มจธ. นำ Micro-Credentials จัดการศึกษารูปแบบใหม่ หวังให้เกิดอิมแพคกับระบบการศึกษา

พฤหัส ๒๔ ธันวาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๒๐

สถาบันการศึกษากำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยและตลาดแรงงานใหม่ที่มาพร้อมกับทักษะใหม่ การจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากนัก ทำให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อผู้เรียนให้มากที่สุด

มจธ. นำ Micro-Credentials จัดการศึกษารูปแบบใหม่ หวังให้เกิดอิมแพคกับระบบการศึกษา

Micro-Credentials การจัดการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงที่เน้นความสามารถผู้เรียนเป็นตัวตั้ง มีความยืดหยุ่นสูง และไม่จำกัดวัยผู้เรียน ขณะนี้เป็นการจัดการศึกษาที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเริ่มนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ต้นปีการศึกษา 2564 โดยเน้นเรื่อง Science and Technology

ดร.กลางใจ สิทธิถาวร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ. ผู้รับผิดชอบโครงการแพลตฟอร์ม KMUTT Micro-Credentials อธิบายว่า Micro-Credentials เป็นประกาศนียบัตรดิจิทัลที่ให้แลกกับการแสดงออกถึงสมรรถนะที่เฉพาะเจาะจงของผู้เรียน วิธีการรับรองดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบและการจัดการศึกษาที่มีสมรรถนะเป็นฐานเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจโดยไม่ยึดติดกับหลักสูตรแต่ยังสามารถขยายมาสู่การเทียบหน่วยกิตสู่ปริญญาจากความสามารถที่ได้รับการประเมิน

มจธ. จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่จัดการเรียนการสอนรูปแบบ KMUTT Micro-Credentials โดย มจธ. ร่วมกับ ดิจิทัล พรอมิส (Digital Promise) ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบ Micro-Credentials จากสหรัฐอเมริกา มาทำงานร่วมกันในการวางกรอบมาตรฐานสำหรับการออกแบบ และจัดทำ Micro-Credentials เพื่อเป็นการนำร่องและวางแนวทางและเตรียมรองรับระบบการศึกษารูปแบบใหม่สำหรับผู้เรียนในทุกช่วงวัย นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ทาง มจธ. ได้ศึกษารูปแบบ Micro-Credentials ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่กำหนด Micro-Credentials เป็นนโยบายของประเทศ เพื่อจะตอบสนองต่อคนในหลายกลุ่มอาชีพ ที่ต้องการการรับรองความสามารถสู่ปริญญาหรือต้องการจะพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพหรือสร้างทักษะใหม่

ดร.กลางใจ กล่าวต่อว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ Micro-Credentials เพื่อรับรองความสามารถที่เฉพาะเจาะจงนี้จะเปิดกว้างสำหรับบุคคลอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงวัยเกษียณ สำหรับคนที่ไม่เคยอยู่ในระบบการศึกษาภาคปกติ คนวัยทำงาน รวมถึงนักศึกษาที่อยู่ในการศึกษาภาคปกติ ที่ต้องการพิสูจน์ความสามารถของตนเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเรียนในการเรียนการสอนรูปแบบปกติ ซึ่งเมื่อผ่านการพิสูจน์ความสามารถแล้ว ผู้เรียนหรือผู้ขอการรับรองจะได้รับประกาศนียบัตรดิจิทัล ซึ่งสามารถสะสมเป็นหน่วยกิตสำหรับขอรับปริญญาบัตรได้

ทั้งนี้ หลักสูตรที่เกี่ยวกับ Science and Technology จะเป็น Micro-Credentials แรกของ มจธ. เพราะด้วยความพร้อมของ มจธ. ที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายคณะได้มาร่วมกันออกแบบหลักสูตรให้มีความหลากหลาย รวมถึง Science and Technology เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากกระแส Disruption ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดนวัตกรรมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบการศึกษารูปแบบใหม่ที่จะสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกทั้งงานด้าน Science and Technology เป็นสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้เรียนได้ในปี 2564

หลักสูตรที่ออกแบบนี้ต้องผ่านเกณฑ์การปรียบเทียบสมรรถนะกับ Digital Promise และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานวิชาการภายในมหาวิทยาลัยก่อนที่จะนำขึ้นดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ขอการรับรองความสามารถเข้าใช้งานได้ นอกจากนั้นยังสามารถรับรองความสามารถสำหรับผู้ขอรับรองที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อใช้ประกอบการขอเลื่อนตำแหน่ง หรือ รับรองความสามารถให้กับบุคคลที่จะสมัครงานในตำแหน่งที่อาจไม่ตรงกับสาขาที่จบมา เป็นการยืนยันว่าผู้ขอรับรองความสามารถนั้นมีความสามารถเพียงพอสำหรับการทำงานนั้นๆ จริง

อีกทั้งหลักสูตร Micro-Credentials จะมีหลักสูตรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการทำงานของภาคอุตสาหกรรมด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถและทักษะใหม่ๆ ให้กับสายงานอุตสาหกรรม

"บริษัทและภาคอุตสาหกรรมที่จะทำ Micro-Credentials ต้องทำงานร่วมกันกับ มจธ. ในการออกแบบหลักสูตรเพื่อการพัฒนากำลังคนในบริษัท และจะสามารถช่วยให้ฝ่ายบุคคลสามารถคัดเลือกพนักงานให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งผู้สนใจสมัครงานสามารถส่งหลักฐานเข้ามารับการประเมินได้" ดร.กลางใจ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.กลางใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การทำ Micro- Credentials ให้ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง อาจารย์ และภาคอุตสาหกรรมนั้นมีความยากในระยะแรก เพราะบริษัทยังคงอยากรับคนที่จบปริญญาตามการศึกษาภาคปกติเข้าทำงาน ดังนั้นมหาวิทยาลัยยังต้องทำงานร่วมกับบริษัทและภาคอุตสาหกรรมเพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์ที่ได้ มจธ. เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกำลังคนคุณภาพ และอยากให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ มาร่วมออกแบบ Micro-Credentials เพราะมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านแตกต่างกัน หากมาร่วมกันออกแบบ จะช่วยประเทศไทยในการสร้างคนที่มีความสามารถเพิ่มมากยิ่งขึ้น และจะเกิดแรงกระเพื่อมในการจัดการศึกษาของประเทศได้"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4