กับดัก 5G และบทเรียนของทีวีดิจิทัล ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

จันทร์ ๒๙ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๕:๔๒
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ธุรกิจทีวีดิจิทัลโดยรวมไม่ประสบความสำเร็จ และความนิยมดูรายการผ่านจอทีวีลดลงมาก อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีออนไลน์ที่ช่วยให้เราสามารถดูรายการผ่านหน้าจอมือถือ, แท็บเล็ต หรือแม้แต่สมาร์ททีวีได้ในเวลาที่เราต้องการ โดยสามารถกดข้ามโฆษณาที่ไม่อยากดูได้

หลายฝ่ายสรุปว่า ทีวีดิจิทัลในประเทศไทยคลอดมาในยุคขาลงของธุรกิจทีวี ยิ่งมีช่องรายการเพิ่มจากเดิม 6 สถานีมาเป็น 24 สถานี ทำให้รายได้ถูกหารเฉลี่ยลดลงกันถ้วนหน้า สิ่งที่ขาดหายไปในการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกมาเป็นทีวีดิจิทัลคือการประเมินสภาพตลาด ธุรกิจเป็นขาลงแต่จำนวนช่องรายการกลับเพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนไม่สอดคล้องกับสภาพตลาดที่แท้จริง สรุปแบบชาวบ้านคือ ทีวีดิจิทัลเกิดผิดเวลา

ขณะนี้เราก็กำลังเร่งรีบก้าวสู่ 5G จนใช้ ม. 44 ทำคลอดการจัดสรรคลื่น 700 MHz แต่เราประเมินสภาพตลาดดีแล้วจริงหรือ การประเมินที่ผิดพลาดจะทำให้ธุรกิจ 5G เกิดผิดเวลาและอาจประสบชะตากรรมไม่ต่างจากทีวีดิจิทัลก็เป็นได้

การพยายามปั้นตัวเลขว่า ไทยจะได้ประโยชน์จาก 5G เป็นมูลค่า 2.33 ล้านล้านบาทใน 15 ปีข้างหน้า ทำให้ 5Gหอมหวานจนลืมพิจารณาสภาพความจริงในปัจจุบันไปหรือไม่

เมื่อเดือนกันยายน 2018 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU ได้เผยแพร่เอกสารในช่วงการประชุม ITU Telecom World เตือนว่า "The Needs for 5G is not immediate" - ความจำเป็นของ 5G ไม่ใช่ในขณะนี้ หากจะทำคลอด5G ควรมี Spectrum Roadmap ที่ชัดเจน ควรมีการทดลองทดสอบการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมให้เกิดความต้องการใช้งาน และรายได้หลักของ 5G นั้นเกิดในเขตเมือง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล คุณภาพบริการในเขตชนบทจึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง และที่สำคัญ 4G ยังเป็นบริการที่ต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านความครอบคลุมและคุณภาพบริการ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ GSMA ที่ประมาณว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า 4G ยังมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40% และจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า 4G ในปัจจุบันยิ่งขึ้นไปอีก

GSMA ยังได้เผยแพร่รายงานในเดือนธันวาคม 2018 ว่า เมื่อประมาณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับจาก5G ในอีก 15 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และ 25% เกิดจากการใช้งานคลื่นความถี่สูงมากหรือ mmWaveเราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคลื่นย่านต่างๆ ของเทคโนโลยี 5G อย่างครบถ้วน มิเช่นนั้น 5G อาจล้มเหลว

การพยายามเร่งจัดสรรคลื่น 700 MHz สำหรับ 5G ในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำให้เกิดสภาพการเกิดผิดเวลา เพราะคลื่น 700 MHz เหมาะกับการเพิ่มความครอบคลุมสัญญาณ ไม่ใช่การเพิ่มความเร็วระดับกิกะบิตหรือการตอบสนองที่ฉับไว จึงไม่ทำให้ไทยก้าวสู่ยุค 5G และปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์หรือบริการ 5G บนคลื่นนี้อย่างแท้จริง แต่กลับทำให้ค่ายมือถือแบกต้นทุนค่าคลื่นล่วงหน้าหลายปี นอกจากนี้ ไทยยังไม่เคยมีการทดลองทดสอบ 5G บนคลื่น 700 MHz เลย

ความเร็วและการตอบสนองที่ฉับไวของ 5G จะเกิดจากคลื่นย่าน C-band และ mmWave เป็นหลัก เพราะมีปริมาณคลื่นความถี่มากกว่า โดยปริมาณคลื่นที่เหมาะแก่การให้บริการ 5G ในช่วง C-band อยู่ที่ 80-100 MHz และในช่วงmmWave อยู่ที่ 800-1000 MHz ต่อผู้ให้บริการ 1 ราย ซึ่งเทียบกับย่าน 700 MHz ที่ไทยจะจัดสรรนั้นจะได้กันไม่เกินรายละ2 X 15 MHz

การจะนำประเทศไทยก้าวสู่ 5G โดยเป็นที่หนึ่งในอาเซียนอย่างแท้จริง คือการเตรียมคลื่น C-band และ mmWaveและจัดทำ Roadmap 5G ให้พร้อมจัดสรรภายในปี 2021 และต้องประเมินสภาพตลาดที่แท้จริงว่า ความต้องการใช้งาน 5Gมีเพียงพอและคุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อใด เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนจมก่อนเวลา จนนำไปสู่ปัญหาการประกอบธุรกิจ

การทยอยปล่อยคลื่นทีละย่านความถี่สู่ตลาดอย่างสะเปะสะปะ จะทำให้อุตสาหกรรมพิกลพิการ และได้ 5G เทียมที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เมื่ออุตสาหกรรมแบกต้นทุนจากการจัดสรรคลื่นโดยขาดการวางแผน ในอนาคตก็จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือไม่มีวันจบสิ้น เราจึงต้องประเมินสภาพตลาดและออกแบบตลาด 5G ให้เหมาะสมก่อนลงมืออย่างรีบเร่ง

ม. 44 ที่ออกมาจึงไม่ได้แก้ปัญหาการติดกระดุมผิดเม็ด แต่อาจทำให้กระดุมติดผิดเม็ดมากขึ้นไปอีก และเพื่อรักษาหน้าผู้ออกคำสั่ง เราอาจจะได้ 5G เทียมๆ บนคลื่น 700 MHz ใช้งานไปพลางๆ ก่อน โดยที่คุณภาพไม่ได้แตกต่างจากเดิมเลย เพื่อที่จะประกาศได้ว่า เราเป็น 5G ก่อนใครในอาเซียน

ทั้งหมดนี้คือกับดักที่เราสร้างขึ้นมาเอง และจะติดกับดักนั้นเองอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ถ้ายังไม่เร่งแก้ไข

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