) กลไกของประตูนี้ เวลาน้ำมา น้ำจะไหลเอง เวลาน้ำทะเลขึ้นประตูจะปิดไม่ให้น้ำทะเลเข้า ประตูสามารถปิด-เปิดเองได้โดยอัตโนมัติตามระบบนิเวศน้ำขึ้น น้ำลง ปัจจุบันประตูน้ำบานหับเหย ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่แพรกหนามแดงในการจัดการน้ำให้กับคนในชุมชน ทั้งนากุ้งและนาข้าว ข้อขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตปัจจุบันลดน้อยลง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการวิจัยของอีกหลาย ๆ พื้นที่ในการจัดการน้ำในชุมชนด้วย"

ด้าน นายมนัส บุญพยุง กำนันตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที แกนนำนักวิจัยชุมชน ตัวแทนพื้นที่น้ำจืด เล่าถึงปัญหาในพื้นที่ของตนเองที่ประสบก่อนเจองานวิจัยว่า "ตำบลบางสะแกเป็นมีลักษณะพื้นที่คล้ายกับเกาะขนาดเล็กที่เกิดจากการเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำแม่กลอง ด้วยพื้นที่ตำบลบางสะแก ห่างจากปากแม่น้ำแม่กลองประมาณ 20 กิโลเมตร จึงได้รับอิทธิพลการขึ้น-ลงของน้ำทะเลตามธรรมชาติ ประกอบกับระบบสายน้ำหรือคลองในพื้นที่มีความซับซ้อน มีทั้งคลองใหญ่ คลองย่อย คลองซอย หรือลำประโดง ปัญหาที่พบตามมาคือคลูคลองมีวัชพืชค่อนข้างมาก เกิดการสะสมของตะกอนดินเลน ทำให้น้ำไม่ไหลเวียน จนเกิดเป็นกิจกรรมลงแขกลงคลองขึ้น เพื่อใช้ในการพัฒนาคลองในพื้นที่ ก่อนหน้าทำแค่กิจกรรมลงแขกลงคลองอย่างเดียว แต่ไม่ได้สนใจถึงความสำคัญหรือประวัติของพื้นที่ จนมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับ สกสว. ทำให้ได้ใช้เครื่องมือการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นที่มาของการร่วมมือในการใช้เครื่องมือสำรวจพิกัดเพื่อกำหนดจุด ความลึก และความยาวของลำปะโดงที่มีอยู่จำนวนมา เพื่อนำไปสู่การออกเทศบัญญัติในการดูแลลำปะโดงต่อไป"

ขณะที่ นายวรเดช เขียวเจริญ แกนนำนักวิจัยชุมชนตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ตัวแทนจากพื้นที่น้ำเค็ม เล่าถึงบริบทของพื้นที่ว่า ตำบลคลองโคนเป็นพื้นที่ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ซึ่งอยู่ปลายสุดของแม่น้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่รองรับตะกอนเลนของแม่น้ำแม่กลองจึงเป็นแหล่งที่รวมสารอินทรีย์ได้ดีที่สุด และเป็นพื้นที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงหอยแครง กระทั่งเจอปัญหาแพลงก์ตอนบลูมจากกรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2555 เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงได้รับผลกระทบอย่างหนักหอยแครงตายยกฟาร์ม จึงได้รวมกลุ่มกันทำงานวิจัยเพื่อหาสาเหตุการตายของหอยแครง

"งานวิจัยทำให้ตนได้รู้สาเหตุการตายของหอยแครงว่า เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเลี้ยงและการตายของหอยแครงโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในรอบวันที่แตกต่างกัน ปริมาณตะกอนสารแขวนลอยในน้ำทะเล และปริมาณไนโตรเจนสูงเกินปกติ ส่วนปัจจัยคุณภาพดินที่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงหอยแครง คือ ดินมีการสะสมของสารอินทรีย์ในปริมาณมาก ส่งผลให้หอยแครงอ่อนแอ และตายเป็นจำนวนมาก หลังถอดบทเรียนทำให้ชาวบ้านเริ่มตื่นตัว และเริ่มรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง เลิกมองปัญหาไกลตัวและมองว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้หอยตาย"

