สุธี เพชรฤทธิ์ นักศึกษา ม.มหิดล อำนาจเจริญ รับพระราชทานทุนภูมิพล ปี 2563

จันทร์ ๐๕ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๒๖
สุธี เพชรฤทธิ์ นักศึกษา ม.มหิดล อำนาจเจริญ รับพระราชทานทุนภูมิพล ปี 2563

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชประสงค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีผลการเรียนดี มีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย และผลงานดีเด่นด้านการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม โดยในปี 2563 นี้ คณะกรรมการพิจารณาทุนภูมิพล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตัดสินให้ นายสุธี เพชรฤทธิ์ หรือ "ทีน" นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับพระราชทุนภูมิพล จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2562 วันที่ 6 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีนักศึกษาได้รับเกียรติสูงสุดดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนภูมิพล มหาวิทยาลัยมหิดลว่า "ทุนภูมิพล" ถือเป็นทุนที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ เนื่องจากนักศึกษาผู้ได้รับคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปีนี้นักศึกษาที่เข้ารอบมีผลการเรียน และความสามารถที่ใกล้เคียงกันทุกคน ซึ่งสร้างความลำบากใจให้กับคณะกรรมการตัดสินเป็นอย่างมาก

โดยนักศึกษาผู้รับพระราชทานทุนภูมิพลในปีนี้ได้รับคัดเลือกจากความโดดเด่นด้านการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม หรือ จิตอาสา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่ กิจกรรม "หมอต้นไม้อาสา" "พยาบาลลุ่มน้ำ" และภารกิจปฏิบัติการ ฝนหลวง เป็นต้น นอกจากนี้ นักศึกษาผู้ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนานักศึกษาอีกหลายกิจกรรม ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะมุ่งมั่นพัฒนาทักษะให้นักศึกษาพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า Mahidol H-I-D-E-F ได้แก่ Health Literacy เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี Internationalization มีความเป็นนานาชาติ Digital Literacy ทันต่อเทคโนโลยีดิจิทัล Environmental Literacy ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ Financial Literacy หรือเรื่องเงินทองต้องรู้

อาจารย์ ดร.มะลิวัลย์ แซ่อุ้ย ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวเสริมว่า นักศึกษาผู้รับพระราชทานทุนภูมิพล เป็นนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์เกษตรที่มีความขยัน กระตือรือร้น และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา โดยนอกจากจะทำแปลงผักในชั่วโมงการลงฟาร์มแล้ว นักศึกษายังสนใจหาไม้ผล ไม้ประดับ และพืชผักสวนครัวมาปลูกเสริมสร้างรายได้ในบริเวณฟาร์มเพิ่มเติมด้วย โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพจาก "แหนแดง" ทดแทนการใช้ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยเคมีที่ถ้าใช้ปริมาณมาก และเก็บพืชผักในเวลาไม่เหมาะสม จะทำให้มีปริมาณสารไนเตรทสะสมในพืชในปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งถ้าหากมีการบริโภคผักที่มีไนเตรทสะสมอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยพบเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปใช้ได้ จนเซลล์ขาดออกซิเจน เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ตลอดจนมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

นอกจากนี้ นักศึกษาผู้รับพระราชทานทุนภูมิพลยังมีความสนใจจะทำโครงการวิจัยระดับปริญญาตรี หรือ Senior Project เรื่องการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพื่อหาองค์ความรู้มาพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นและเป็นข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนาแนวทางในการสร้างมูลค่าทางการตลาดของพันธุ์ข้าวท้องถิ่นก่อนสำเร็จการศึกษา โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่พร้อมสนับสนุนการเรียนการสอนและวิจัยในด้านดังกล่าวอย่างครบวงจร ด้วยการสแกนเมล็ดข้าวตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ความชื้น เยื่อใย ไขมัน และโปรตีน พร้อมด้วยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ทดสอบความหอมของข้าว และการประเมินปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

"ทีน" นักศึกษาผู้รับพระราชทานทุนภูมิพล เล่าว่า จากที่ได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์มาทั้งหมดตลอดระยะเวลา 3 ปีของเป็นนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ตนรู้สึกภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้มีโอกาสตามรอยพ่อหลวง ร.9 จากการร่วมภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง และร่วมขุด "คลองไส้ไก่" ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อการกักเก็บน้ำ และกระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณเพาะปลูก โดยเป็นการขุดร่องน้ำให้คดเคี้ยวในที่ดินที่มีลักษณะคล้ายหลุมขนมครก ซึ่งน้ำที่ไหลผ่านคลองไส้ไก่ที่มีความคดเคี้ยวจะมีการไหลแบบตกกระทบก่อนซึมลงสู่พื้นดิน จึงทำให้เกิดความชุ่มชื้น

และด้วยความสำนึกในบ้านเกิด ณ จังหวัดบุรีรัมย์ "ทีน" มีปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กลับไปพัฒนาด้านการเกษตรที่บ้านเกิด โดย "ทีน" มักใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนกลับไปสอนวิชาชีววิทยาที่ตนถนัดให้กับน้องๆ ที่บ้านเกิด และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ EKH จับมือ ฟินอินชัวรันส์ฯ มอบประกันอุบัติเหตุคู่แม่ลูก
๐๙:๑๒ เปิดงาน สถาปนิก'67 รวมคนวงการก่อสร้าง-ออกแบบ-อสังหาริมทรัพย์
๐๙:๕๔ ร่วมค้นพบความอร่อยชั้นเลิศจากวัตถุดิบอันล้ำค่ากับ อาร์ติโชคและเห็ดทรัฟเฟิล ณ ห้องอาหารเรดสกาย โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ
๐๙:๒๐ ทีทีบี วางกลยุทธ์สู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนลูกค้าธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วย Green Transition
๐๙:๑๓ ผถห. FVC ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.01 บาทต่อหุ้น จ่อ XD 9 พ.ค.นี้
๐๙:๕๓ เซ็นทารา ไลฟ์ นำเสนออิสระแห่งการพักผ่อนและความสะดวกสบาย มอบสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับสมาชิก CentaraThe1
๐๙:๕๖ MTC มุ่งสู่ไมโครไฟแนนซ์ระดับโลก เน้นจุดแข็งความยั่งยืน สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความเท่าเทียมของลูกค้าทุกมิติ เปิดงบ Q1/67 พอร์ตสินเชื่อเติบโต 17.4% แตะระดับ 147,587
๐๙:๔๒ แอล ดับเบิลยู เอส เปิด 5 ทำเลเหมาะในการพัฒนาคอนโดฯ เพื่อสัตว์เลี้ยง
๐๙:๔๐ เคทีซี ผนึกพันธมิตร เอ็น.ซี.ซี.ฯ มอบสิทธิพิเศษในงาน Pet Expo Thailand 2024 ย้ำเทรนด์รักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกมาแรง ส่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ
๐๙:๕๔ พฤกษา โฮลดิ้ง จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 มุ่งสู่ Carbon Neutral เพื่อความยั่งยืนตามแนวคิด อยู่ดี