มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันที่การล็อคดาวน์และการเว้นระยะทางสังคม เป็นเพียงทางออกสำหรับการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ความร่วมมือ การแบ่งปันความรู้ และทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยทั่วโลกเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก บริติช เคานซิล เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า วัฒนธรรมและการศึกษาเป็นสิ่งที่เชื่อมผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต เรายินดีที่ได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและสหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการทุนวิจัยนิวตัน (Newton Fund) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยในปีนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดรับสมัครทุนวิจัยความร่วมมือไทย – สหราชอาณาจักร มูลค่ารวมกว่า 49 ล้านบาท เพื่อสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างหน่วยงานที่ทำวิจัย และขยายผลงานวิจัยให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
มร.แอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุนวิจัยนิวตันในปี 2563 นี้จะถูกแบ่งเป็น 2 โครงการย่อยได้แก่ ทุนวิจัยโครงการ Institutional Links หรือทุนวิจัยเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน สถาบันการศึกษา ในประเทศไทยและใน สหราชอาณาจักร ภายใต้หัวข้อวิจัยที่เกี่ยวกับ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) หัวข้อในกลุ่มความท้าทายระดับโลก ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ สังคมผู้สูงวัย สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมไปถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่เป็นปัญหาในระดับโลกขณะนี้ และอีกหนึ่งทุนคือ ทุนวิจัยโครงการ Newton Fund Impact Scheme หรือทุนวิจัยสำหรับต่อยอดงานวิจัยสู่ผลงานนวัตกรรมภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ซึ่งเป็นทุนวิจัยใหม่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยผ่านการร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยจะเน้นงานวิจัยที่มีหัวข้อเกี่ยวกับกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (10 S-curve) และงานวิจัยที่เกี่ยวกับนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและวัคซีนของไวรัสโควิด-19 ผู้สมัครขอรับทุนนี้จะต้องเป็นผู้ที่เคยได้รับทุนนิวตันมาก่อน ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มนักวิจัยที่เข้าข่ายถึง 287 โปรเจกต์ด้วยกัน
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ทุนวิจัยนิวตันถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีของเหล่านักวิจัยไทย ที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ ขยายเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างไทย – สหราชอาณาจักร ยกระดับงานวิจัยไปสู่มาตรฐานนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมใช้กันใช้ทักษะที่ตนถนัด เพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน ซึ่งนอกจากทุนวิจัยนิวตันจะช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยต่าง ๆ กลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงแล้ว ทุนวิจัยนิวตัน ยังถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักวิจัยในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศที่จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม
ด้าน ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การสนับสนุนทุนวิจัยนิวตัน ฟันด์ ปี 2563 เป็นปีแรกที่ วช. สนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับสหราชอาณาจักร เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มนักวิจัย เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนา ยกระดับ และดึงเอาศักยภาพของตัวงานวิจัยออกมาสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก ซึ่งทุนวิจัยนิวตันเองเป็นหนึ่งในสะพานที่เชื่อมระหว่างบุคลากรผู้ทำงานวิจัยของประเทศไทย และสหราชอาณาจักรเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้เป็นผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความท้าทายระดับประเทศและระดับโลก ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ “Thailand 4.0” (BCG Model) ปัญญาประดิษฐ์ สังคมผู้สูงวัย สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ทุน Newton Fund Impact Scheme เองจะเป็นการสนับสนุน และเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มนักวิจัยสามารถผลักดันงานวิจัยออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมที่จับต้องได้โดยเร็ว เราจึงเลือกเจาะจงที่กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เป็นทิศทางของประเทศไทย รวมไปถึงขยายการครอบคลุมพิเศษให้รวมงานวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากอนามัย N95 ชุดตรวจวินิจฉัยโรค ยาและวีคซีนของโควิด-19 ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในประเทศไทยเอง และทั่วโลก
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเพื่อขอรับทุนได้ตั้งแต่วันนี้ – 12 มิถุนายน 2563 (สำหรับทุน Institutional Links) และวันนี้ – 15 มิถุนายน 2563 (สำหรับทุน Newton Fund Impact Scheme) ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือติดต่อฝ่ายงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ บริติช เคานซิล โทร. 089-900-3574 และอีเมล [email protected]
เกี่ยวกับทุนวิจัยนิวตัน
โครงการกองทุนนิวตันเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคมโดยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมและการทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ ทุนวิจัย Newton Fund เป็นทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากสหราชอาณาจักรมูลค่ากว่า 735,000,000 ปอนด์ โดยเริ่มโครงการครั้งแรกในปี 2557 และมีแผนดำเนินโครงการถึงปี พ.ศ. 2564
บริติช เคานซิลประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ Newton Fund โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยชั้นนำในประเทศไทย รวมถึงสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะพันธมิตรสำคัญที่สนับสนุนงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา โครงการ Institutional Links และ Impact Scheme
เกี่ยวกับบริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราทำงานกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษา และภาคประชาสังคม ในปีที่ผ่านมาเราสื่อสารโดยตรงกับผู้คนมากกว่า 80 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์กับผู้คนกว่า 791 ล้านคน เราสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่เราทำงานด้วยผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร เราได้รับเงินสนับสนุนร้อยละสิบห้าโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร