สังคมสูงวัยกับวิกฤตโควิด-19

พุธ ๒๔ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๔:๔๐
ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤตโคว-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายประเทศนั้นอาจดูเสมือนว่าจะผ่านจุดสูงสุดของวิกฤตในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อไปแล้ว แต่หลายประเทศ อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศบราซิล ประเทศรัสเซีย และ ประเทศอินเดีย จำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกมาก ซึ่งก็หมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในระดับโลกอีกครั้งเป็นรอบที่สอง หรือแม้กระทั่ง รอบที่สามก็เป็นได้ ในบทความนี้ คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในมิติของสังคมสูงวัยซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว อาทิเช่น ประเทศญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศไทย
สังคมสูงวัยกับวิกฤตโควิด-19

อะไรคือสังคมสูงวัย? สังคมสูงวัยหมายถึง สังคมที่สัดส่วนประชากรสูงวัย (บางประเทศใช้อายุ 60 ปีขึ้นไป ในขณะที่บางประเทศใช้ อายุ 65 ปีขึ้นไป) ต่อประชากรทั้งหมดอยู่ในระดับสูง สังคมสูงวัยเป็นสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อผลักดันให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง สวนกระแสกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงวัย นอกจากนี้สังคมสูงวัย ยังหมายถึงสังคมที่ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องพึ่งระบบประกันสังคมของรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของรัฐบาลอีกด้วย

สำหรับหลายประเทศและรวมถึงประเทศไทย ปัญหาสังคมสูงวัยนั้นมีมาก่อนวิกฤตโควิด-19 มาได้สักระยะแล้ว แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดนั้นเปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งให้ปัญหาสังคมสูงวัยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกในหลายประเด็น ดังนั้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ในมิติของสังคมสูงวัยจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถออกมาตรการในการรองรับและบรรเทาผลกระทบที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการแรกคือ ผลกระทบต่อตลาดแรงงานและความสามารถในการผลิตในส่วนของแรงงานสูงวัย เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงานและความสามารถในการผลิต โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ อาชีพจำนวนมากไม่สามารถประยุกต์ใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรูปแบบการทำงานของอาชีพนั้นจำเป็นต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อให้งานออกมาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่ดี แม้ว่าตอนนี้หลายประเทศได้เริ่มลดระดับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมไปบ้างแล้ว แต่กลุ่มแรงงานสูงวัยก็มักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปทำงาน ทั้งจากความสมัครใจของผู้สูงวัยเอง หรือจากนโยบายของรัฐ (อาทิเช่น กรณีที่ผู้ว่ารัฐนิวยอร์ก ได้แนะนำให้เริ่มต้นการเปิดเมืองโดยเริ่มจากแรงงานวัยหนุ่มสาวก่อน) เพราะกลุ่ม

แรงงานสูงวัยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงกว่าประชากรในวัยอื่น ดังนั้น แรงงานสูงวัยอาจจะต้องรอจนถึงวันที่การผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายถึงจะสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้งก็เป็นได้ และหากอ้างอิงข้อมูลจาก The Census Population Survey ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าในปี พ.ศ. 2562 แรงงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปีนั้นมีมากกว่า 36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ และ กว่า 90 เปอร์เซ็นของการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มาจากการจ้างงานในกลุ่มประชากรสูงวัยทั้งนั้น ดังนั้นประชากรสูงวัยที่ยังมีสุขภาพดี มีการศึกษาดี และมีประสิทธิผลในการทำงานสูง ก็ยังถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ งานวิจัยชั้นนำทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นยังพบว่า การตกงานเป็นเวลานานของผู้สูงวัยจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “Unemployment Scarring” หรือ ปรากฏการณ์แผลเป็นจากการตกงาน ซึ่งเกิดจากการที่แรงงานสูงวัยได้สูญเสียทักษะที่สำคัญในการทำงานไปเนื่องจากการตกงานเป็นระยะเวลานาน และอาจจะทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกเลย ทั้งนี้ ก่อนวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยกลับเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพื่อลดผลกระทบจากการขาดรายได้ของผู้สูงวัยและลดภาระของรัฐสำหรับค่าใช้จ่ายจากสวัสดิการต่างๆของผู้สูงวัย แต่ทว่าการแยกผู้สูงวัยออกจากภาคเศรษฐกิจนั้นจะทำให้มาตรการส่งเสริมผู้สูงวัยในตลาดแรงงานไม่สามารถทำได้

