PwC เผยสำรวจ Global State of Information Security ชี้ภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศพุ่ง ส่งผลต่อความเสี่ยงทางธุรกิจ แนะเอกชนไทยเร่งปรับตัวรับมือ AEC

พุธ ๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๓ ๑๔:๐๙
ปัญหาภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศ (Information security) มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หลังผลสำรวจ PwC ชี้ มีบริษัททั่วโลกเพียงร้อยละ 8 ที่มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระดับสูงอย่างแท้จริง จากการสำรวจผู้บริหารกว่า 9,300 ราย ภาคธุรกิจและรัฐบาลไทยเอง ต้องหันมาตื่นตัวในการแก้ปัญหาพร้อมมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างจริงจังและเป็นระบบ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเตรียมพร้อมก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี ’58

PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึงผลสำรวจ สถานะความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศทั่วโลก ประจำปี 2556 The Global State of Information Security? Survey 2013 ว่า มีผู้บริหารด้านไอทีทั่วโลกถึงร้อยละ 68 ที่มั่นใจว่าธุรกิจของตนมีการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีผู้บริหารถึงร้อยละ 42 ที่หลงคิดว่าองค์กรของตนมีการประยุกต์ใช้กลยุทธ์และการวางแผนระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่ดีเลิศ อยู่ในอันดับต้นๆ หรือที่เรียกว่า Front runners

ทั้งนี้ PwC ให้คำจำกัดความของคำว่า Front runners หรือ ‘องค์กรที่มีความมั่นคงด้านความปลอดภัยข้อมูล’ โดยวัดจากบริษัทที่มีการดำเนินการในด้านต่างๆ ประกอบไปด้วย การมีกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศของบริษัทที่ครอบคลุม มีผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูล (Chief Information Security Officer: CISO) หรือเทียบเท่ารายงานตรงต่อซีอีโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ หรือผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฏหมาย มีการวัดผลและประเมินประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงประเภทของภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศต่างๆที่เกิดขึ้น

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า กระแสของภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก (Rise in global security incidents) การปรับลดงบประมาณเพื่อการรักษาความปลอดภัยบนระบบสารสนเทศ (Diminished budgets) และโปรแกรมการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ (Degrading security programmes) ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทั่วโลกส่วนใหญ่ บริหารจัดการความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ อย่างไม่ตรงจุด ขาดประสิทธิภาพและเป็นที่มาของความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

“ผลสำรวจพบว่า องค์กรทั่วโลกส่วนใหญ่มีการประเมินตัวเองสูงเกินไป หลายๆคนคิดว่า ตนมีระบบความปลอดภัยด้านข้อมูลสารสนเทศที่เพียงพอและรัดกุมแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยิ่งผู้ประกอบการประเมินความเสี่ยงในเรื่องนี้ต่ำเกินไป ก็จะยิ่งเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงจากการประพฤติมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต ฉ้อโกง การจารกรรมข้อมูลสำคัญของบริษัท ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล ในยามที่แนวโน้มภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศจะพัฒนาไปในทิศทางที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า,” นางสาว วิไลพร กล่าว

ผลสำรวจยังพบว่า มีผู้บริหารทั่วโลกไม่ถึงครึ่งหรือ เพียงร้อยละ 45 ที่มีแผนเพิ่มงบประมาณในการลงทุนด้านระบบข้อมูลสารสนเทศในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยลดลงจากร้อยละ 51 และร้อยละ 52 ในปี 2555 และ 2554 ตามลำดับ และถึงแม้ว่าจำนวนของเหตุการณ์ภัยคุกคามจะทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆก็ตาม

นางสาว วิไลพร กล่าวเสริมว่า “ปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ดูเหมือนจะส่งผลต่อการลดหรือเพิ่มงบใช้จ่ายด้านความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศในความเห็นของบรรดาผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือ 46 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยข้อมูล จริงอยู่ว่าเราคงไม่อยากใช้จ่ายเงิน หรือลงทุนอะไรในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่อย่าลืมว่า มิจฉาชีพสมัยนี้มีกลโกงที่ซับซ้อน และไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากเรามัวแต่คิดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ลงทุนอย่างเดียว จะยิ่งตามเขาไม่ทัน และยิ่งทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวมากขึ้น จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องจับอันดับความสำคัญในประเด็นนี้ให้ถี่ถ้วน”

