จุฬาฯ เปิด "นวัตกรรมอวัยวะเทียมระดับโลก" ฝีมือคนไทย

ศุกร์ ๐๙ เมษายน ๒๐๒๑ ๑๕:๒๗
จุฬาฯ จัดเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 4 "นวัตกรรมอวัยวะเทียมระดับโลกฝีมือคนไทย" โชว์ศักยภาพโดยสองนักวิจัย จากสองสตาร์ทอัพ ภายใต้ CU Engineering Enterprise คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ช่วงเช้าวันนี้ (ศุกร์ที่ 7 เมษายน 2564) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มภารกิจสังคมสัมพันธ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ได้จัดงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 4 "นวัตกรรมอวัยวะเทียมระดับโลกฝีมือคนไทย" ในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live: Chulalongkorn University เพื่อนำเสนอนวัตกรรมอวัยวะเทียมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์พิเศษ ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาฯ และได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนา

วิทยากรในงานเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร จากภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อ.นพ.ชินดนัย หงสประภาส จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยประเด็นสำคัญของการเสวนา ได้แก่ ความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมอวัยวะเทียมทั้งมิติด้านการแพทย์ สังคม และโอกาสทางธุรกิจ พร้อมติดตามความคืบหน้าของนวัตกรรมอวัยวะเทียมระดับโลกที่ดำเนินงานโดยบุคคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือข่าย

ผศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมอวัยวะเทียมจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ Center of Excellence for Prosthetic & Orthopedic Implant ได้กล่าวถึงนวัตกรรม "เท้าเทียมไดนามิก sPace" ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่ทางภาควิชาได้พัฒนาขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิก (clinical trial) ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นเท้าเทียมที่มีข้อเท้า ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติกว่าเท้าเทียมที่ผลิตจากไม้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้นำเสนอตัวอย่างผลิตภัณฑ์ พร้อมกรณีศึกษาที่ได้ทดลองใช้แล้ว ซึ่งทางภาควิชา ตั้งใจจะผลิตเป็นเท้าเทียมไดนามิกแบบ premium เพื่อจำหน่ายภายใต้ start up ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (CU Engineering Enterprise) รวมถึงการผลิตเพื่อนำไปใช้ในโครงการเท้าเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทำร่วมกับ รพ.จุฬา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วย

"ประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 40,000 กว่าราย และ 99% ของทั้งหมดใส่เท้าเทียมที่คุณภาพไม่ค่อยจะดีนัก การนำเข้าเท้าเทียมแบบ premium ก็มีราคาแพง เข้าถึงได้ยาก ทางศูนย์ของเราซึ่งเน้นเรื่องของการออกแบบและพัฒนากายอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ จึงพัฒนาเท้ารุ่น premium คือ sPace นี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้พิการสามารถเดินและวิ่งได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยเน้นให้มีความแข็งแรง มีมุมข้อเท้าให้สามารถหมุนหรือขยับ และสะสมพลังงานได้ ซึ่งผ่านการทดลองทางการแพทย์และการทดสอบจนได้มาตรฐาน ISO 10328 จากประเทศเยอรมันแล้ว" ผศ.ดร.ไพรัช กล่าวถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรม

ด้าน ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร จากภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Meticuly ได้นำนวัตกรรม กะโหลก ใบหน้า ขากรรไกร และกระดูกไทเทเนียม ที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยี 3D Printing มานำเสนอ โดยเน้นไปที่กระบวนการการผลิตกระดูกเทียมที่มีความแข็งแรง ออกแบบด้วยความแม่นยำสูง เพื่อให้เข้ากับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของคนไข้ ช่วยยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างทัดเทียม ทั้งนี้ ผศ.ดร.เชษฐา กล่าวว่า ปัจจุบัน ได้มีการนำผลิตภัณฑ์อวัยวะเทียมจากบริษัท ไปใช้แล้วกว่า 350 ราย และได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ปัจจุบัน Meticuly ได้มุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนานวัตกรรม และความเป็นไปได้อื่นๆ ในการใช้เทคโนโลยี 3D Printing เพื่อการผลิตกระดูกเทียมในอนาคต