นายชิษนุวัฒน์ ในฐานะพี่เลี้ยงนักวิจัยที่คลุกคลีกับพื้นที่ตัวอย่างทั้ง 3 พื้นที่กล่าวสรุปว่า จากกรณีตัวอย่างของ 3 พื้นที่ ทำให้เห็นถึงวิธีการจัดการเรื่องน้ำที่แตกต่างกันออกไปแม้อยู่ในจังหวัดเดียวกันก็ตาม โดยคนในพื้นที่ต้องอาศัยความเข้าใจบริบทพื้นที่ของตัวเองเป็นหลัก นอกจากระบบนิเวศที่แตกต่างกันของ 3 พื้นที่แล้ว กระบวนการทำงานของแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันด้วย กรณีพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงและตำบลบางสะแก เป็นการทำงานโดยใช้รูปแบบของงานวิจัยท้องถิ่นลงมาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ในส่วนของพื้นที่ตำบลคลองโคนกับปัญหาการตายของหอยแครงค่อนข้างมีความซับซ้อน ชาวบ้านไม่สามารถแก้ปัญหาได้แค่ฝ่ายเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการเข้ามาทำงานร่วมกันโดยใช้งานวิจัยเป็นตัวกลางในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังได้วางแผนที่จะขยายผลงานวิจัยในพื้นที่คลองโคนออกไปในพื้นที่ใกล้เคียง และสร้างอาชีพใหม่อีก 4-5 อาชีพในอนาคตโดยผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ และนักวิชาการ

นายสุรชัย นำนาผล ผู้อำนวยการ โครงการชลประทานสมุทรสงคราม ยอมรับว่า "เดิมเรามีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ เพราะสมุทรสงครามเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนในเรื่องของพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม แต่หน้าที่เราไม่ได้บริหารแค่ 3 น้ำ แต่ต้องบริหารคุณภาพน้ำด้วย ทำให้ที่ผ่านมา 10 กว่าปี การจัดการเรื่องน้ำให้กับชุมชนจึงยังทำได้ไม่ดีพอ เพราะเราไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการมีส่วนร่วมมากนัก จนได้มาเข้าร่วมกับทาง สกสว. และได้ทำงานร่วมกับชุมชนแพรกหนามแดงในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมผ่านงานวิจัยที่แพรกหนามแดง จากวันนั้นถึงวันนี้บานหับเหยถูกซ่อนอยู่ในประตูระบายน้ำทุกบานของโครงการชลประทานสมุทรสงคราม ถือเป็นนวัตกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างกรมชลประทานและชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้ คือนวัตกรรมบานระบายน้ำและการมีส่วนร่วมของกรมชลประทานและภาคประชาชน ล่าสุด เตรียมนำผลงานดังกล่าวเสนอไปที่องค์การสหประชาชาหรือยูเอ็น เพื่อพิจารณาต่อไป"

ในขณะที่ ผศ.ดร. ชูพักตร์ สุทธิสา ผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนบูรณาการ ววน. เพื่อชุมชนและพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า"การทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น อาจดูเหมือนเป็นงานธรรมดา ๆ แต่จริงๆ แล้วมีผลกระทบในเชิงการพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก การลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเรามักเห็นเป็นประเด็นเชิงนโยบาย แต่เครื่องมือที่จะสร้างการมีส่วนร่วมหรือนำไปสู่ความยั่งยืนได้ คืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จากในอดีตจะเห็นการพัฒนาโดยใช้เงินลงไปในพื้นที่ แต่ไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมของข้าราชการกับคนในชุมชน ที่สำคัญกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไม่เพียงสร้างการมีส่วนร่วม แต่ยังสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของ หรือ ownership คือสิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืน และสร้างเครือข่ายเยาวชน เครือข่ายของคนรุ่นใหม่ ที่จะสืบสานการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ให้ยั่งยืนต่อไป

"งานวิจัยท้องถิ่นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นตัวอย่างการทำงานวิจัยที่ทำให้เห็นชัดในเรื่องต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน (Localizing SDGs) แม้แต่สภาพัฒน์ยังต้องการให้ที่นี่เป็นโมเดล เนื่องจากภาครัฐกำลังจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ ให้มีรูปแบบการทำแผนพัฒนาพื้นที่ที่ตอบสนองกับคนในพื้นที่แล้วนำแผนไปสู่การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ซึ่งที่แม่กลองนี้คือรูปแบบที่น่าสนใจอย่างมาก ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคองค์กรท้องถิ่นที่เข้มแข็งเข้ามาประสานการทำงานร่วมกัน

ขณะเดียวกันงานวิจัยท้องถิ่นยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทเพื่อความยั่งยืน ทึ่ไม่ได้มองแค่เพียงตัวเลขเงินอย่างเดียว แต่รวมถึงฐานทุนในพื้นที่ทั้งคน ทรัพยากร ภูมิปัญญา และทุนทางสังคม เอามาใช้บูรณาการกัน ซึ่งในกระบวนวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์บริบทพื้นที่ถูกนำมาบูรณาการร่วมกัน ฉะนั้นเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นองคาพยพที่นำไปสู่การขับเคลื่อนความอยู่ดีมีสุขของคนในท้องถิ่น และนำไปสู่จุดเล็ก ๆ ของการปฏิบัติในระดับพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรเมืองอย่างยั่งยืน หรือ Localizing SDGs"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?