แปรรูปถุงหูหิ้ว – ลดขยะพลาสติก และสร้างรายได้ผู้สูงอายุ

ศุกร์ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๔:๒๑
นอกจากการรณรงค์เรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติกถุงหูหิ้ว เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกของเมืองไทยแล้ว การแปรรูปถุงหูหิ้วซึ่งรีไซเคิลได้ยาก ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามีราคา โดยกลุ่มผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบของการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่น่าสนใจ
แปรรูปถุงหูหิ้ว ลดขยะพลาสติก และสร้างรายได้ผู้สูงอายุ

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า "การคัดแยกขยะ" เป็นการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่การทำให้ขยะไร้ค่าเหล่ารี้มี "มูลค่าที่จับต้องได้" ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะ "ขยะพลาสติก" ที่ปัจจุบันมีราคาและมีการรับซื้อเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

สำหรับ หมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 ม.3 ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ก็เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันจัดตั้งธนาคารขยะให้เป็นจุดรับซื้อขยะจากคนในชุมชน เพื่อรวบรวมขยะพลาสติก และขยะมีค่าอื่นๆ ขายให้กับคนที่มารับซื้อ ซึ่งแม้จะช่วยลดปริมาณขยะที่เทศบาลเข้ามาจัดเก็บได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีพลาสติกหลายชนิด เช่น ขวด PET สีต่างๆ ซองขนม ซองกาแฟ โดยเฉพาะถุงหูหิ้วที่ได้จากร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรด รวมถึงขยะพลาสติกประเภทฟิล์มต่างๆ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงใส่แกง ถุงใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงขนมคบเคี้ยวต่าง ๆ รวมถึงซองกาแฟ ฯลฯ จะเป็นพลาสติกที่รถซาเล้งไม่สนใจ เพราะนอกจากจะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และบดสลายได้ยากแล้ว ส่วนหนึ่งยังมีการเติมสีลงในเนื้อพลาสติกเพื่อการพิมพ์ลายให้สวยงาม น่าใช้ หรือบางชนิดก็มีการลามิเนตด้วยฟิล์มอะลูมิเนียมลงไปด้วย ทำให้กลุ่มพ่อค้าที่รับซื้อขยะไม่สนใจรับซื้อ เนื่องจากต้องนำไปคัดแยกส่วนที่โรงงานรีไซเคิลพลาสติกไม่ต้องการออกไปก่อน

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัย "โครงการแผ่นลามิเนตจากขยะถุงพลาสติก" ที่มี ผศ. วรุณศิริ จักรบุตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นหัวหน้าโครงการ โดย ผศ. วรุณศิริ กล่าวว่าจากการประชุมร่วมกับชาวบ้านในช่วงต้นของการทำวิจัยนั้น ทางกลุ่มที่รับซื้อขยะจากคนในชุมชนเขาต้องการวิธีที่จะทำให้ถุงหูหิ้วเหล่านี้กลายเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม ซึ่งวิธีการที่เราเสนอให้กับชุมชนคือ การนำมาทำเป็นแผ่นลามิเนต ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด ทำให้วัตถุประสงค์สำคัญงานวิจัยนี้คือ การพัฒนาเทคนิคการผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้วที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม พร้อมทั้งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแผ่นลามิเนตเป็นวัตถุดิบหลัก

"ในช่วงแรกของการทำวิจัย เป็นการศึกษาคุณสมบัติของถุงหูหิ้วที่มีอยู่ในท้องตลาด จากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่สามารถอัดให้ถุงหูหิ้ว 2-5 ชั้น ผสานเป็นแผ่นลามิเนตเนื้อเดียวกันได้ง่าย ๆ พร้อมทั้งทดสอบพบว่าแผ่นลามิเนตดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงดึงแรงฉีกมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคการเคลือบแผ่นลามิเนตบนชิ้นผ้า ที่ทำให้ได้แผ่นลามิเนตที่มีลวดลายสวยงามมากยิ่งขึ้น เมื่อได้ผลการวิจัยที่ชัดเจนแล้ว ทางทีมวิจัยจึงได้จัดให้มีการอบรมการใช้เครื่องดังกล่าวให้กับคนในชุมชน กลุ่ม อสม. และผู้สูงอายุ ให้สามารถผลิตแผ่นลามิเมตจากถุงหูหิ้วได้เอง"

