ชุมชนการเรียนรู้ "ครูเพื่อศิษย์" PLC-Coaching ครูและศิษย์ต้องไม่ตกหลุมการเรียนรู้แบบผิวเผิน

พฤหัส ๒๔ ธันวาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๔๓

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เอ่ยถึงการศึกษาไทยซึ่งว่ากันว่าเดินทางมาสู่ทางตัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ริเริ่ม โครงการ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ หรือ Online PLC Coaching ร่วมกับ เครือข่ายโรงเรียนต้นแบบทั่วประเทศ จัดตั้ง ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community) ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโรงเรียนแกนนำของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน ผ่านการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของ "ครู" โดยผลักดันให้แนวทางของ "ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง" โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ไปสู่การปฏิบัติงานจริงของ "ครูแกนนำ"

ชุมชนการเรียนรู้ ครูเพื่อศิษย์ PLC-Coaching ครูและศิษย์ต้องไม่ตกหลุมการเรียนรู้แบบผิวเผิน

โดยครูผันตัวเองจาก "ผู้สอน" มาเป็น "ผู้ก่อการ" (Change Agent) สร้างการเรียนรู้ รวมกลุ่มกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนไต่ระดับการเรียนรู้จากระดับผิว (Superficial) ระดับลึก (Deep) ไปสู่ระดับเชื่อมโยง (Transfer) เรียกว่าเป็น การเรียนที่ไม่ใช่แค่รู้ แต่เอาความรู้ไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างนิสัย ความเชื่อ และคุณธรรม

กิจกรรม Workshop ครั้งที่ 1 : จัดการความรู้และเติมความรู้ โครงการครูเพื่อศิษย์สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 -22 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1.เพื่อให้ผู้อำนวยการและครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การออกแบบและจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนเกิด Visible Learning (การเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด) และนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ 2. เติมเต็มความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในห้องเรียน ซึ่งเป็นหัวข้อที่คุณครูอยากเรียนรู้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่ เครื่องมือที่ 1.ชุดคำถาม : การตั้งคำถามกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้ โดยรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ การกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้และการสะท้อนผล โดย รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี เครื่องมือที่ 2.การประเมินแบบ Formative Assessment: Visible Learning โดยครูศีลวัต ศุษิลวรณ์

เวิร์คชอป "จัดการความรู้และเติมความรู้ฯ" เป็นกิจกรรมเติมเต็มระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ใน "เวที Online PLC Coaching" เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมดำเนินต่อเนื่องมาแล้ว 6 ครั้ง และจะดำเนินการจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมีหัวใจสำคัญที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและร่วมให้ความเห็นและตีความการทำงานของครูเพื่อเกิดการยกระดับการเรียนรู้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, รศ.ประภาภัทร นิยม, ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่, รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ,ฯลฯ

โครงการเชื่อว่าครูจะสามารถทำหน้าที่ "โค้ช" ให้กับศิษย์ได้ดี หากได้รับการฝึกฝน มีผู้ชี้แนะและทำงานร่วมกันเป็นทีม ชุมชนครูผู้ศิษย์ฯ จึงเปิดพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูจากเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 21 โรงเรียน โดยการเรียนรู้ร่วมกันแต่ละครั้งมีครูต้นเรื่องเข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในบริบทที่แตกต่างกัน เปิดโอกาสให้คณะครูได้ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยน และได้รับการเติมเต็มความรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตนเอง

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้ตีความและเขียนหนังสือ "ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับใเชื่อมโยง" กล่าวถึง การเรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ (Visible Learning) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ทั้งครูและศิษย์ต้องไม่ตกหลุมการเรียนรู้แบบผิวเผิน

"เรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ (Visible Learning) ต้องมองกว้าง ทั้งครูและศิษย์แจ่มชัดในคุณค่าการเรียนต่อชีวิตในอนาคต อย่าเรียนแบบถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเป็นหลัก แต่เรียนจากการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (Reflection หรือ AAR) ให้เด็กสร้างความรู้ใส่ตัว ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนคิดคนเดียว สะท้อนคิดเป็นกลุ่ม หรือครูสามารถเป็นผู้ช่วยตั้งคำถาม หลักการเรียนรู้สมัยใหม่สมองมนุษย์เรียนรู้ดีที่สุดผ่านประสบการณ์ แล้วนำประสบการณ์มาคิดแบบใคร่ครวญ เช่น การสะท้อนคิดคนเดียวด้วยการเขียนความเรียง หรือการวาดรูปมายด์แม็พ (Mind Map) ที่ช่วยกระตุ้นความคิดเชื่อมโยงออกไปได้กว้างขวาง"

