PwC เปิดผลสำรวจ “ซีอีโอไอที-สื่อสาร” มั่นใจรายได้-ศก.โลกปี’57 โต เล็งจ้างงานเพิ่ม ยุคเทคโนโลยีหมุนเร็ว

พุธ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๔ ๑๓:๒๓
บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจซีอีโอกลุ่มอุตสาหกรรมไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกล่าสุด พบว่ามีผู้บริหารชั้นนำที่ทำการสำรวจมากถึงร้อยละ 90 ที่แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ทางธุรกิจ (Revenue growth) ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า หลังได้รับอานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรปช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและดีมานต์ผู้บริโภค แต่ความกังวลเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ค่าแรงเพิ่มสูงและภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศ หรือ ‘ไซเบอร์คราม’ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของผู้ประกอบการในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) กล่าวถึงผลสำรวจ Fit for the future 17th Annual Global CEO Survey – Key findings in the technology industry ว่าความเชื่อมั่นในหมู่ซีอีโอกลุ่มอุตสาหกรรมไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกเริ่มฟื้นคืนกลับมาในปีนี้ หลังเห็นสัญญาณบวกจากแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป เปรียบเทียบกับภาพรวมที่อ่อนแอในปีที่ผ่านมา

เมื่อมองภาพรวมในระยะ 3 ปีข้างหน้า ผลสำรวจยังระบุว่า มีซีอีโอถึงร้อยละ 91 ที่เชื่อมั่นว่ารายได้ทางธุรกิจของตนจะมีแนวโน้มเติบโตไปจนถึงปี2560 จากผู้ถูกสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 117 รายใน 42 ประเทศ

“ต้องยอมรับว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีในปีนี้ดูดีขึ้นมาก เราเห็นได้จากความมั่นใจของผู้บริหารและบรรดาซีอีโอที่มีต่อแนวโน้มผลประกอบการมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการบริโภคในบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีการชะลอตัวอยู่บ้าง” นางสาว วิไลพร กล่าว

นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่าปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากภาคการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสัญญาณบวกของการใช้จ่ายของภาคเอกชน ดีมานต์การซื้อบ้าน ตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณการให้กู้ยืมจากธนาคารและระบบสถาบันการเงินที่มีมากขึ้น ในขณะเดียวกันที่การลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐฯและนโยบายการเก็บภาษีที่ผ่อนคลายลงก็มีส่วนช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ให้กลับมามีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น

ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของสถานะทางเศรษฐกิจโลก (Global economy) ผลสำรวจยังระบุว่า มีซีอีโอถึงร้อยละ 93 ในปีนี้ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 74 และมีซีอีโอเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวลดลง เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 23

“แต่ถึงแม้ว่าภาพรวมจะดูสดใสขึ้น เรายังคงมองว่าเทรนด์ของอุตฯในปีนี้จะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนลูกจ้างพนักงานที่มีทักษะ ปัญหาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ค่าแรงเพิ่มสูง รวมทั้งภัยมืดจากการจารกรรมข้อมูลองค์กรต่างๆ นอกเหนือไปจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่” นางสาว วิไลพร กล่าว

ถึงแม้ทิศทางการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging economies) จะเผชิญกับความอ่อนแอในปีนี้ ประเทศที่ซีอีโอไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกยังคงมองเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง (High growth markets) นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่ แอฟริกาใต้, เม็กซิโก และอินโดนีเซีย

“ในส่วนของประเทศไทย แม้พายุเศรษฐกิจ-การเมือง และอัตราการชะลอตัวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ธุรกิจไอที-เทคโนโลยี-สื่อสารประสบกับความซบเซาอยู่บ้าง แต่เรายังเชื่อว่าการขยายตัวของสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต รวมไปถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะยังทำให้ตลาดนี้เติบโตได้ในระยะยาว ในส่วนของภาคธุรกิจที่ต้องการลงทุนในระบบเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ อาจจะยังชะลอแผนไปก่อนในช่วงนี้” นางสาววิไลพร กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจ Fit for the future 17th Annual Global CEO Survey – Key findings in the technology industry ถูกจัดทำขึ้นระหว่าง เดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2556 โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกในหลากหลายทวีป ประกอบด้วยแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย (39%), ยุโรป (33%), อเมริกา (27%) ครอบคลุม 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ซอฟแวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, อิเล็กทรอนิกส์และจัดจำหน่าย, คอมพิวเตอร์และเครือข่าย, อินเตอร์เน็ต, ชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และแบบตัวต่อตัว ทั้งนี้ บริษัทที่ร่วมทำการสำรวจส่วนใหญ่ในปีนี้ (ร้อยละ 37) มีรายได้รวมอยู่ระหว่าง 101-999 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับกลยุทธ์ในการมองหาโอกาสและขยายธุรกิจใหม่ๆในตลาดเทคโนโลยีปี 2557 นางสาววิไลพรกล่าวว่า ซีอีโอไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 47) มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ (Product and service development) รองลงมาคือ การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดที่ตนกำลังดำเนินธุรกิจอยู่ (Increased share in existing markets) ที่ร้อยละ 26 และร้อยละ 11 มองการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ (New geographic markets) นอกจากนี้ผู้บริหารร้อยละ 7 มีแผนที่จะขยายกิจการผ่านการควบรวมฯ (Mergers & acquisitions) และหาธุรกิจร่วมทุนและพันธมิตรทางการค้า (New joint ventures and/or strategic alliances)