ส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแผ่นลามิเนตนั้น ดร.กุลวดี สังข์สนิท หนึ่งในนักวิจัยร่วม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกล่าวว่า ทีมวิจัยต้องการให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ว่างงานมีรายได้จากกิจกรรมนี้ด้วย ดังนั้นนอกจากจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ซื้อแล้ว ยังจะต้องมีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย โดยผลิตภัณพ์ที่ทำได้ตอนนี้คือ กระเป๋า แผ่นรองปูแก้ว และเสื่อปูพื้น

"เหตุผลที่ทีมวิจัยต้องการให้คนในชุมชนสามารถผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้ว เพราะอยากให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ว่างงานมีรายได้เสริมจากกิจกรรมนี้ด้วย ดังนั้นนอกทีมวิจัยจะพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่ใช้งานได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สำหรับใช้ผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้วและเศษผ้าแล้ว ทีมวิจัยยังได้ผลิต 'กระเป๋าแฟ้ม' เพื่อเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 มีการนำแผ่นลามิเนตจากถุงพลาสติกหูหิ้วไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง"

นางสาวคัทธีญา ผาคำ อายุ 58 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรีไซเคิลของชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มรีไซเคิลจะทำหน้าที่ผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงพลาสติก และส่งต่อให้สมาชิกในชุมชนรับไปผลิตเป็นกระเป๋าผ้า แล้วส่งกลับมาให้กลุ่มรีไซเคิลจำหน่ายอีกครั้ง โดยผู้ผลิตกระเป๋าจะได้รับค่าตอบแทนใบละ 5 บาท ซึ่งความสามารถในการผลิตที่กระเป๋าก็แตกต่างกันไปตามอายุ สมรรถภาพของร่างกาย และเวลาว่าง บางคนอาจผลิตได้เพียงวันละไม่กี่ใบ ขณะที่บางคนอาจผลิตกระเป๋าได้ถึง 80 ใบต่อวัน ซึ่งกระเป๋าผ้านี้มีราคาขายอยู่ที่ใบละ 40-80 บาท (ขึ้นกับขนาดและรูปแบบ) ถือเป็นการกระจายรายได้ให้คนในชุมชน โดยจุดเด่นของกระเป๋าชนิดนี้นอกจากความสวยงามของลวดลายผ้าแล้ว ยังมีความแข็งแรงและกันน้ำได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีทางเทศบาลรับไปจำหน่ายในกิจกรรมต่างๆ และเริ่มมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาสั่งทำกระเป๋าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้แล้ว โดยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาสามารถเปลี่ยนจากถุงหูหิ้วที่เป็นขยะพลาสติก มาผลิตเป็นกระเป่าผ้าได้ประมาณ 1,000 ใบ สร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว 12,000 บาท

ผศ.วรุณศิริ กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จของงานวิจัยนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่การใช้ 'ข้อมูล-ความรู้' มาแก้ไขปัญหาให้ชุมชน ทำให้ชุมชนมีทางเลือกในการจัดการขยะพลาสติกที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าการเก็บรวบรวมเพื่อขายต่อเท่านั้น โดยเฉพาะขยะประเภทถุงหรือฟิล์มพลาสติกชนิด PP และ PE ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ให้กลายเป็นของมีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นการแก้ปัญหาขยะได้อย่างตรงจุดและช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย และที่สำคัญคือช่วยสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับแนวทางการต่อยอดงานวิจัยนี้ หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า นอกจากการพัฒนาเทคนิคการผลิตแผ่นลามิเนตให้มีคุณสมบัติดีขึ้น หรือเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ผ้ากันเปื้อน เสื่อปูพื้น แล้ว ยังได้มีการหารือร่วมกับทางเทศบาลเมืองปทุมธานี เพื่อนำแนวทางของการนำขยะพลาสติกมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุและคนในชุมชนจากงานวิจัยนี้ ขยายสู่ชุมชนในโครงการบ้านเอื้ออาทร และชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดต่อไป

แปรรูปถุงหูหิ้ว ลดขยะพลาสติก และสร้างรายได้ผู้สูงอายุ แปรรูปถุงหูหิ้ว ลดขยะพลาสติก และสร้างรายได้ผู้สูงอายุ แปรรูปถุงหูหิ้ว ลดขยะพลาสติก และสร้างรายได้ผู้สูงอายุ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4