"เทรนด์ในเรื่องของการรักษาทุกวันนี้ ทุกที่ในโลกนี้จะเน้นไปการเข้าถึงได้ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของความแม่นยำในการรักษาด้วย แนวโน้มจึงมีความเป็น Personalization treatment คือมีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น เพราะแต่ละคนก็มีสรีระหรือความต้องการที่ต่างกัน ในเรื่องของการออกแบบและวัสดุ จึงต้องมีการศึกษาในเรื่องของความปลอดภัยมากๆ เพื่อให้มาตรฐานในระดับนานาชาติ" ผศ.ดร.เชษฐา กล่าว

อ.นพ.ชินดนัย หงสประภาส จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงปัญหาและความจำเป็นของการใช้นวัตกรรมกระดูกเทียมในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ซึ่งปัจจุบันทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก็ได้มีการนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยด้วย

"นวัตกรรมชิ้นส่วนทดแทนกระดูก มีประโยชน์อย่างมากในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ปกติแล้วการรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเป็นหลัก โดยต้องผ่าตัดกระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็งออกไปและต้องหาวัสดุมาทดแทนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ วัสดุที่ได้รับการยอมรับกันคือการใช้ข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยใช้งานแขนหรือขาได้ทันที แต่วัสดุดังกล่าวต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาที่สูงมาก รวมถึงไม่สามารถเบิกจ่ายจากสิทธิ์การรักษาได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาวิธีนี้ นวัตกรรมชิ้นส่วนทดแทนกระดูกที่ทางภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น จึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงวัสดุทดแทนกระดูกที่มีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุผล"

อ.นพ.ชินดนัย ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีแพทย์ศัลยกรรมหลากหลายสาขาจากหลายสถาบันได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้เป็นจำนวนมาก ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกเพียงอย่างเดียว อาทิเช่น สามารถใช้รักษาผู้ป่วยกระดูกหัก ผู้ป่วยโรคทางระบบหูคอจมูก รวมถึงผู้ป่วยศัลยกรรมตกแต่งที่ต้องใช้วัสดุทดแทนกระดูกบริเวณใบหน้าอีกด้วย โดยทางภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในผู้ป่วยจำนวนกว่า 10 ราย และได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๕๓ MOTHER ปลื้ม! โรดโชว์ออนไลน์กระแสตอบรับดี
๑๘:๓๐ PRM มั่นใจศักยภาพปี 68 โตเด่น รายได้มั่นคง 70% จากสัญญาระยะยาว
๑๘:๒๓ NGG JEWELLERY ทุ่มงบกว่า200 ลบ. รับตรุษจีน เดินหน้าอัดแคมเปญดันยอดเต็มสูบ ล่าสุด! จับมือเซ็นทรัลโชว์เครื่องประดับเพชรและทองสุดอลังการมูลค่า 108
๑๗:๔๙ Triple Single ให้กลิ่นอินเตอร์ อารมณ์ ฟิลนอก แต่ยังเน้นความเป็นไทย!! EP แรกเปิดปี จากแรปสตาร์ SPRITE
๑๗:๓๙ มกอช. อบรมความรู้เกษตรกรศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่
๑๗:๐๐ ศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ มอบดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณวิรวัฒน์ ทังสุบุตร เนื่องในโอกาสเปิดร้านบุญตงกี่ (Boon Tong
๑๗:๔๘ ไทยฮอนด้า ประกาศแผนงานมอเตอร์สปอร์ต 2025 ก้อง-สมเกียรติ ลุย MotoGP ชิพ-นครินทร์ สู้ศึก ARRC รุ่น ASB1000
๑๗:๐๐ อมตะ ฉลอง 50 ปี Eternal Dreamsผู้นำเมืองอุตสาหกรรมครบวงจร โชว์ศักยภาพนิคมฯรับลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคผสานความยั่งยืน
๑๗:๐๒ บี.กริม เพาเวอร์ ปลื้มได้รับรางวัล สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต ตอกย้ำค่านิยมองค์กร มุ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับพนักงาน
๑๗:๐๐ อิงฟ้า-ชาล็อต จูงมือนำขบวนแห่ และ พยานรัก นฤมิตไพรด์ บันทึกประวัติศาสตร์ จัด-จด คู่สมรสเท่าเทียม คู่จริง ซิลวี่-มิ้น