กว่าจะเป็น GI ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์

อังคาร ๒๗ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๔๙

เมื่อเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับ 'ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์" ซึ่งกระบวนการกว่าจะได้ GI นี้ต้องผ่านใช้เวลาถึง 4 ปี (นับตั้งแต่ปี 2559)

เบื้องหลังการได้ GI ชองข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์จึงมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้กระบวนวิจัยเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพราะหลังจากที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ยื่นคำขอไปเมื่อปี 2559 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีจดหมายตอบกลับมาให้จังหวัดดำเนินการเพิ่มเติมใน 3 ส่วน คือ หนึ่ง มีงานวิชาการเพื่อยืนยันถึงความโดดเด่นหรือเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ สอง มีระบบการผลิตของผู้ปลูกและผู้ประกอบการโรงสีที่ชัดเจนและสามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติได้ และสาม มีระบบตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน

นั่นจึงเป็นที่มาของงานวิจัย การศึกษาข้อมูลและกลไกเพื่อขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ที่เป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัย การปรับตัวทางการเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวรองรับเมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ทุนวิจัยท้าทายไทย ของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. - สกว.เดิม) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้ทราบลักษณะเฉพาะทางกายภาพและเคมีของข้าวหอมมะลิภูเขาไฟในเขตภูเขาไฟ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมทั้งพัฒนาระบบควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟให้เกิดขึ้น

"แม้ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในเมืองไทย จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมด แต่การที่ทีมวิจัยของเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์แร่ธาตุและองค์ประกอบในชุดดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์ (ชุดดินบุรีรัมย์ ชุดดินวัฒนา และชุดดินชัยบาดาล) และในเนื้อเยื่อของพืชที่ปลูกบนดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์มาในระดับหนึ่ง เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่า จะสามารถใช้งานวิจัยมาสร้างความโดดเด่นให้กับข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เพื่อขอจด GI ของจังหวัด" อาจารย์รุ่งเรือง งาหอม จากคณะวิทยาศาสตร์ มรภ.บุรีรัยมย์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยที่มีการดำเนินการในช่วงปี 2561-2562

ทีมวิจัยได้มีการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์สารสำคัญในข้าวหอมมะลิที่ปลูกในชุดดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์ ทั้ง 7 อำเภอ ที่ปลูกในปี 2561 กับสารสำคัญในข้าวหอมมะลิ GI ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เช่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ที่ปลูกในปีเดียวกัน และพบว่าข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณสารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างน้อย 2 ชนิด สูงกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ คือ ฟอสฟอรัส2 และแคลเซียม3 (สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปประมาณ 109-226% และ 65-149% ตามลำดับ*4)

นอกการวิเคราะห์ทางเคมีแล้ว งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เรื่องนี้ ยังได้มีการจัดทำในส่วนของระบบควบคุม ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมถึงระบบการลงทะเบียนเข้าร่วมในการผลิตหรือแปรรูปข้าวหอมมะลิ GI และที่สำคัญคือมาตรฐานของการผลิตทั้งตัวเกษตกรและโรงสีที่เกิดเป็นความเห็นร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรอำเภอ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบุรีรัมย์ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ รวมไปถึงหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ และเกษตรกรจาก 7 อำเภอของบุรีรัมย์

"จากความร่วมมือกันอย่างจริงจังนี้ นำไปสู่การประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นิยามข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ไว้ว่า 'เป็นข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในฤดูนาปี บนพื้นที่ที่มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้เมล็ดข้าวเรียวยาวเลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง?? " อาจารย์จินดาพร สืบขำเพชร นักวิจัยอีกท่านหนึ่ง กล่าว

ด้าน นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากนี้ทางจังหวัดจะมีการเร่งผลักดันให้ควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ โดยเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ่านระบบ QR-Code ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองตามกฎหมายที่ชาวนาและผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่นได้รับสิทธิ์ในการผลิตข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเป็นเครื่องมือด้านการตลาด กระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการดูแลรักษามาตรฐานสินค้า ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้าที่ตรงตามความต้องการ รวมทั้งสนับสนุนการประชาสัมพันธ์และพัฒนาตลาดช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป

อาจารย์รุ่งเรือง สรุปว่า งานวิจัยชิ้นนี้นอกจากจะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ที่มีพื้นที่ปลูกในปัจจุบันกว่า 100,000 ไร่แล้ว ยังทำให้เกิดกลไกการทำงานกับสำนักงานส่งเสริมเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงกลไกการทำงานร่วมกับจังหวัดเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งจะความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเป็นกลไกความรู้ให้กับจังหวัดและพื้นที่ได้ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๘ สรุปผลสำรวจปี 2567 สถาบันวิจัยฮาคูโฮโดเผย THAIDOM EFFECT มาแรง ช่วยเสริมสร้างความสุข ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
๑๗:๑๔ รพ.กรุงเทพ ฉลองความสำเร็จกับรางวัล GREAT PLACE TO WORK พร้อมเปิดตัว DR.HEALTH AVATAR ตัวแทนความสุขยกระดับสุขภาพ
๑๗:๐๙ รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้วยส่วนลด 20% เมื่อจองตรงที่โรงแรม สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๑๗:๐๔ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566
๑๗:๓๘ ธนาคารไทยพาณิชย์ คว้า 5 รางวัลสำคัญด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในปี 2567 ตอกย้ำความเป็นผู้นำองค์กรยั่งยืน
๑๗:๐๓ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วยยากไร้
๑๗:๔๓ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภาคเหนือ - อีสาน อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง
๑๖:๕๖ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างปรากฏการณ์ Amazing Celebration 2025 A New Chapter of The Journey
๑๖:๑๓ ปักหมุด เตรียมเช็คอิน ร่วมส่งความสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกร ปี 2568 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
๑๖:๔๒ สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ย้ำ ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ลดอุบัติเหตุ ลดเจ็บ ลดตาย ช่วงเทศกาลปีใหม่