TACGA พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยรับทีวีดิจิตอล

พฤหัส ๒๖ มิถุนายน ๒๐๑๔ ๑๘:๐๒
นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย เผยพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิตอล คอนเทนท์ไทยเต็มที่ รับอานิสงค์ทีวีดิจิตอล เชื่อกระตุ้นตลาดคอนเทนท์โตขึ้นมาก

นายนิธิพัฒน์ สมสมาน นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (Thai Animation & Computer Graphics Association : TACGA) เปิดเผยว่า สมาคมฯพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ของไทยอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับความต้องการทั้งในส่วนของคอนเทนท์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น การสร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบของคอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) และเทคนิคพิเศษ (VFX) สำหรับงานโทรทัศน์ งานโฆษณาและภาพยนตร์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงมาใช้ในการผลิตงาน

นายนิธิพัฒน์ กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2554 ที่ผ่านมาระบุว่ามูลค่าทางด้านการตลาดของเนื้อหาดิจิทัล หรือ ดิจิทัลคอนเทนท์ (Digital content) มีทั้งหมด 3 ประเภทประกอบด้วย แอนิเมชั่น(Animation) เกมส์(Game) และ E-Learning คิดเป็นมูลค่าทางด้านการตลาดรวมกันประมาณ 16,467 ล้านบาท แยกเป็นตลาดเกมส์ (Game)ประมาณ 8,806 ล้านบาท ตลาดแอนิเมชั่น(Animation) 5,623 ล้านบาท และตลาด E-Learning 2,038 ล้านบาท

ขณะที่มูลค่าตลาดของการสร้างภาพเคลื่อนไหวและคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (CG ) มีมูลค่าการตลาดอยู่ประมาณ 424 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น CG สำหรับภาพยนตร์โฆษณา 241 ล้านบาท และ CG สำหรับภาพยนตร์ 183 ล้านบาท โดยประเมินว่ากลุ่ม CG จะได้รับอานิสงค์จากดิจิทัลทีวีมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทยต้องการลงทุนและพัฒนาการสร้างภาพเคลื่อนไหวทั้งในรูปของคอมพิวเตอร์กราฟิค(CG) และ เทคนิคพิเศษ ( VFX) อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2557 นี้ในส่วนสื่อโทรทัศน์ จะมีการเติบโตของคอนเทนต์เพิ่มขึ้น 2% หรือคิดเป็นมูลค่า 70,800 ล้านบาท

“การเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์ไทย สู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล 48 ช่อง ซึ่งในจำนวนนี้ 3 ช่องเป็นช่องสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่การผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ทำให้ตอนนี้มีการนำเข้าการ์ตูนจากต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้มีจำนวนพอเพียงตามช่วงเวลา จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างคาร์แรคเตอร์ใหม่ๆ และการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ๆ ให้กับช่องทีวีที่มีความต้องการการ์ตูนเพิ่มขึ้น”

แต่เนื่องจากโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการส่งสัญญาณภาพที่มีความละเอียดสูง(High-Definition หรือ HD) โดยมีขนาดภาพที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ดังนั้นในส่วนของการผลิตงานการ์ตูนแอนิเมชัน การสร้างภาพเคลื่อนไหวทั้งในรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ (CG) และเทคนิคพิเศษ (VFX) จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มในหลายๆด้านทั้งทางด้านบุคลากร อุปกรณ์และเทคโนโลยี

“หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน วิธีการก็ยากขึ้นเรื่อยๆ การทำงาน CG แต่ละครั้งไม่มีวิธีการทำสำเร็จรูป เราจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบ รีเสิร์ชและคิดค้นวิธีการทำให้ได้อย่างที่ต้องการ งานด้านนี้จึงต้องใช้ทักษะและฝีมืออย่างสูง” นายนิธิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายธนัช จุวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด ในฐานะคนทำงานเบื้องหลังเปิดเผยว่า “ยิ่งภาพคมชัดมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเห็นรายละเอียดมาก จากเดิม 720x576 กลายมาเป็น 1920x1080 ภาพใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ลูกค้าก็ต้องการงานที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น การทำงานยิ่งต้องปราณีตขึ้น แต่เราก็ต้องลงทุนเพิ่ม ทั้งคอมพิวเตอร์ เครื่องเรนเดอร์ เซิร์ฟเวอร์ รวมถึงระบบจัดเก็บข้อมูลด้วย”

สอดคล้องกับ นายวรนันท์ ธรรมภักดิ์โภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิจิตอล เมจิค เอฟเฟ็ค เฮาส์ จำกัด ที่ให้ข้อมูลว่า “งานมากขึ้น แต่การทำงานก็ต้องละเอียดขึ้น ใช้เวลามากขึ้น คนทำงานเองก็ต้องพัฒนาทักษะและฝีมือตนเองให้สูงขึ้นตามไปด้วย และแน่นอนยังมีความต้องการคนทำงานเบื้องหลังอย่างพวก Computer Graphic เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ ก็เลยต้องเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย”

การมาของทีวีดิจิตอลจึงส่งผลให้ปริมาณของงานในภาคธุรกิจดังกล่าวจะมีเพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสในการขยายงานและสร้างให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นอีกมาก รวมทั้งความต้องการบุคลากรในสาขานี้ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งการดึงตัว และการรับนักศึกษาที่จบใหม่เข้าทำงาน แต่ทางสมาคมฯ เองมีความเป็นห่วงในเรื่องของงบประมาณการผลิต ที่ดูจะไม่สอดคล้องต่อระยะเวลาในการทำงานและปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว ระยะเวลาและงบประมาณที่มีให้กลับน้อยลงหรือเท่าเดิม ในขณะที่ผู้ผลิตงานต้องใช้เวลาทุ่มเท ใส่ใจและพิถีพิถันมากขึ้น และต้องลงทุนกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ สมาคมฯ ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการมีส่วนร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก (Creative Economy) ตลอดจน มีหน้าที่ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในหลายด้าน ทั้งการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ การสร้างมาตรฐานทั้งทางด้านคุณภาพ ราคา การพัฒนาบุคลากร รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ และเป็นตัวกลางในการเชื่อมความต้องการของภาคเอกชนไปยังภาครัฐ และมีส่วนช่วยในการสร้างการรับรู้ในระดับประชาชนทั่วไปต่อภาคอุตสาหกรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?