กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเตรียมพืชและระบบน้ำรับมือฝนทิ้งช่วง

อังคาร ๒๓ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๐๙:๒๖
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเตรียมพืชและระบบน้ำรับมือฝนทิ้งช่วง ชี้ชาวนาควรเลื่อนปลูกข้าวนาปีไปกลางเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อรอฝน
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเตรียมพืชและระบบน้ำรับมือฝนทิ้งช่วง

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จะมีฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกรที่ต้องการจะเพาะปลูกช่วงนี้ ให้เลื่อนเวลาการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อนโดยให้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งปริมาณฝนจะตกใกล้เคียงค่าปกติ และควรปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวเป็นการปลูกข้าวแบบหว่านแห้ง (หว่านสำรวย) ซึ่งเป็นการหว่านในสภาพดินแห้งเหมาะสมกับพื้นที่นอกเขตชลประทาน เมื่อหว่านเมล็ดข้าวลงแปลงแล้วรอฝนตกลงมาเมล็ดข้าวจะงอกจากนั้นก็ดูแลรักษาต่อไปจนเก็บเกี่ยว สำหรับพืชอื่นๆ ให้เกษตรกรรักษาความชื้นในแปลงปลูกพืชและลดการคายน้ำของพืช ซึ่งสามารถทำได้ง่ายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การรดน้ำให้กับพืชในช่วงเช้าและเย็นเพื่อลดการระเหยของน้ำ และใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นคลุมแปลงหรือหน้าดิน เช่น ฟางข้าง ใบไม้ หรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นในดิน เป็นต้น

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรควรเลือกใช้ระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชนิดพืช เช่น ไม้ผล ให้ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ ซึ่งเป็นระบบให้น้ำแบบฉีดฝอยขนาดเล็กเป็นการให้น้ำแก่พืชเป็นวงบริเวณรากพืช โดยมีการควบคุมปริมาณน้ำตามความต้องการของพืช น้ำจะถูกพ่นออกจากหัวฉีดฝอย การให้น้ำแบบนี้จึงไม่มีการสูญเสียน้ำระหว่างการส่งน้ำ การสูญเสียน้ำที่ไหลเลยเขตรากพืช หรือไหลนองไปตามผิวดินก็มีน้อย นอกจากนั้นยังสามารถใส่ปุ๋ย หรือสารเคมีลงไปในน้ำระหว่างการให้น้ำพร้อมกันได้

สำหรับ พืชไร่และพืชผัก แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งเป็นการให้น้ำแก่พืชผ่านระบบท่อและปล่อยน้ำออกทางหัวน้ำหยด ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช น้ำจะหยดซึมลงมาบริเวณรากช้าๆ เพื่อที่จะรักษาความชื้นของดินบริเวณรากพืชให้อยู่ในระดับที่รากพืชสามารถดูดไปใช้ได้ง่าย ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

อย่างไรก็ตาม การสร้างแหล่งน้ำในไร่นา หรือ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง โดยการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการเกษตร ให้มีแหล่งน้ำในไร่นา เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรผสมผสาน ก็สามารถช่วยลดผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิต ตลอดจนลดผลกระทบต่อรายได้จากการทำการเกษตร กรณีผลผลิตเสียหายจากการปลูกพืชชนิดเดียว และจะช่วยทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืนได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4