หากดูเฉพาะในส่วนของเทรนด์การทำ M&A ผลสำรวจยังระบุว่า ภูมิภาคที่ซีอีโอต่างมองว่าจะเป็นแหล่งเป้าหมายหลักของการควบรวมฯมากที่สุด 5 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ อเมริกาเหนือ (ร้อยละ 31), ยุโรปตะวันตก (ร้อยละ 29), เอเชียใต้ (ร้อยละ 18), ละตินอเมริกา (ร้อยละ 12) และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 10)

‘ภาวะขาดแคลนมนุษย์ไอที’

นางสาววิไลพรกล่าวว่า ในขณะที่กระแสของการนำกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 ประเภท ได้แก่ Social, Mobility, Analytics และ Cloud Computing (SMAC) เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กรทั่วโลก ภาคธุรกิจไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า

ผลสำรวจ PwC ระบุว่า ซีอีโอมากถึงร้อยละ 90 ต่างมองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological advances) จะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า นำหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic shifts) และการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Shift in global economic power) ทำให้ผู้บริหารฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งในเรื่องของการหาบุคลากร, การลงทุนในเทคโนโลยี และการขยายฐานลูกค้า

นางสาว วิไลพรกล่าวว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ (Limited availability of key skills) เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดที่พบจากผลสำรวจ โดยซีอีโอในกลุ่มไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีถึงร้อยละ 68 เห็นตรงกันว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะถือเป็นภัยคุกคามที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ (Business threats to growth) มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง นำหน้าปัญหาอื่นๆ เช่น ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดที่มีการเติบโตสูง (ร้อยละ 62) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (ร้อยละ 57) และการขาดแคลนระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลองค์กรหรือไซเบอร์คราม (ร้อยละ 56)

“ปัญหาช่องว่างทักษะทางไอทีจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า ส่งผลต่อความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หากไม่มีการลงทุนพัฒนาทักษะทางด้านไอทีอย่างจริงจัง” นางสาว วิไลพรกล่าว

ปัจจุบันความต้องการแรงงานไอทีมีสูงกว่าจำนวนที่สถาบันการศึกษาผลิตได้ เนื่องจากธุรกิจต่างๆกำลังขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยมีการเพิ่มและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอที อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งระบบสื่อสารแบบครบวงจรและการบริการด้านคลาวด์ จะช่วยผลักดันความสำคัญของเทคโนโลยีสำหรับองค์กรให้มีมากขึ้นในอนาคต

ผลสำรวจยังระบุว่า จำนวนอุปกรณ์สื่อสารและเครือข่าย (Networked device) ในโลกคาดจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านเครื่องในปี 2563 จากจำนวน 1.25 หมื่นล้านเครื่องในปี 2558 ในขณะที่ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 7.6 พันล้านคนในปีเดียวกัน จากคาดการณ์ที่ 7.2 พันล้านคนในปีหน้า

“นั่นหมายความว่า อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารจะมีมากกว่าจำนวนคนในโลกถึง 7 เท่าในปี63 เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานทักษะจะไม่ใช่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่กำลังพัฒนากลายเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สถาบันการศึกษา และ ภาคเอกชน” นางสาววิไลพร กล่าว

ปัญหาความต้องการแรงงานไอทียังส่งผลให้แนวโน้มการจ้างงานของซีอีโอที่ทำการสำรวจในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้บริหารกว่าร้อยละ 62 กล่าวว่าตนมีแผนที่จะจ้างพนักงานเพิ่มในปีนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4