นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "75 ปีพรรคการเมืองไทยท่ามกลางพลวัตเศรษฐกิจการเมืองโลก" โดยมีเนื้อหาสรุปคือ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนถือว่ายาวนานมาก หากทบทวนประวัติศาสตร์ โลกใบนี้นับตั้งแต่ผ่านสงครามโลก ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาด ท่ามกลางปัญหาต่างๆจนผ่านมาถึงวันนี้ โลก มีการพัฒนาการไปมาก และ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน อาจกล่าวว่าเป็นความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่มั่นคงซึ่งไม่มีพรรคการเมืองประเทศไหนเดินตามรอยได้
ที่สำคัญ 100 ปีแห่งความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่านเรื่องราวที่โลกจะต้องจดจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ความยากจน และไม่นานจีนจะยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันบทบาทของจีนต่อโลกใบนี้กำลังถูกจับตามองจากเวทีโลกว่ามีศักยภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว นั่นคือความสำเร็จที่น่าชื่นชมในวันนี้และอนาคต
นายอภิสิทธิ์ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นหัวข้อ 75 ปีพรรคการเมืองไทยว่า พรรคการเมืองไทยมีจำนวนมาก มีเกิดใหม่ มีล้มเลิกไป เพราะสังคมไทยมีการวิจารณ์ที่รุนแรง แต่บทบาทการเมืองไทยก็มีไม่น้อยเลยในการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญการมีระบบตัวแทนประชาชนยิ่ง หลังการปกครอง พ.ศ. 2475 นักการเมืองมีบทบาทสำคัญยิ่ง ยุคนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็มีการถ่วงดุลในฐานะเป็นฝ่ายค้าน
ต่อมาในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองก็มีเสถียรภาพในการพัฒนาประเทศมาก โดยนำเอาปัญหาของประชาชนในการคลี่คลายปัญหา มีนโยบายหลายเรื่องที่แก้ปัญหาและพัฒนาสู่เป้าหมายที่ตั้งที่ไว้หลายเรื่องจนสำเร็จในช่วงสั้นๆ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าหากมองอนาคตของพรรคการเมืองในอีก 100 ปีจะเป็นช่วงท้าทายมากไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จะเผชิญความท้าทายอีกมากมาย ดังนั้นโครงสร้างของพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบไหนก็แล้วแต่จึงต้องมองทุกมิติ เพราะปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาแบบไร้พรมแดน ที่มุ่งการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าด้วยกันทั้งนั้น ไม่แตกต่าง
นายหยาง ซิน อุปทูต รักษาราชการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "100 ปีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและแผนการพัฒนาจีนตามแนวคิดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง" มีเนื้อหาพอสรุปประเด็นสำคัญคือ พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มต้นก่อตั้งพรรค มีสมาชิกเพียง 50 คน วันนี้มีสมาชิกมากถึง 90 ล้านคน และมีภาคีเครือข่าย 464,000 องค์กร ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตจนก้าวขึ้นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน ประเทศจีนมีการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการสำรองเงินตรามากสุดในโลก มีเทคโนโลยี ไฮเทค มากที่สุดในโลก มีรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางยาวที่สุดในโลก มีสถานีอวกาศที่ขึ้นไปแล้ว และความสำเร็จที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรื่องมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2012-2020 โดยเป้าหมายสำคัญคือการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งผลให้คนจีน 98 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน อีก 950 ล้านคนกำลังจะพ้นจากความยากจน และอำเภอยากจน 832 แห่งหลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด พร้อมกับขจัดความยากจนเชิงสมบูรณ์และความยากจนแบบเชื่อมติดเป็นผืนรวมในระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสร้างสังคม กินดี อยู่ดี ถ้วนหน้าพร้อมๆไปกับสร้างสังคมนิยมสมัยใหม่
อย่างไรก็ตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2020-2035 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะสร้างประเทศให้ทันสมัยให้เข้มแข็ง ที่สำคัญพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นพรรคเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของโลก สร้างนโยบายการต่างประเทศที่เป็นสันติภาพ
อุปทูตจีนกล่าวว่าอีก 100 ปีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับแนวคิดการพัฒนาใหม่ ประกอบด้วย 1.นวัตกรรม สมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดกว้างและการแบ่งปัน 2.เน้นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง 3.สร้างประเทศให้มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนรูปแบบการพัฒนาใหม่คือ อาศัยการหมุนเวียนภายในประเทศเป็นแกนหลักและการหมุนเวียนภายในและภายนอกประเทศเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของโลก โดยเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลก ผู้สนับสนุนการพัฒนาของโลก และผู้พิทักษ์ระเบียบระหว่างประเทศ
