ม.มหิดล ร่วมวิจัยค้นพบเชื้อไวรัส Covid-19 สายตระกูลไทย

อังคาร ๒๖ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๑๔
โดยปกติ สิ่งมีชีวิตมีรหัสพันธุกรรมเพื่อใช้ส่งต่อให้ลูกหลาน ไวรัสก็เช่นกัน ซึ่งรหัสพันธุกรรมทั้งหมดเรียกว่า “จีโนม”

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยในไทย และต่างประเทศ ถอดรหัสทางจีโนมมาศึกษาพันธุกรรมการแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัส Covid-19 ในนาม กลุ่ม COVID-19 Network Investigations Alliance หรือ ทีมสืบสวนจีโนม CONI โดยมีหลักวิธีการทำงาน คือ การแยก และเพิ่มปริมาณสายจีโนมของไวรัสออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาถอดรหัสแยกกัน แล้วใช้ supercomputer มาประกอบกันเป็นจีโนม และหาความสัมพันธ์ของไวรัสในไทย กับสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งใช้สืบต้นตอการแพร่กระจายเชื้อเมื่อได้รับการติดต่อมา

ก่อนหน้านี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนรรถ ชูขจร จาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยในทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้แสดงข้อคิดเห็นในวารสารชั้นนำของโลก Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS ว่าวงการแพทย์ควรระมัดระวังการใช้วิธีแบ่งเชื้อโควิดแบบ A-B-C ที่มักได้รับการกล่าวถึงในสื่อต่างๆ และเน้นถึงความสำคัญของการใช้วิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาติดตามการแพร่กระจายของไวรัส

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนรรถ ชูขจร รายงานการค้นพบเชื้อไวรัส Covid-19 สายตระกูลไทย ชื่อ A/Thai-1 ในฐานข้อมูล medRxiv ซึ่งเชื้อนี้น่าจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงในไทยตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนมกราคม ปี 2563 และค่อยๆ ปรับตัวแพร่กระจายในไทย โดยเชื้อสายตระกูลนี้มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีน Spike ที่ใช้ก่อโรคและมีเชื้อไวรัสที่สูญเสียโปรตีน ORF7a ที่น่าจะมีหน้าที่ใช้ต่อสู้กับระบบป้องกันไวรัสของมนุษย์ โดยทางทีมสืบสวนจีโนม CONI เน้นว่าข้อมูลสายตระกูลจีโนมไวรัสในปัจจุบันมีเพื่อการสืบสวนโรคเท่านั้น ความแตกต่างในการก่อโรคของเชื้อสายตระกูลต่างๆ ต้องมาจากข้อมูลการทดลองในห้องปฏิบัติการเป็นหลัก

ปัจจุบัน ทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมของเชื้อไวรัส Covid-19 มากกว่า 100 ตัวอย่าง โดยพัฒนาวิธีถอดรหัสไวรัสจากผู้ป่วยที่ใช้เวลาเพียง 4 วัน และทำงานแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีทีมมาวิเคราะห์ผลแบบ Big Data ด้วยระบบ Supercomputer ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มาสืบสวนโรค ทำให้ได้ทราบที่มาของไวรัส และรู้ว่าควรติดตามกำจัดอย่างไร โดยตั้งเป้าหมาย คือ ส่งเสริมการใช้ข้อมูลจีโนมมากำจัดโรค Covid-19

ล่าสุด ทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้จัดทำวีดิทัศน์เพื่อให้ข้อมูลกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 โดยเน้นไปที่การนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ทางทีมค้นพบมาอธิบาย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดความตื่นตระหนกจากการตีความผลที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการสื่อสารที่ทำอย่างต่อเนื่อง (ติดตามชมวีดิทัศน์ได้ที่ https://coni.team/public/conistory)

“วิกฤต Covid-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ งานที่ออกมาเป็นผลของความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนด้านการสื่อสารกับประชาชน โดยเรายังคงต้องผลักดัน และประคองความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไว้ เพราะไม่มีทางเลยที่เราจะสู้กับ Covid-19 โดยไม่ร่วมมือกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนรรถ ชูขจร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดความคืบหน้าของทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้จาก https://coni.team/

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4