3 อุทยานแห่งชาติผนึกกำลังสร้างการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

อังคาร ๐๓ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๔๖
3 อุทยานแห่งชาติผนึกกำลังการทำงาน ชี้บริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ตามปัจจัยในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่าง อุทยานฯ คลองแก้ว เรื่องการจัดการช้างป่า ระบุมีช้างป่าออกนอกพื้นที่ 84 ครั้ง แต่ความเสียหายด้านทรัพย์สินเท่ากับศูนย์ ไร้ผู้บาดเจ็บอุทยานฯน้ำตกพลิ้ว รับมือกับภัยพิบัติอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ยกอุทยานฯเขาคิชฌกูฎ รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดต่อสภาพแวดล้อม

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กลุ่มป่าตะวันออกที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเนื้อที่ 1,889,995 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และตราด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวล้วนเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งทางด้านพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรและประชาชนในท้องที่ โดยอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในกลุ่มป่าตะวันออก ล้วนมีความโดดเด่นที่หลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ จึงมีการบริหารจัดการที่แตกต่างเช่นเดียวกัน แต่ทุกพื้นที่ได้เน้นการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการแก้ไข พัฒนา และนำไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ดร.ทรงธรรม กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว อ.บ่อไร่ จ.ตราด มีเนื้อที่ 123,700 ไร่ มีน้ำตกที่สวยงามถึง 10 แห่ง เช่น น้ำตกคลองแก้ว น้ำตกทับกะได น้ำตกธารหินดาษ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแล้วในพื้นที่ยังมีช้างป่าประมาณ 40-50 ตัว ทางอุทยานฯจึงต้องมีการจัดการช้างป่าอย่างเป็นระบบ โดยมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ โดยเป็นชุดสนับสนุนการทำงาน กรณีมีการประสานงานขอกำลังจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติฯ มีการแบ่งกำลังตรวจสอบพื้นที่ตามหมู่บ้าน และทางอุทยานฯ มีจุดเฝ้าระวังช้างป่ากรณีรับแจ้งข่าวจะแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่และจิตอาสาออกไปเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน และป้องกันชาวบ้านทำร้ายช้างที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ และหากเกิดความเสียหายเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบความเสียหายในช่วงเช้าของวัดถัดมา เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และเจ้าของพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าในให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย สำหรับสถิติจำนวนช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ตั้งแต่เดือนต.ค. 61 - ก.ย. 62 รวมทั้งสิ้น 84 ครั้ง มีพืชผลทางการเกษตรเสียหาย 8 ครั้ง ไม่มีทรัพย์สินเสียหาย และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด เนื่องจากทางอุทยานฯน้ำตกคลองแก้ว มีการบริหารจัดการเรื่องช้างป่าเป็นอย่างดี

ดร.ทรงธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของการรับมือภัยพิบัติในพื้นที่อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องยกให้อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จ.จันทบุรี มีเนื้อที่ 84,062.50 ไร่ เพราะมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ สำหรับปฏิบัติงานเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งการกู้ภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว มีการบรูณาการร่วมกับหน่วยงานจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่

ดร.ทรงธรรม อธิบายว่า โดยก่อนเกิดเหตุ อุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว จะวิเคราะห์และจัดการกับปัจจัยที่เป็นสาเหตุ และผลกระทบของภัยพิบัติเพื่อลดความรุนแรงที่จะส่งผลต่อบริเวณโดยรวม จากนั้นต้องเตรียมความพร้อมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนหรือชุมชน และหน่วยงานมีองค์ความรู้ ขีดความสามารถ และทักษะต่างๆ พร้อมที่จะรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติ และระหว่างที่เกิดภัยพิบัติจะมีการจัดการอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเผชิญเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดความสูญเสียที่จะมีต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทรัพยากร สภาพแวดล้อม สังคม และประเทศให้มีผลกระทบน้อยที่สุด จากนั้นจะมีการฟื้นฟูทั้งระบบสาธารณูปโภค การดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชนที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ดร.ทรงธรรม กล่าวว่า ในส่วนของการจัดการเรื่องท่องเที่ยวอย่างอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี มีเนื้อที่ 36,444.05 ไร่ ซึ่งอุทยานแห่งนี้ขึ้นชื่อถึงงานประเพณีมนัสการรอยพระพุทธบาทพลวง (เขาคิชฌกูฎ) ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี โดยทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญจำนวนมาก อุทยานฯ จึงมีการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและเริ่มปรับเปลี่ยนรูปการการจัดงานตั้งแต่ปี 2560 อาทิ กำหนดให้นำดอกดาวเรืองขึ้นสักการบูชาบริเวณลานพระสิวลี ห้ามขายของและห้ามประกอบอาหารบนเขาพระบาท โดยผู้แสวงบุญสามารถนำอาหาร และน้ำดื่มขึ้นไปได้ ห้ามพักค้างแรมบนเขาพระบาท รวมทั้งประชาสัมพันธ์ โครงการ ขยะคืนถิ่น ส่วนเรื่องความสะอาด เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมขนย้ายขยะและนำขึ้นรถลงมาคัดแยกด้านล่าง

ดร.ทรงธรรม ระบุถึงความปลอดภัยในการสัญจรขึ้น-ลงเขาคิชฌกูฎ ว่า รถบริการทุกคันจะต้องได้รับอนุญาต จากทางอุทยานฯ และวิ่งต่อเดียวถึงที่หมาย มีการตรวจสภาพและทำประกันภัยรถยนต์ พนักงานขับรถต้องตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทั้งก่อนและระหว่างงานประเพณีฯ และพนักงานขับรถบริการต้องทำเบียนประวัติและบัตรประจำตัว นอกจากนี้การดูแลเรื่องความปลอดภัยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะประจำตามจุดต่างๆ และมีจุดปฐมพยาบาลบนเขา 4 จุด บริเวณลานพระสิวลี เนินพระเมตตา ลานพระพุทธบาท และน้ำซับ จะเห็นได้ว่า อุทยานฯเขาคิชฌกูฎมีการบริหารจัดการด้านท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ และป้องกัน ลดผลกระทบที่เกิดต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ทางด้านที่ตั้ง อุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่ง ยังเป็นปราการสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ไม่ให้กระจายเป็นวงกว้างออกไป แต่หากจะช่วยผลักดันให้ช้างป่ากลับเข้าสู่ใจกลางป่าตะวันออกได้ และที่สำคัญคือจะเป็นพื้นที่รองรับการพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของกลุ่มผู้ลงทุนที่จะเข้ามาตามโครงการ EEC อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4