สทนช. ลงพื้นที่นครพนม เตรียมแผนพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน

อังคาร ๒๗ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๐๙
สทนช. ลงพื้นที่นครพนม เตรียมแผนพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (สทนช.) พร้อมด้วยนางสาวกนกพร ไชยศล ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ และคณะสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครพนมเพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม หนองคาย และมุกดาหาร ที่ สทนช.ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ และจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในเร็ว ๆ นี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ได้แก่ จังหวัดนครพนม หนองคาย และมุกดาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าและการลงทุนกับประเทศอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบกับ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area based) ระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ดำเนินการศึกษาเพื่อสร้างแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและรองรับการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างยั่งยืน

โดยผลการประเมินศักยภาพพื้นที่และความต้องการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน พบว่า ในพื้นที่เป้าหมายพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภค-บริโภค นอกจากนั้นยังมีบางพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาอุทกภัย และอนาคตมีความจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้า พื้นที่ 3 จังหวัด คือจังหวัดนครพนม หนองคาย และจังหวัดมุกดาหาร จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น

โดยจังหวัดนครพนมจะมีความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 92.2 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,405 ล้าน ลบ.ม./ปี และภาคอุตสาหกรรม 41.7 ล้าน ลบ.ม./ปี ทั้งนี้ภายในปี 2568 จะมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม จำนวน 34.59 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดแนวจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไว้จำนวน 1,523 โครงการใน 3 จังหวัด งบประมาณรวมกว่า 36,115 ล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,251 โครงการ โครงการแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค 135 โครงการ โครงการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 121 โครงการ โครงการด้านคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์แหล่งน้ำ 12 โครงการ โครงการด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ 3 โครงการ และโครงการด้านจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมอีก 1 โครงการ

สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ เลขาธิการ สทนช. และคณะ ได้ติดตามความก้าวหน้าแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตำบล 2 อำเภอ ของ อ.ท่าอุเทนและ อ.เมืองนครพนม รวมพื้นที่ 439,344 ไร่ ปัจจุบันจังหวัดนครพนมได้ลงนามสัญญาเช่ากับผู้พัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่โคกภูกระแต ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จำนวน 1,335 ไร่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การผลิตอาหารปลอดภัย อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ของชุมชน สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณดังกล่าวในปัจจุบัน (2562) มีความต้องการน้ำภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวม 3.11 ล้าน ลบ.ม./ปี ในอนาคตอีก 20 ปี จะมีการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 9.22 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (ภูกระแต) ได้แก่ การดำเนินการออกแบบระบบสถานีสูบน้ำดิบที่ฝายห้วยบ่อส่งไปยังนิคมอุตสาหกรรม (ภูกระแต) โดยปรับปรุงยกระดับสันฝายห้วยบ่อ 1.0 ม. อัตราสูบ 70 ลิตร/วินาที ส่งน้ำด้วยท่อส่งน้ำ HDPE เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 ม. ความยาวประมาณ 3.0 กม. ไปยังสระรับน้ำดิบในพื้นที่นิคมฯ ความจุ 0.2 ล้าน ลบ.ม. โครงการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำประปาโคกภูกระแต อัตราการผลิต 500 ลบ.ม./ชั่วโมง ของการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดนครพนม

จากนั้นช่วงบ่ายเดินทางไปยัง จุดที่ 2 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและแหล่งน้ำสำรองเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยบ่อน้อย ในพื้นที่ ต.รามราช และ ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน พื้นที่ 650 ไร่ ยกระดับเก็บกักน้ำในห้วยบ่อ 0.50 ม. ด้วยบานพับได้ (Flap Gate) ที่บริเวณอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) เพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำเป็น 2.43 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ไร่ และในอนาคตวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยมุเค เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งใหม่ ในพื้นที่ ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ ความสูงสันเขื่อน 10.2 ม. ความยาวสันเขื่อน 2.5 กม. สามารถเก็บกักน้ำได้ 6.0 ล้าน ลบ.ม. ในอนาคตเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานสองฝั่งของลำห้วยมุเค ประมาณ 4,300 ไร่ นอกจากนั้นจะช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำและเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับฝายห้วยบ่อที่จะสูบส่งไปยังสระเก็บน้ำของนิคมอุตสาหกรรม (ภูกระแต)

ซึ่งหลังจากนี้ สทนช. จะนำแผนหลักที่ได้จากการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในภาคการเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และการใช้น้ำภาคครัวเรือน ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการในการใช้น้ำในอนาคต รองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตขึ้น จากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา