ม.มหิดล ทดสอบเปิดห้องเรียนเด็กปฐมวัย พร้อมตรวจโควิด และถอดบทเรียนออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน

พุธ ๑๗ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๕:๑๑
เด็กในช่วงวัยต่ำกว่า 6 ขวบ ถือเป็นช่วงวัยสำคัญที่สุดของพัฒนาการชีวิตในทุกด้าน "ศูนย์เด็กเล็ก" เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการควบคุมให้มีคุณภาพและปลอดโรค
ม.มหิดล ทดสอบเปิดห้องเรียนเด็กปฐมวัย พร้อมตรวจโควิด และถอดบทเรียนออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่มีกว่า 48,000 แห่งทั่วประเทศต้องวางแผนเตรียมการป้องกันและควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรค ซึ่งรวมถึง ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้จัดให้มีการทดสอบเปิดห้องเรียนก่อนเปิดเทอม 1 เดือนเพื่อการประเมินความเสี่ยง และจะมีการขยายผลถอดบทเรียนสู่การจัดประชุมวิชาการออนไลน์ "เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้นแบบศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย New Normal" ผ่านแอพพลิเคชัน "Zoom" จำนวน 5 รอบ ในวันที่ 23, 25, 26, 28 และ 30 มิถุนายน 2563 เวลา 09.30 – 15.45 น.

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่วัยเตาะแตะ 1 ขวบ 3 เดือน ไปจนถึงวัยอนุบาลอายุ 6 ขวบ โดยมีกระบวนการเฝ้าระวังติดตาม ประเมินผลความก้าวหน้าของพัฒนาการ และการเจริญเติบโตเด็ก ทั้งทางด้านสุขภาพ พฤติกรรมการกิน การนอน การเล่น ฯลฯ โดยกุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ มีการจัดการดูแล และการทำกิจกรรมแบบ Inclusive care

ที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มีการทดลองให้เด็กจำนวน 30 คนเข้าห้องเรียนต้นแบบที่มีการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้เด็กใส่หน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างแบบ Group Distancing ซึ่งแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน ในพื้นที่ละ 5 ตารางเมตร ให้อยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง เพื่อจำกัดขอบเขต และลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด และติดเชื้อ

นอกจากนี้ ยังจัดให้เด็กและครูแต่งกายปลอดเชื้อ ทำความสะอาดของเล่นทุกครั้งหลังสัมผัส ให้เด็กนอนกลางวันห่างกัน 1 เมตร กินอาหารแบ่งตามกลุ่ม รวมทั้งมีระบบให้ผู้ปกครองได้เช็คอินผ่านการสแกนเพื่อตรวจสอบการรับ-ส่งบุตร-หลานที่ศูนย์ฯ และให้ข้อมูลเฝ้าระวังการติดเชื้อรายวัน

ตลอดจนได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ตรวจ Covid-19 ให้กับเด็กเล็กของศูนย์ฯ ครั้งแรกในช่วงทดลอง และจะตรวจซ้ำอีกในทุกสิ้นเดือน ด้วยเทคนิค RT-PCR จากการเก็บตัวอย่างจากน้ำลายที่ทำได้ง่ายกว่า ราคาไม่สูงมาก และให้ผลใกล้เคียงการเก็บตัวอย่างทางโพรงจมูกซึ่งทำได้ยากและมีราคาแพงกว่ามาก

นายแพทย์สมคนึง ตัณฑ์วรกุล ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์สุขภาพแนวหน้ารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Rama Frontier) ที่นำทีมเข้าตรวจ Covid-19 ได้เปิดเผยถึงผลจากการตรวจครั้งแรกว่าไม่พบการติดเชื้อในทุกราย ทั้งเด็กๆ ครู เจ้าหน้าที่ แม่บ้าน และแม่ครัว ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเฝ้าระวังที่ "การ์ดไม่ตก" เป็นการเริ่มต้นที่ดีของดำเนินชีวิตปกติใหม่ (New normal)

ซึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่เป็นวันแรกของการเปิดภาคเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดให้เด็กของศูนย์ฯ ทั้งหมด 220 คน ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กในช่วงวัยเดียวกันของ "โครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต" ซึ่งเป็นเด็กที่ได้รับบาดแผลทางใจจากการถูกกระทำและทอดทิ้งจากครอบครัว อีกจำนวน 12 คน

โดยจากการประเมินรวมกลุ่มทำกิจกรรมแบบ Inclusive care ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มาจาก "โครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต" มีอารมณ์ จิตใจ และพัฒนาการที่ดีขึ้น ดีกว่าเมื่อก่อนที่เด็กจะต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาสัปดาห์ละครึ่งชั่วโมงแต่เพียงทางเดียว โดย "โครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต" เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มากว่า 1 ปี และจะขยายผลเพื่อช่วยเหลือเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบที่ได้รับบาดแผลทางใจในระดับมหภาคต่อไป

ไม่ว่าการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกสอง (Second wave) จะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ไม่ควรประมาท แม้การเฝ้าระวังจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็คาดว่าสามารถทำให้ผู้ปกครองและประชาชนยอมรับความเสี่ยงในจุดสมดุลได้ ซึ่งผลจากการทดสอบจะนำไปต่อยอดจัดประชุมวิชาการออนไลน์ "เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้นแบบศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย New Normal" ผ่านแอพพลิเคชัน "Zoom" จำนวน 5 รอบ ในวันที่ 23, 25, 26, 28 และ 30 มิถุนายน 2563 เวลา 09.30 – 15.45 น. โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้ง 5 รอบได้ที่ www.cf.mahidol.ac.th เฟสบุ๊ค : NICFD Mahidol

ม.มหิดล ทดสอบเปิดห้องเรียนเด็กปฐมวัย พร้อมตรวจโควิด และถอดบทเรียนออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest