เปิดใจรุ่นพี่ 4 ชั้นปี... ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างไรในรั้ว “วิทย์ มธ.”

พฤหัส ๑๙ มีนาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๔๗
ชีวิต 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตให้น้อง ๆ ได้เข้าไปเก็บเกี่ยวช่วงเวลาอันมีค่า ทั้งความรู้และประสบการณ์ รวมถึงยังเป็นตัวกำหนดเส้นทางการทำงานในอนาคต ดังนั้น ในวันนี้ รุ่นพี่ทั้ง 4 ชั้นปี จาก “SCI-TU” หรือ “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)” จึงขอแวะมาแชร์ประสบการณ์ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตวัยนักศึกษา ในรั้ว SCI-TU แต่จะมีเรื่องราวสนุก ๆ หรือความประทับใจอย่างไรบ้างนั้น ติดตามได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้
เปิดใจรุ่นพี่ 4 ชั้นปี. ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างไรในรั้ว วิทย์ มธ.

“ถ้าชอบในวิทยาศาสตร์ และต้องการมีอิสระทางความคิด ต้อง คณะวิทย์ มธ.”

นายรุ่งวิกรัย เลิศสุวรรณ์ (ตูน) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) นักศึกษาทุนกล้ายูงทอง ดีกรีนักกีฬาฟันดาบ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองของมหาวิทยาลัย เล่าว่า เมื่อก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยครั้งแรกเหมือนเรามาเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือกิจกรรม อย่างผมเป็นนักกีฬาฟันดาบของมหาวิทยาลัยก็จะมีการซ้อมหลังเลิกเรียน ในช่วงที่ต้องหยุดเรียนไปแข่ง เพื่อน ๆ ก็จะคอยจดงานไว้ให้ ถ้าเรารู้จักแบ่งเวลาก็สามารถทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียนได้ เพราะที่นี่มีอาจารย์ช่วยปูพื้นฐาน พร้อมเทคนิคการสอนที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนั้น การปรับตัวในรั้ว SCI-TU จึงไม่ใช่เรื่องยาก

ส่วนเรื่องสังคมที่ต้องมาหาเพื่อนใหม่ ก็ทำให้ผมกล้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น เช่น กิจกรรมรับน้อง ที่ทำให้ได้รู้จักเพื่อน ๆ และรุ่นพี่มากขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมที่สนุก และสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ เพราะรุ่นพี่ให้ความสำคัญกับรุ่นน้องมาก อยู่ร่วมกันเสมือนครอบครัว ดังนั้น ถ้าน้องคนไหนมีความสนใจ หรือชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ และต้องการมีอิสระทางความคิด “คณะวิทย์ มธ.” นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยทำงานในสายวิทยาศาสตร์หรือเกี่ยวข้อง ในอนาคต

“เรียนวิทย์ เรียนยาก แต่พอได้มาลองดูแล้ว มันไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะผ่านมันไปได้”

นายสุทธินัย กล่ำสกุล (บอส) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (FIN) กรรมการนักศึกษาประจำคณะ ผู้ได้รับทุนจากกองกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เล่าว่า จากการมองเห็นโอกาสการทำงานในสายอาชีพด้านอาหาร ภายหลังจากทราบว่า SCI-TU มีการเปิดหลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ เกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร จึงตัดสินในเรียนที่นี่ ซึ่งการศึกษาในช่วงแรก จะเน้นการเรียนรายวิชาพื้นฐานของคณะวิทย์อย่าง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แคลคูลัส และสถิติ เช่นเดียวกับหลายสาขา“อย่างไรก็ตาม สำหรับน้องๆ ที่สงสัยว่าการเรียนวิทย์ยากหรือไม่นั้น อยากบอกว่า การเรียนวิทย์ เรียนยาก แต่พอได้มาลองดูแล้วไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะผ่านมันไปได้ แค่ต้องอาศัยความพยายาม อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจแล้วใช้ความพยายามนั้นอย่างคุ้มค่าหรือไม่ อย่างสาขา FIN จะมีทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติ ที่ให้เราได้ลงมือทำจริง ได้ออกไปดูงานบ่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเบาแรงเรื่องการเรียนได้ เพราะทำให้เข้าใจในเนื้อหามากขึ้น”

อีกทั้งที่ SCI-TU ยังมีทุนการศึกษาให้กับผู้ที่ทำกิจกรรม อย่างผม ได้รับทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพราะเป็นกรรมการนักศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยในการฝึกทักษะ ทั้งการประสานงานที่ค่อนข้างจำเป็นเมื่อไปทำงานจริง ความกล้าแสดงออก ได้รู้จักคนมากขึ้น และอีกสิ่งสำคัญที่ได้กลับมาคือ ครอบครัวและมิตรภาพที่ได้มาจากการผ่านงาน ผ่านปัญหาต่างๆ มาด้วยกัน มันคือประสบการณ์ที่หาได้ยากมาก แล้วผมก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกรรมการนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมมีความสุขเหมือนเจอสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง

“คณะนี้ไม่ได้มีดีแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว ยังมีประสบการณ์นอกห้องเรียนอีกเพียบ”

