หลอดไฟปรับทัศนวิสัย ฝีมือนักวิจัยจุฬาฯ ลดอุบัติภัยคนวัยชราและผู้มีสายตาเลือนราง

ศุกร์ ๒๓ เมษายน ๒๐๒๑ ๑๔:๕๘
LED หลอดไฟรุ่นใหม่ล่าสุด นวัตกรรมจากความร่วมมือข้ามรั้วจุฬาฯ ส่องแสงมากกว่าความสว่าง แยกความต่างระหว่างแม่สี เพิ่มคุณภาพการมองเห็น ลดการเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุ เล็งใช้งานจริงพฤษภาคมนี้

หากสมาชิกในบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุมีปัญหาเดินชนประตูและเฟอร์นิเจอร์อยู่บ่อยๆ จนเกิดรอยฟกช้ำบริเวณนิ้วเท้า หัวเข่า หรือหัวไหล่ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าสิ่งนั้นมาจากความใจลอยเดินไม่ระวัง หรือจากการวางทิ้งสิ่งของระเกะระกะ เพราะเหตุอาจมาจาก 'แสงสว่าง' ในบ้านที่ไม่เหมาะสมก็เป็นได้

"ผู้สูงวัยและผู้มีปัญหาการมองเห็นที่เรียกว่า "ผู้ที่มีสายตาเลือนราง" มีปัญหาการแยกแยะความสว่าง (contrast) ของพื้นผิววัตถุหรือระดับความสูงต่ำของทางเดิน ซึ่งการมองเห็นไม่ชัดเจนส่งผลต่อการเดินและการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดการสะดุดล้มและเกิดอุบัติเหตุได้" รองศาสตราจารย์ ดร.พิชญดา เกตุเมฆ ตัวแทนคณะนักวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยที่มาของงานวิจัย "การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเหลือการดำรงชีวิตด้านการมองเห็นสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีสายตาเลือนราง" สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นักวิจัยจากหลายสาขาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกันดำเนินงานวิจัยประกอบด้วยภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมภาคีเครือข่ายจากคณะแพทย์โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์และบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

"จากการวิจัยพบว่า 'คลื่นแสงสีขาว' จากการผสมความยาวคลื่นแสงของสีทั้งสามได้แก่ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ช่วยเพิ่มขยายความต่างระดับสีของพื้นผิวต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีสายตาเลือนรางมองเห็นได้อย่างชัดและเคลื่อนไหวได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มแสงสีขาวที่เพิ่มความสามารถในการขยายความแตกต่างของสีบางคู่ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นด้วย"

ข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาหลอดไฟ LED แห่งอนาคต ที่ช่วยลดข้อจำกัดการมองเห็นของกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวและพร้อมขยายผลสู่สาธารณะ

"เราผลิตหลอดไฟ LED ชนิดยาวสำเร็จแล้ว ขณะนี้กำลังขยายการผลิตไปสู่หลอดไฟชนิดอื่นที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้งานมากขึ้น โดยมีกำหนดทดสอบใช้งานจริงในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์ฟื้นฟูการมองเห็น โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ และบ้านพักผู้มีสายตาเลือนราง ซึ่งในส่วนนี้มีกระบวนการด้านจริยธรรมการวิจัยเพื่อรองรับงานวิจัยว่าสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย"

นอกจากผลงานหลอดไฟอัจฉริยะแล้ว รศ.ดร.พิชญดา ยังเผยการโครงการต่อยอดซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ แอปพลิเคชันจำลองการมองเห็นของผู้มีสายตาเลือนราง ซึ่งตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 นิยามผู้ที่มีสายตาเลือนราง (low vision) ว่าเป็นผู้มีทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเพียงระยะ 20 ฟุต ในขณะที่ผู้มีสายตาปกติจะเห็นได้ชัดถึงระยะ 70 ฟุต

"แอปพลิเคช้นนี้จะจำลองการมองเห็นของผู้ที่มีสายตาเลือนราง ทำให้นักออกแบบสามารถเห็นมุมมอง จุดอับ และเลือกสีที่เหมาะสมที่ทำให้วัตถุมีมิติและความแตกต่างที่สังเกตได้อย่างชัดเจน โดยแอปพลิเคชันทำงานร่วมกับกล้องมือถือเพื่อถ่ายรูปมุมมองพื้นที่ที่ต้องการออกแบบ นักออกแบบจะได้สร้างสรรค์เครื่องเรือนเครื่องใช้ภายในบ้านที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับทุกช่วงวัยของทุกคนในบ้าน" รศ. ดร.พิชญดา อธิบาย

นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม เช่น Guide Light หลอดไฟนำทางเวลากลางคืน ที่มีการผสมสีและปรับระบบการส่องสว่างใหม่ ป้องกันการรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุหากต้องลุกไปเข้าห้องน้ำกลางดึก และ Color palette ชุดเทียบคู่สีและเทรชโชลของค่าความสว่าง ค่าความอิ่มตัวและค่าความต่างสี เป็นการจับคู่สีที่ทำให้เห็น Contrast อย่างชัดเจน โดยมีการบอกค่าสีและบอกเกณฑ์การเลือกคู่สี เหมาะสำหรับนักออกแบบเครื่องใช้ภายในบ้าน เพื่อเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้แก่ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีสายตาเลือนราง

ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