FoodMarketExchange.com จัดสัมมนาครั้งใหญ่ " ก้าวสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ "

พฤหัส ๐๕ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๔:๒๑
กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--นิโอ ทาร์ เก็ต
FoodMarketExchange.com ร่วมกับนิตยสารอี-คอมเมิร์ซ , กรมประมง, และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ จัดสัมมนาครั้งใหญ่ " ก้าวสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ " เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรกรรม กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ชี้ e-Commerce มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรไทยดีขึ้น เนื่องจากสามารถเพิ่มช่องการตลาดใหม่ให้เข้ากับศักยภาพภูมิปัญญาธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรไทยในโลกดิจิตอล
นายไซมอน ชาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้ชื่อเว็บไซต์ FoodMarketExchange.com เปิดเผยว่า บริษัทฯ ร่วมกับนิตยสาร อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce Magazine) จัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ในหัวข้อ "ก้าวสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ" โดยได้รับความร่วมมือจากกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
งานสัมมนาดังกล่าว นอกจากจะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มของ อี-คอมเมิร์ซ ในตลาดโลกที่เข้ามามีบทบาทต่อการแข่งขันทางการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) แล้ว ยังจะให้ความรู้ทางด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ระบบ Value Chain, Supply Chain Management ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับกระบวนการจัดซื้อจัดหาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) และความสัมพันธ์ต่างๆ ในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
นายไซมอน กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทฯ เนื่องจากเรื่องการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ประกอบกับผู้ประกอบการทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ยังมีความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจน้อยมาก ดังนั้น ในปีนี้ FoodMarketExchange.com จึงจะเน้นเรื่องการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ตลอดจนเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ โดยมีแผนจะจัดสัมมนาสัญจรทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย
ดร.เดชานุชิต กตัญญูทวีทิพย์ กรรมการและที่ปรึกษาผู้บริหารอาวุโส บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของ Supply Chain Management (SCM) ว่า ปัจจุบัน SCM ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กรเท่านั้น แต่จะเชื่อมต่อองค์กรอื่นๆ เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบ/สินค้า บริษัทผู้จัดจำหน่าย เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ e-Commerce และ e-Business และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะ SCM จะเป็นที่มาของความสำเร็จในศตวรรษใหม่นี้
นายพิชัย ตรรกบุตร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระบบข้อมูลการพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กล่าวว่า ข้อมูล e-Commerce เป็นกระบวนการซื้อขายสินค้าบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Internet มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรกรรมอย่างมากในปัจจุบันจนถึงอนาคต ดังจะเห็นได้ว่า ตลาดหลักส่งออกของไทย คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้เร่งรัดพัฒนาการตลาดอาหารและสินค้าเกษตรผ่าน e-Farm bureau (fb.org), e-Europe (agrimine.com) เพราะ e-Commerce มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรไทยสามารถเพิ่มช่องการตลาดใหม่เข้ากับศักยภาพภูมิปัญญาธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรในโลกดิจิตอล
ทั้งนี้ ผู้จะริเริ่ม e-Commerce ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในภูมิปัญญาดั้งเดิมของตนเอง ในด้านลูกค้าเดิมและพันธมิตรทางการค้าระหว่างนักธุรกิจกับเกษตรกร และภาครัฐ รวมทั้งมีข้อมูลพื้นฐานเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่มีคุณภาพ การเงิน การบัญชีที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้และมีการตลาดที่กว้างไกล เป็นยุคดิจิตอลที่ผู้ผลิต-ผู้ค้า-ผู้บริโภคเริ่มซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Internet กันอย่างแพร่หลายครอบคลุมไปทั่วโลก
หากจัดอันดับปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ต 10 ประเทศ จากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด จะพบว่า โซเวียตจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด รองลงมาคือ ฮ่องกง, โปแลนด์, สวีเดน, เบลเยี่ยม, ไทย, ไต้หวัน, เยอรมัน, สเปน, และเนเธอแลนด์ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 โดยมีการใช้อินเตอร์เน็ตถึง 1.5 ล้านคน เท่ากับว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการนำ e-Commerce มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากในกติกาสากลของการค้าเสรีนั้น การเปิดตลาดอุตสาหกรรมอาหาร เป็น 1 ใน 5 ของข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการกองสารสนเทศทรัพยากรประมง กรมประมง กล่าวว่า e-Commerce จะเอื้อประโยชน์ต่อของการประมงในการเพิ่มโอกาสทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ให้เกิดความสะดวกสำหรับการซื้อขาย ช่วยแก้ปัญหาการตลาดทั้งการขยายตลาดและค่าการตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนให้เกิดการรวมตัวกันพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้โดยสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยส่วนของภาครัฐ สามารถให้การสนับสนุนเรื่องข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลวิชาการ ข้อมูลอุตสาหกรรมและการส่งออก การตลาด และการลงทุน ส่วนเอกชนควรสนับสนุนให้เกิด e-Commerce โดยการส่งเสริมให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเข้ามาซื้อสินค้าผ่านเครือข่าย Internet และร่วมพัฒนาข้อมูลต่างๆที่ลูกค้า จำเป็นต้องรู้เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับคู่แข่งทั่วโลกอย่างแท้จริง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อรนุช เตชอภิรักษ์ หรือ ดุสิต ไตรยปัญจวิทย์
ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด
โทร. 298-0345 ต่อ 531-532 โทรสาร 298-0332
วรรณี ลีลาเวชบุตร หรือ ลัคคณา ขวัญงาม
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด (ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์)
โทรศัพท์ 861-0881 ต่อ 17-20 โทรสาร 438-4427--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version