นางสาวชมภูไพร ชมภูแสง (ดีน่า) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ หนึ่งในนักกิจกรรม 'จิตอาสา’ ตัวยง เล่าว่า จากมัธยมฯ สู่รั้วมหาวิทยาลัย ต้องใช้การปรับตัวเรื่องการเรียนที่แตกต่างกัน ทั้งวิชาเรียนที่เพิ่มความเข้มข้นและเจาะลึกเนื้อหาขึ้นแต่ละชั้นปี ได้เรียนวิชาภาคเกี่ยวกับสิ่งทอ ทั้งการเรียนบรรยาย และทำแลป ซึ่งเป็นอะไรที่สนุกและชอบมาก เพราะทำให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น และคณะนี้ไม่ได้มีดีแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากนอกห้องเรียนอีกด้วย มีทั้งกิจกรรมต่างคณะ ที่เปิดโอกาสให้ได้รู้จักกับคนในคณะเดียวกันและเพื่อนต่างคณะ มีการอบรมเสริมทักษะหรือ workshop ของแต่ละสาขา รวมถึงมี Service Learning ให้เลือกทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม ที่ทางมหาวิทยาลัยปลูกฝังเรื่องนี้ใน DNA ของนักศึกษาทุกคน

ส่วนตัวชื่นชอบการไปค่ายอาสามาก ๆ เพราะได้ไปในที่ที่ไม่เคยไป ได้เปิดโลกใหม่ จากตอนแรกไปค่ายอาสาของคณะเพราะเพื่อนสาขาชวน กลายเป็นจุดเริ่มต้นความประทับใจให้เราเริ่มไปค่ายอื่น ๆ ทั้งค่ายวิทยาอาสาของคณะ ค่ายอาสาของชุมนุมค่ายอาสาพัฒนาชนบท เป็นต้น โดยมีครั้งหนึ่งมีโอกาสไปร่วมกิจกรรมค่าย 11 วัน แล้วไม่รู้จักใครในค่ายนั้นมาก่อน แต่สิ่งที่ได้กลับมามันคุ้มค่ามาก ๆ ได้รู้จักกับทุกคนในค่ายจากการทำงานร่วมกัน จนได้เพื่อนใหม่ ได้รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งแต่ละค่ายที่ไปก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ได้เหมือนกันคือความสุขและความสนุกที่หาจากที่ไหนไม่ได้ทั้งนี้ ตลอดเวลา 3 ปีที่ SCI-TU ได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจจำนวนมาก มีอาจารย์ที่ดีและให้คำปรึกษาอยู่เสมอ มีเพื่อนที่น่ารัก ช่วยกันเรียน และชวนทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งดี ๆ ที่เราสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ

ตลอด 4 ปีในรั้ว SCI-TU มีส่วนสำคัญมากกับการทำงานจริงในอนาคต

นายยุทธนา บุญปาลิต (โอ๊ต) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักศึกษาทุนแลกเปลี่ยนวิจัยในต่างประเทศกับสถาบัน UCSD และ AIST และทำโครงการวิจัยร่วม 4 สถาบันนานาชาติเรื่อง “ระบบการติดตามสถานะระบบ IoT Edge แบบเรียลไทม์” เล่าว่า ตลอด 4 ปีของการศึกษาในรั้ว SCI-TU ถือเป็นความทรงจำดี ๆ ที่ต่อให้จบไปอีกกี่ปีผมก็ไม่มีทางลืมได้ลง เพราะที่นี่ได้มอบทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่หลายคน ได้ลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ได้เจออาจารย์ที่เก่งและคอยช่วยสนับสนุนทุก ๆ อย่าง ทำให้ผมได้มีโอกาสเป็นนักศึกษาทุนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศถึง 2 แห่ง และได้ทำวิจัยร่วมกับ 4 สถาบัน ตลอดจนได้ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยทางโครงการได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักให้ อีกทั้งยังมีอาจารย์ช่วยสนับสนุนเต็มที่ ด้วยการหาทุนของคณะวิทยาศาสตร์สำหรับไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับโปรเจกต์วิจัยที่ได้ทำ คือ “ระบบตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ขอบนอกในระบบ IoT” ซึ่งได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียน SCI-TU มาใช้ในโปรเจกต์นี้เยอะมาก เช่น Network Programming สถิติ และยังช่วยให้ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้น จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง และอย่างสุดท้ายที่ส่วนตัวคิดว่าสำคัญที่สุดคือ ภาษาอังกฤษ เพราะนักวิจัยทุกท่านล้วนเป็นชาวต่างชาติ ทำให้มีความกล้าในการสื่อสารภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าภาษามีส่วนสำคัญมากกับการทำงานจริงในอนาคต

อยากฝากให้น้อง ๆ เลือกเรียนในสิ่งที่รักและสนุกกับมันจริง ๆ ถ้าเมื่อไรที่น้องเข้ามาอยู่ในรั้ว SCI-TU แล้วก็อยากให้ลองเปิดใจทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกไปพบปะผู้คนหรือหาเพื่อนที่ไว้ใจได้สักคน หากน้องท้อ หรือเกรดไม่เป็นอย่างที่หวัง ลองคิดซะว่านักรบที่เก่งกาจ ก็ย่อมมีแผลบ้างเป็นธรรมดา เพราะชีวิตมหาวิทยาลัยก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของชีวิตที่เราเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด สู้ ๆ นะครับ

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อในหลักสูตรต่าง ๆ ของ SCI-TU สามารถศึกษาข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทร. 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat หรือเว็บไซต์ https://sci.tu.ac.th

เปิดใจรุ่นพี่ 4 ชั้นปี. ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างไรในรั้ว วิทย์ มธ. เปิดใจรุ่นพี่ 4 ชั้นปี. ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างไรในรั้ว วิทย์ มธ. เปิดใจรุ่นพี่ 4 ชั้นปี. ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างไรในรั้ว วิทย์ มธ.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4