กระทรวงดิจิทัลฯ ดันโครงการสำคัญส่งเสริม SMEs หนุนผู้ประกอบการใช้ดิจิทัลเพิ่มศักยภาพการแข่งขันตลาดทั้งในและต่างประเทศ

พฤหัส ๐๙ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๒๒
กระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ใช้โครงการสำคัญของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดฯ สนับสนุนทั้งเชิงนโยบายและแผน ด้านมาตรการสนับสนุนทุน ด้านแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อม แรงจูงใจ และให้ความรู้ ผลักดันผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับ "แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ให้บริการและติดต่อประสานเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SMEs อย่างครบวงจร" ว่า ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเชิงนโยบายและแผน ด้านมาตรการสนับสนุนทุน ด้านแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านการสร้างสภาพแวดล้อม แรงจูงใจ และให้ความรู้

โดยการสนับสนุนเชิงนโยบายและแผน กระทรวงฯ ดำเนินการเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ตามแผนที่กำหนดไว้ คือ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปฏิรูปการทำธุรกิจ 2) เพิ่มโอกาสทางอาชีพเกษตรและการค้าขายสินค้าชุมชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน 3) เร่งสร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Startup) เพื่อเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และ 4) พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้

ด้านมาตรการสนับสนุนทุน กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดำเนินการ 2 ประเภท คือ 1) ประเภทมาตรการช่วยเหลือ หรืออุดหนุน ได้แก่ (1) การเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (2) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (3) การร่วมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (4) การจัดกิจกรรมส่งเสริม หรือประกวดการสร้างความตระหนัก การจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (6) การพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และ (7) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท และ 2) ประเภทคูปองดิจิทัล ได้แก่ (1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (2) การขยายตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (3) การจัดทำหรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และ (4) การรับรองมาตรฐานด้านดิจิทัล

ด้านแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้อง ได้นำโครงการที่กระทรวงฯ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดฯ มาสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ อาทิ การนำโครงการเน็ตประชารัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับชุมชน โครงการ SMEs Go Online ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ e-Commerce หน้าใหม่ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สนับสนุนมาตรการและแนวทางที่จะช่วยให้เกิดความสะดวก สร้างโอกาสในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป้าหมาย 21,600 ราย โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กิจกรรม Village e-Commerce ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกิจ โดยมีศูนย์ให้บริการเพื่อขอคำแนะนำ ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการอื่นๆ ได้ตามรูปแบบการให้บริการของศูนย์ดิจิทัลชุมชน โครงการดิจิทัลชุมชน ด้าน E-Commerce (ระบบบริหารงาน ณ จุดขาย หรือ Point of Sale : POS) ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่จะสนับสนุนการขายสินค้าและบริการท้องถิ่นในรูปแบบออนไลน์ โดยอาศัยศักยภาพของไปรษณีย์ไทย จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งระบบร้านค้าออนไลน์ หรือที่ทำการไปรษณีย์ POS การจัดส่งสินค้า ด้วย e-Logistics รับชำระเงินด้วย e-Payment

ด้านการสร้างสภาพแวดล้อม แรงจูงใจ และให้ความรู้ ประกอบด้วย การปรับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเดิมเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน พร้อมจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ เพื่อให้บริการด้านดิจิทัล ข้อมูลข่าวสารเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวบรวมข้อมูลข่าวสารชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งจัดกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ เช่น การเปิดร้านค้าออนไลน์ การปรับปรุงสินค้า/บริการ เป็นต้น ดำเนินมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ระดับ SMEs ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ 100% สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เมื่อซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับ depa ซึ่งภาษีที่หักต้องอยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพิ่มเติมถึงคำว่าลดภาษี 200% ว่าหัก 100% เป็นค่าใช้จ่าย และหักค่าเสื่อมได้อีก 3 ปี รวมเป็น 200% รวมถึงการจัดกิจกรรมสนับสนุนและให้ความรู้แก่ SMEs ตามภูมิภาคต่าง ๆ

ทั้งนี้ การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของกระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย รวมถึงผลักดันให้กลุ่มธุรกิจ SMEs ทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมดิจิทัลของภูมิภาค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๕๙ ผู้บริหารเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมเปิดการแสดงแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติ ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์มรดกโลกของไทย ในงาน International Folklore
๑๐:๓๐ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. MOU โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ พัฒนาจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี
๑๐:๑๕ Lexar แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ PRO WORKFLOW และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในงาน NAB
๑๐:๔๒ CITE DPU ปูทางสู่ยุคข้อมูลขนาดใหญ่ จัดอบรม CKAN ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม
๑๐:๑๖ โมทีฟ ดีเวลลอปเม้นท์ จับมือ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ รุกตลาดย่านบางปู กับโครงการ โมติ ทาวน์ (สุขุมวิท - แพรกษา) ทาวน์โฮมสไตล์โมเดิร์น นอร์ดิก เริ่มต้นเพียง 2.69
๑๐:๑๕ CHINA ADMISSION DAY
๑๐:๔๕ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เปิดประมูลสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ครั้งที่ 3/2567 จำนวน 17 อัตรา กรุงเทพมหานคร
๑๐:๔๖ โอซีซี ร่วมส่งมอบความสุขในวันสงกรานต์ ปี 2567
๑๐:๒๗ กรุงเทพโปรดิ๊วส นำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด หนุนปฏิบัติการ 9 มาตรการของรัฐบาล สู้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 บูรณาการคู่ค้าพันธมิตร
๐๙:๔๙ การเคหะแห่งชาติ คิกออฟ กิจกรรม สำนักงานสีเขียว Green office