กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--มพช.
กรมการปกครองเร่งพัฒนาโครงการอินเตอร์เน็ตตำบล ใช้ระบบสั่งการโดยตรงจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ให้สามารถรับทราบข้อราชการก่อนหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการจะไปถึงเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ
นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการศูนย์ประมวลผลการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตตำบลว่า ทางศูนย์ประมวลผลการทะเบียนและกรมการปกครอง อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสั่งการจากส่วนกลางผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยจะเริ่มทดลองใช้งานกับ อบต. ต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือก 1,000 แห่ง ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นการสื่อสารทางเดียวก่อน โดยประสานงานผ่านสำนักงานเลขานุการกรมการปกครองไปยังหน่วยปฏิบัติงานในท้องถิ่นให้รับทราบข้อราชการก่อนหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการไปถึง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ
"ที่ผ่านมาต้องยอมรับท้องถิ่นมีปัญหาในแง่ของการปฏิบัติงาน ซึ่งตามขั้นตอนแบบเดิมจะต้องรอหนังสือสั่งการจากส่วนกลางจะไปถึง ทำให้บางครั้งระยะเวลาในการทำงานเหลือน้อยเต็มที รวมทั้งระยะเวลาในการรายงานผลกลับมาก็ไม่ทันท่วงที แต่ถ้าใช้ระบบสั่งการผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะช่วยย่นระยะเวลาได้มาก สามารถนำไปปฏิบัติงานได้ทันทีเลย"
ในแง่ของการใช้ระบบ จะต้องส่งข้อมูลของหนังสือสั่งการเข้าคลังฐานข้อมูล โดยผู้บันทึกข้อมูลจะต้องมีรหัสประจำตัวสำหรับใช้เป็นตัวอ้างอิงได้ โดยผ่านจากส่วนกลางเชื่อมโยงไปยังคลังของศูนย์ภาค ส่งไปยังจังหวัด อำเภอ และ อบต. ทั้งนี้เพื่อการป้องกันความปลอดภัยในกรณีที่มีผู้ไม่ประสงค์ได้แอบอ้างหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ระบบสั่งการที่ใช้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะใช้กับหนังสือที่ต้องอ้างอิง สำหรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติราชการเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการของหน่วยงานท้องถิ่น แต่ไม่ใช่หนังสือปกปิด ซึ่งยังคงใช้วิธีปกติของงานสารบรรณการทดลองใช้ระบบสั่งการจะดำเนินการภายในเดือนกันยายน 2544 นี้ ควบคู่กับการเปิดใช้โครงการ อบต. อย่างเป็นทางการ และในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นการสื่อสารสองทาง เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถรายงานผลมายังส่วนกลางได้
ปัจจุบันกรมการปกครองอยู่ระหว่างการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปติดตั้งให้กับ อบต. 1,000 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกใน 75 จังหวัด 544 อำเภอ ซึ่งคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลและส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะทำการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้ระบบให้กับเจ้าหน้าที่ของ อบต. เน้นระบบบันทึกข้อมูล ระบบแก้ไข และระบบค้นหาข้อมูลโดยศูนย์ประมวลข้อมูลภาค 9 แห่งทั่วประเทศ
ที่ผ่านโครงการ อบต. ได้ทดลองนำร่องกับ 10 อบต. ใน 9 จังหวัดเพื่อศึกษาวิธีการใช้พร้อมปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการปฏิบัติงานก่อนที่จะเปิดใช้พร้อมกันทั้ง 1,000 อบต. พบว่า ในแง่ของการพัฒนาระบบข้อมูลและการใช้งาน อบต.นำร่องแต่ละแห่งได้ทำการบันทึกข้อมูลพื้นฐานของ อบต. แผนงาน/โครงการ แหล่งท่องเที่ยว /ผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเรียกดูข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมการปกครอง www.dola.go.th หรือ www.khonthai.com เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"เพียงแต่สถิติการใช้งานยังมีไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นของใหม่สำหรับท้องถิ่น แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญในยุคข้อมูลข่าวสารซึ่งในอนาคตจะสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของ อบต.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโปรแกรมระบบที่ออกแบบสำหรับการใช้งานครอบคลุมการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการบริหาร การจัดเก็บข้อมูล การบริหารจัดการ การบริหารงบประมาณ และระบบรายงานต่างๆ การติดตามประเมินผล รวมทั้งการรับทราบข้อมูลข่าวสารและระบบเครือข่ายในการสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างศักยภาพการใช้ข้อมูลข่าวสารให้กับอบต."
โครงการอินเตอร์เน็ตตำบล เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน 74.68 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐานในการสร้างความเจริญและรองรับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของท้องถิ่นสู่สาธารณชนให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างกว้างขวาง
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
คุณสุภาพร หวานเสนาะ / คุณสร้อยนภา สงฆ์โนนเหล็ก
โทร. 0-2279-8001 / 0-2616-2270-1--จบ--
-อน-
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: ทรู บิสิเนส จัดงานสัมมนาธุรกิจแห่งปี True Business Forum 2014 เจาะลึกแนวโน้มธุรกิจ พร้อมก้าวกระโดดสู่ปี 2020
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: สมาคม “เอทีซีไอ” จับมือภาครัฐ-เอกชน เปิดอบรมสัมมนา โชว์นวัตกรรมด้านการแพทย์ ในงาน “Healthcare Technology Summit 2014”
- ม.ค. ๒๕๖๘ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดงานแถลงข่าว G-Cloud & Beyond