CIBA DPU เชิญ 2 กูรูด้านธุรกิจส่งออก ร่วมเสวนาทิศทางธุรกิจ Go Inter หลังยุค Covid -19

อังคาร ๑๑ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๑๔:๑๗
CIBA DPU เชิญ 2 กูรูด้านธุรกิจส่งออก ร่วมเสวนาทิศทางธุรกิจ Go Inter หลังยุค Covid -19 ชี้สุขอนามัยเป็นลำดับแรกที่ต้องให้ความสำคัญ
CIBA DPU เชิญ 2 กูรูด้านธุรกิจส่งออก ร่วมเสวนาทิศทางธุรกิจ Go Inter หลังยุค Covid -19

วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดเสวนา ในรูปแบบ Live CIBA TALK ผ่านทางเพจ CIBA หรือ https://www.facebook.com/dpuciba/ ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางธุรกิจ Go Inter ยุค Covid-19” จะเดินต่ออย่างไร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จาตุรงค์ จรัสตระกูล CEO จัตุรงค์คูลลิ่ง ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน International Business ร่วมเสวนา โดยมี ดร.รชฏ ขำบุญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและเครือข่ายบริการวิชาการและผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) เปิดเผยว่า หลังยุคโควิด-19 ทุกธุรกิจของไทยสามารถโกอินเตอร์ได้ โดยอยู่ภายใต้มาตรฐานการควบคุมด้านสุขอนามัย ควบคู่กับการตอบโจทย์ Pain Point ของลูกค้า ซึ่งไทยถือว่าได้เปรียบเพราะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ดีและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ดังนั้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามอาจสรุปได้ว่า ในขณะนี้ปัจจัยด้านอื่นๆ อาจไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าเทียบเท่ากับปัจจัยด้านความสะอาดและถูกสุขอนามัย เพราะในยุคโควิด-19 คนทั่วโลกจะคำนึงเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งแรกเสมอ

ดร.จาตุรงค์ จรัสตระกูล CEO จัตุรงค์คูลลิ่ง กล่าวว่า ภูมิหลังของการเริ่มทำธุรกิจมาจากการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวในรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจ SME ที่มีสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องมือแพทย์ เครื่องทำความเย็น ถังบรรจุสารทำความเย็น เครื่องสำอางจำพวกสกินแคร์ เป็นต้น โดยผลิตเพื่อการส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ และขายในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าต่างประเทศรายใหญ่ คือ ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและกลุ่มประเทศอาเซียน แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกโดยรวมเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้กำลังการซื้อระหว่างประเทศลดลง มิหนำซ้ำยังเจอประเทศคู่แข่งที่ผลิตและส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลกอย่างจีน จึงต้องหันกลับมาทำการตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้องวางแผนวิธีการจัดจำหน่ายใหม่ โดยแบ่งกลุ่มสินค้าจำพวกเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ มาขายในตลาดออนไลน์ ส่วนกลุ่มสินค้าจำพวกเครื่องทำความเย็น สารทำความเย็น ต้องติดต่อขายตรงตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

ดร.จาตุรงค์ กล่าวต่อว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจ เพราะโชคดีที่ห้วงเวลาดังกล่าวลูกค้ามีความต้องการซื้อสินค้าจำพวกแอลกอฮอล์สูง ซึ่งทางโรงงานของเรามีวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตอยู่แล้ว จึงผลิตออกมาขายในช่องทางออนไลน์ ผนวกกับช่วงนั้นจีนไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ เราจึงได้ส่วนแบ่งตลาดจากจีน ทำให้ยอดขายดีมาก สำหรับการส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเลือกใช้ระบบขนส่งทางบก เพราะประหยัดเวลาและต้นทุนการขนส่ง ส่วนอุปสรรคและปัญหาที่พบคือการส่งออกสินค้าไปบางประเทศลำบาก เพราะมีการล็อคดาวน์ประเทศสูง เช่น ประเทศอินเดีย แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนโดยรวมยังถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อย จึงไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก

“ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพราะกู้เงินจากธนาคารมาลงทุนทำธุรกิจ ซ้ำร้ายวิกฤตดังกล่าวยังหนักกว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2540 เพราะดีมานลอยอยู่ในอากาศคนไม่มีกำลังซื้อ ทำให้นักธุรกิจวางแผนการตลาดยาก ไม่สามารถคาดเดาการผลิตได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ตั้งสติอย่าตกใจกับวิกฤต และนำวิกฤตนั้นมาปรับใช้ให้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด อย่างไรก็ตามฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ ทุกธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านอุปสรรคมาก่อน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีทีมงานที่ดี”ดร.จาตุรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน International Business กล่าวว่า การทำธุรกิจในไทยมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถควบคุมได้ในหลายๆด้าน เช่น การเมือง เทคโนโลยี จึงทำให้เศรษฐกิจเกิดการถดถอย แม้ไทยจะมีคู่ค้ารายใหญ่ที่ทำการส่งออกอยู่เป็นประจำ ได้แก่ จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง และมาเลเซีย แต่เมื่อเกิดวิกฤตซ้ำรอยทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 จึงเกิดการตั้งคำถามว่าต้องตั้งรับอย่างไรถึงจะส่งออกสินค้าในปริมาณเดิมได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้วิเคราะห์สินค้าที่เป็นพระเอกของไทย แม้อยู่ในสถานการณ์ใดก็ยังส่งออกได้ ได้แก่ เครื่องสำอาง ยารักษาโรค สิ่งทอ เครื่องทำความเย็น นอกจากนี้สินค้าที่กูรูฟันธงว่ายังขายได้ดีในอนาคต คือ ความสวยความงาม ยานยนต์ และส่วนประกอบรถยนต์ สำหรับธุรกิจที่ยังไปต่อได้ คือ ธุรกิจอาหาร และโลจิสติกส์ ส่วนธุรกิจที่ยังประสบปัญหาต้องใช้เวลาในการปรับตัว คือ อุตสาหกรรมการบิน ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว

“การทำธุรกิจระหว่างประเทศหลังโควิด -19 ต้องมีนวัตกรรมหรือสินค้าที่มีจุดเด่นเป็นของตนเอง ส่วนการทำตลาดใน2ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ต้องศึกษาความต้องการของแต่ละประเทศ ที่สำคัญความหลากหลายของสินค้าจะทำให้ได้เปรียบในทุกสถานการณ์ และควรหาพาร์ทเนอร์ที่ดีช่วยซัพพอร์ทรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน”ดร.ภูมิพัฒณ์ กล่าว

CIBA DPU เชิญ 2 กูรูด้านธุรกิจส่งออก ร่วมเสวนาทิศทางธุรกิจ Go Inter หลังยุค Covid -19

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๑ เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๖:๓๖ ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๖:๐๐ STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๗ เม.ย. ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๗ เม.ย. HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๗ เม.ย. ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๗ เม.ย. เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๗ เม.ย. ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๗ เม.ย. แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๗ เม.ย. YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น