รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดงาน “ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”

ศุกร์ ๐๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๕:๓๘
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เปิดงาน "LANNA 4.0 Northern Innovation Re-Profile: ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ชมวิทยาการความก้าวหน้าเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของอุทยานฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่าย พร้อมร่วมพิธีอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการยกระดับภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พิธีบันทึกภาพความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ก่อนทิ้งท้ายร่วมกับนักวิจัยมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวก่ำล้านนาสายพันธุ์ใหม่แก่วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

เวลา 9.00 น. ดร.สุวิทย์ฯ นำผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม) ร่วมงาน "LANNA 4.0 Northern Innovation Re-Profile: ลานนา 4.0 พลิกโฉม เมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" โดยเป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม "พลังคนรุ่นใหม่ ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไปพร้อมกัน" โดยมีนักธุรกิจ นักวิจัยรุ่นใหม่ และนักศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมรับฟังจำนวนกว่า 500 คนพร้อมร่วมพิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการยกระดับภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชื่อมโยงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program: IRTC) รวมทั้งดำเนินการด้านจัดทำสัญญาขออนุญาตใช้สิทธิระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย

พิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเอนไซม์ไลเปสสำหรับสัตว์กระเพาะเดี่ยว ให้แก่บริษัท เอเชียสตาร์ แอนนิมัล เฮลธ์ จำกัด ผลงานการวิจัยจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก สังกัดภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากอาหารให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยไขมันให้กลายเป็นกรดไขมันที่สัตว์สามารถดูดซึมได้ ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ ทำให้สัตว์แข็งแรงขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ นับว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) ในการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อลดต้นทุนเศรษฐกิจในระยะยาว

พิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิกรรมวิธีและสูตรการผลิตลำไยอบกึ่งแห้งรูปแบบใหม่ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรบ้านล่ามช้าง จังหวัดลำพูน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นเจ้าของเทคโนโลยีผ่านงานวิจัยจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ สังกัดสาขาวิชาเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ลำไยอบกึ่งแห้งด้วยกระบวนการออสโมติกดีไฮเดรชัน (osmotic dehydration) เพื่อให้ได้เนื้อลำไย ที่มีลักษณะอ่อนนุ่มน่ารับประทาน นับเป็นการสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องตลาด อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ นับเป็น CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ USR (University Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัย) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

พิธีบันทึกภาพความร่วมมือด้วยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างบริษัท สยามโนวาส จำกัด และปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ด้วยการคัดเพศน้ำเชื้อด้วยปฏิกิริยาไซโตทอกซิคจากโมโนโคลนอลแอนติบอดีของโคเนื้อ สายพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเพศวัวที่ต้องการให้สูงขึ้น วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.เพทาย พงษ์เพียจันทร์ และ ดร.กรวรรณ ศรีงาม นักวิจัยจากภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวสามารถเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในการผสมพันธุ์ ทั้งนี้น้ำเชื้อคัดเพศโค (Cattle Sexed Semen) ถูกบรรจุลงในบัญชีนวัตกรรมไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 นับเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากภาคการศึกษาและภาครัฐบาลในการมีสินค้านวัตกรรมเป็นทางเลือกในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ตอกย้ำถึงการสร้างความร่วมมือแบบ Triple Helix (ภาครัฐบาล ภาคการศึกษา ภาคเอกชน) แก่ระบบนวัตกรรมของประเทศไทยอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ยังได้จัดให้มี พิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวก่ำล้านนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและบริการอื่นๆ ภายใต้โครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือแก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ข้าวเหนียวดำดอยสะเก็ด จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ก่ำหอม มช., ก่ำเจ้า มช. 107, และก่ำดอยสะเก็ด ผลงานการปรับปรุงพันธุ์โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย และคณะนักวิจัย จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมวิจัยกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรเชียงใหม่ จำกัด เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าว สายพันธุ์ท้องถิ่นโดยยกระดับข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองสู่การเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและประเทศชาติตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ก่อนนำชมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านบูธจุดแสดงผลงานของหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ และเครือข่าย Startup ที่ใช้บริการจากอุทยานฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4