ด้วยเหตุนี้ เพื่อพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ ทักษะที่ครูจำเป็นต้องมี คือ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบแผนการเรียนการสอน การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การตั้งคำถามปลายเปิด การประเมินผลลัพธ์ และการปรับปรุงวงจรการเรียนรู้ด้วยวง PLC (Professional Learning Community) ของคณะครูในโรงเรียน ทั้งนี้ เด็กควรได้เรียนรู้ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ หนึ่ง มีเป้าหมายการเรียนรู้เป็นของตนเอง สอง เห็นผลการเรียนรู้ของตนเอง สาม เห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเอง และ สี่ สามารถพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้

"การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเป็นการเรียนรู้ที่ทั้งครูและผู้เรียนมีเป้าหมายที่ชัดเจน ครูกำหนดเป้าหมายในการสอน แล้วหาทางทำให้เป้าหมายนั้นเป็นของนักเรียน ให้นักเรียนเป็นเจ้าของเป้าหมายการเรียน คือ นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ครูต้องรู้จักลูกศิษย์และรู้เป้าหมายของแต่ละคน ทำให้เป้าหมายของแต่ละคนได้รับความเคารพ เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วครูจึงออกแบบแผนการสอนหรือแผนการเรียนของเด็ก"

"เรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเป็นสิ่งที่ท้าทายและสนุกมาก เพราะสิ่งที่ก่อเกิดแรงบันดาลของเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ครูจึงต้องรู้จักเด็กทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม รู้ว่าควรจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแต่ละคนอย่างไร รวมถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นที่ที่ปราศจากการถูกเยาะเย้ยหรือตำหนิ มีกัลยาณมิตรทั้งเพื่อนและครูเป็นที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือในชั้นเรียน"

"ครูสามารถตั้งคำถามซึ่งคำถามที่ทำให้เด็กคิดได้มาก คือคำถามปลายเปิด วงการศึกษาไทยฝึกคำถามปลายปิด มีถูกมีผิดเป็นหลักเพื่อการให้คะแนน แต่เพื่อนำพาเด็กไปสู่การรู้เชื่อมโยงครูต้องฝึกตั้งคำถามปลายเปิด เป้าหมายของคำถามปลายเปิด คือ การประเมินว่าลูกศิษย์เข้าใจเรื่องที่เรียนรู้นั้นถึงไหน มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นแค่ไหน ลึกแค่ไหนและเชื่อมโยงได้แค่ไหน คำถามจึงไม่ได้มีเพื่อรับคำตอบที่ถูกต้องเท่านั้น แต่เพื่อฟังคำตอบแล้วประเมินผล หลังจากนั้นครูจึงนำ Feedback เข้าสู่วง PLC ของครูเพื่อปรับปรุงวิธีการและเป้าหมายการสอนในวงจรการเรียนรู้ต่อไป ครูใช้การประเมินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ของศิษย์ ที่จะนำไปสู่การให้เด็กประเมินตนเองเป็น และกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้"

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการศึกษาไทยเดินทางมาสู่ทางตัน การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เดินหน้าจึงไม่ใช่แค่การเรียนวิชาแต่เป็นการบูรณาการเรียนรู้แบบองค์รวม ที่นำไปสู่การ "พัฒนาคน" ทั้งทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) และความรู้ (Knowledge) ทั้งสามอย่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ครูต้องไม่หลงอยู่แค่การสอนวิชาแต่มองไปที่การสอนลูกศิษย์ ดังนั้น การประเมินผลจึงไม่ใช่แค่การประเมินวิชา แต่ต้องเป็นการประเมินครบทุกด้านที่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนโดยรอบและเชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตในอนาคต

ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่สนใจสามารถร่วมเรียนรู้โดยติดตามการ PLC Online ทุกครั้ง และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ www:plc.scbfoundation.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4