นายหยาง ซิน กล่าวว่าความสัมพันธ์ของประเทศไทยและประเทศจีน วันนี้ครบรอบ 46 ปีอย่างเป็นทางการแล้ว รู้สึกยินดียิ่ง ที่ผ่านมาไม่ว่าการเชื่อมสัมพันธ์ทางจิตใจ การค้า การลงทุน ในบริบทด้านเศรษฐกิจ ทั้งไทยและจีนแนบแน่นด้วยดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ ปี 2563 มูลค่าการค้าจีน-ไทย 98,630 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5% คำขอรับการส่งเสริมลงทุนจากจีนมีจำนวน 164 โครงการเงินลงทุน 31,500 ล้านบาท จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทย และไทยเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 3 ของจีนในอาเซียน ที่สำคัญจีนยินดีที่จะร่วมพัฒนาด้านการลงทุนกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการร่วมลงทุนกับไทยในโครงการ EEC
ต่อจากนั้นเป็นช่วงของการเสวนาหัวข้อ "46ปีความร่วมมือไทย-จีนกับแนวคิดประชาคมแห่งผลประโยชน์ร่วม" วิทยากรประกอบด้วย นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ประธานศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสายไทย-จีน สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล นายกสมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน และนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
นายกร ทัพพะรังสี กล่าวว่าสัมพันธ์ไทย-จีนเริ่มในปี 2518 เมื่อท่าน โจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นได้กล่าวต้อนรับ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น ที่เดินทางไปเข้าพบที่กรุงปักกิ่งว่า "ขอต้อนรับลูกชายของเพื่อนเก่า" นอกจากช่องทางการทูตระหว่างสองรัฐบาล ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นไปลงนามความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 แล้ว ยังมีช่องทางภาคประชาชนที่ผู้นำจีนในอดีตเปิดทางให้สร้างความสัมพันธ์ต่อกันในรูปของสมาคมที่เริ่มต้นจากสมาคมมิตรภาพไทย-จีน
พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ปัจจุบันไทยต้องเข้าใจในยุทธศาสตร์ BRI ของจีนว่าเป้าหมายเขาคืออะไร เขาจะสร้างเส้นทางแห่งสันติภาพเส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองเส้นทางแห่งการเปิดกว้างและเส้นทางแห่งอารยะธรรม พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีมากกว่า100ประเทศที่เข้ามาร่วมโครงการ แม้กระทั่งสหประชาชาติก็มีความเห็นสนับสนุนด้วย การสร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันของจีนที่มีผลต่อประเทศในหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งรวมถึงอาเซียน แม้บางพื้นที่มีเสียงสะท้อนว่าจีนกำลังแสวงหาอาณานิคมในรูปแบบใหม่หรือไม่ แต่สำหรับไทยสำหรับอาเซียนถือว่าเป็นระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่าในขณะที่มีความกังวลในภาคยุทธศาสตร์เอกชนใจเรื่องการทำธุรกิจกับภาคเอกชนจีนว่ามีกำลังเหนือกว่ามากอาจจะเข้ามาฮุบกิจการ หรือก็อปปี้ลอกเลียนแบบเลยไหม แต่ขณะเดียวกันจีนก็มีความยืดหยุ่น มีความเป็นมิตรภาพในการต่อรองเจรจา ส่วนในภาครัฐที่มีการเจรจากับจีน จีนเป็นตลาดที่เติบโตสำหรับสินค้าเกษตรของไทย วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมก็ทำงานกับจีนอย่างใกล้ชิด การทำงานฉันท์มิตร
อนาคตเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญเพราะจีนให้ความสำคัญต่อการเอามิติของดิจิทัลมาขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ จีนกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่เรียกว่า Decentralized Finance ที่อาจจะเป็นดิจิทัลหยวน หรืออาจเป็นการปล่อยสินเชื่อในระบบของ บล็อคเชน อันนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง
ตอนนี้จีนคือธุรกิจเศรษฐกิจ 5.0 เราเห็นจีนยิงดาวเทียม มีเทคโนโลยีควอนตัมที่เร็วกว่าของอเมริกาหลายพันเท่า ดังนั้นสปีดของอินเตอร์เน็ตในอนาคตและเศรษฐกิอจที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล Big Data ที่จีนมีและใช้นั้นจีนมีมากกว่ายุโรป อเมริกา และตะวันตก ดังนั้นไทยเราจะวางตำแหน่งตนเองอย่างไรให้อยู่ในเศรษฐกิจที่เรารู้ว่าต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่ก้าวข้ามเข้ามาอย่างไร้พรมแดน ไม่ใช่แค่นโยบาย BRI แต่โครงสร้างพื้นฐานในทางดิจิทัลคือสิ่งที่ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับจีนอย่างไรในอนาคต เพราะจะนำมาซึ่งการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เศรษฐกิจที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศไทยเรา
"ต้องมองจีนให้เป็นโอกาส อย่ามองว่าเป็นคู่แข่งเป็นศัตรูหรือกลัวจีน แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ Platform Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยPlatformใหญ่ๆ เช่น Booking.com ที่โกยกำไรจากการท่องเที่ยว อำนาจสื่อที่อยู่ในมือ Facebook Google Youtube เราอาจจะกลัวจีนแต่เราก็ต้องสร้างสมดุลกับฝั่งตะวันตกที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีทันสมัย" นายปริญญ์กล่าว
ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูร กล่าวในมุมมองของภาคเอกชนว่า หากประเทศไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นต้องไม่ลืมเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนโลกและนักลงทุนจากประเทศจีน GWM เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว รถไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดรถยนต์ปัจจุบัน สินค้าไทยที่จะส่งไปขายจีนนอกจากสินค้าเกษตร สินค้าอื่นๆต้องมีนวัตกรรม ต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาถึงจะเจาะตลาดจีนได้
การจะค้ากับจีนต้องคิดใหม่ทำใหม่ ไม่ใช่คิดแค่ขายกลุ่มทัวร์ ตัวอย่างช่วงเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนไม่มาก ผู้ผลิตสินค้าขายทัวร์ตายกันหมดเพราะไม่วางแผนที่อยู่รอดหากเจอวิกฤติเลย
ที่มา: สมาคมมิตรภาพไทย-จีน