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการที่สองคือ ปัญหาหนี้สาธารณะจากการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยในระดับที่สูงก็มักจะมีค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยในระดับที่สูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการรับมือวิกฤตโควิด-19 นั้นอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยในระดับสูงจะมีอัตราการเสียชีวิตหรือการป่วยในขั้นวิกฤตของประชากรจากโรคโควิด-19 ในระดับที่สูงมากเช่นกัน อาทิเช่น ประเทศอิตาลี ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัย สูงถึงร้อยละ 23 และ ประเทศสเปน ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัย สูงถึงร้อยละ 19.6 ประเทศเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตของประชาการจากโรคโควิด-19 ในระดับที่สูงมาก โดยอ้างอิงรายงานของ เว็บไซต์ worldometers ซึ่งรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ประเทศอิตาลีและประเทศสเปนมีอัตราการเสียชีวิตของประชาการจากโรคโควิด-19 ในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาชีวิตพวกเค้าไว้ได้ก็ตาม นอกจากนี้ ประเทศต่างๆทั่วโลกยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆจากการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น กรณีสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมาย The Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act หรือ CARES Act ที่มีงบประมาณช่วยเหลือกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ และ ถ้าหากอ้างอิงข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะพบว่า ถ้ารวมทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ประเทศต่างๆได้ผ่านงบประมาณช่วยเหลือจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมกันแล้วกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว (Battersby และ คณะ, 2020)

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการที่สามคือ ปัญหาสุขภาพจิตใจของผู้สูงวัยจากการถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยสาเหตุสำคัญที่จะต้องแยกผู้สูงวัยก็เป็นเพราะผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อการ

เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าประชากรในวัยอื่น โดยงานวิจัยของ Armitage และ Nellums (2020) พบว่า การที่ผู้สูงวัยถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยให้อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะทางจิตที่แย่กว่าและมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้สูง ซึ่งเป็นสาหตุของโรคที่อาจจะตามมาอีกหลายประการ นอกจากนี้ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อย “ไม่มีลูกหลาน” คอยดูแล ผู้สูงวัยจำนวนมากที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ผู้สูงวัยจำนวนมากที่ถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยให้อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะไม่มีลูกหลานคอยช่วยเหลือดูแลทั้งทางด้านการเงินและทางด้านจิตใจ

บทสรุป

โดยปกติสังคมสูงวัยถือเป็นสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อผลักดันให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว การมาของวิกฤตโควิด-19 นั้นจะยิ่งฉุดให้ประเทศต้องดิ้นรนเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านความสามารถในการผลิตที่ลดลงในส่วนของแรงงานสูงวัย ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากการรับมือวิกฤตโควิด-19 หรือ ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัยที่เลวร้ายลงจากการถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี การยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการรับมือปัญหาต่างๆอย่างยั่งยืน

อ้างอิง

Armitage, R., & Nellums, L. B. (2020). COVID-19 and the consequences of isolating the elderly. The Lancet Public Health, 5(5), e256.

Battersby, B., Lam, R. & Ture, E. (2020). Tracking the $9 Trillion Global Fiscal Support to Fight COVID-19. IMFBlog, May 20, 2020.

Farrell, C. (2019). Is An Aging Population Hurting The U.S. Economy?. Forbes, Aug 25, 2019.

บทความนี้เขียนโดย

ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสินผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติรศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส

คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สังคมสูงวัยกับวิกฤตโควิด-19

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?