นอกจากนี้ สิ่งน่ากังวลอีกประการหนึ่งที่พบจากผลสำรวจ คือ ความเข้มงวดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อปกป้องระบบสารสนเทศจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ อาทิ สปายแวร์ (Spyware) แอดแวร์ (Adware) มัลแวร์ (Malware) โทรจัน (Trojan) หรือไวรัสต่างๆ ที่ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่า เป็นผลมาจากการประหยัดงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

เอเชียขึ้นแท่นผู้นำด้านงบลงทุนความปลอดภัยข้อมูลปี ’56

อย่างไรก็ดี เมื่อมองแนวโน้มการลงทุนด้านความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ (Information security spending) ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกจะพบว่า เทรนด์การใช้จ่ายเพื่อลงทุนด้านความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศของผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียมีความร้อนแรง แซงหน้าธุรกิจในแถบอเมริกาเหนือ และยุโรป ที่ยังคงเผชิญกลับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและวิกฤตหนี้

“บริษัทในเอเชียถึง 61 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการสำรวจคาดจะมีการลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบกับ 74 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน ซึ่งถึงแม้จะลดลง แต่ก็ยังถือว่าเป็นทวีปที่มีอัตราสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากทวีปอเมริกาใต้ที่ 63 เปอร์เซ็นต์และนำหน้ายุโรปที่ 43 เปอร์เซ็นต์และอเมริกาเหนือที่ 34 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ,” นางสาว วิไลพร กล่าว

“นอกจากนี้ เรายังพบว่า บริษัทในเอเชียยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบด้านความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศในรื่อง Business continuity และการฟื้นฟูธุรกิจหลังเกิดภัยพิบัติมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย”

ท่ามกลางกระแสของยุค ‘บิ๊ก ดาต้า’ (Big data) หรือ การผสมผสานเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อบริหารจัดการข้อมูลองค์กรที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ให้สามารถจัดเก็บและสำรองข้อมูล รวมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลจากการสำรวจพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่หละหลวม ไม่มีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง เช่น มีผู้ทำการสำรวจเพียงร้อยละ 35 ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้าอย่างถูกวิธี และมีเพียงร้อยละ 31 ที่มีการกำหนดความสามารถในการเข้าถึงและการใช้งานกับฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ

“ข้อมูลกลายเป็น commodity ที่สำคัญขององค์กร ซึ่งเทรนด์นี้จะยิ่งเติบโตและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆต้องเริ่มมองหาระบบที่เข้ามาช่วยจัดการกับสตอเรจ สิ่งที่ธุรกิจหลายแห่งเผชิญเหมือนกัน คือมีปริมาณข้อมูลมากขึ้น แต่งบประมาณสำหรับการบริหารข้อมูลกลับไม่สูงตามไปด้วย,” นางสาว วิไลพร กล่าว “บิ๊ก ดาต้า จะยิ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะบ้านเรา ต้องทบทวนบทบาทของระบบวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึก เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ และหาตลาดใหม่ๆในยามที่ทุกภาคส่วนต่างเตรียมความพร้อม ก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน,” นางสาว วิไลพร กล่าว

ผลสำรวจยังระบุว่า ความเสี่ยงที่พบในยุคที่นวัตกรรมไอทีมีผลต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือ การรับเอาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) และ คลาวน์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) มาใช้เร็วเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศเป็นอันดับแรก

มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 88 ที่มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อประโยชน์ของหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว แต่ในทางตรงกันข้าม มีธุรกิจไม่ถึงครึ่ง (ร้อยละ 45) ที่สามารถจำแนกการใช้โทรศัพท์ส่วนตัวออกจากเรื่องงาน นอกจากนี้ มีเพียงร้อยละ 37 ที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยคุกคามประเภทมัลแวร์ (Malware) ในเครื่องมือถือ

“หากจะให้มองแนวโน้มในระยะข้างหน้า เรามองว่า แนวคิดเก่าๆในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลบนโลกไอทีนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องหันมาพิจารณาความปลอดภัยของธุรกิจของตนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง sector ที่ต้องอาศัย high level of trust อย่างภาคการเงินการธนาคาร และ ภาคบริการ ที่ต้องรักษาข้อมูลของลูกค้าหรือความลับทางธุรกิจ เอกชนไทยบ้านเราต้องมีการปรับกลยุทธ์องค์กร โดยหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และหาประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้บริหารต้องคิด และ มองไปข้างหน้าพร้อมๆกัน”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4