กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
"ซัน ไมโครซิสเต็มส์ อิงค์" ร่วมกับบริษัทผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำ ได้แก่ อีริคสัน, เอ็นอีซี, โนเกีย, นอร์เทล เน็ตเวิร์คส์ และเทลคอร์เดีย เทคโนโลยีส์ อิงก์ประกาศแนวทางการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยี จาวา (Java ) ซึ่งเป็นการนำ Java APIs มาใช้เป็นมาตรฐานหลักของระบบสนับสนุนการดำเนินงาน (Operations Support Systems หรือ OSS) และระบบสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ (Business Support Systems หรือ BSS) ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าวของบริษัทเหล่านี้จะเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกมัด ตลอดจนการเจรจาร่วมกัน และข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย
โครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาให้ OSS API หลากหลายชนิดให้มีมาตรฐานเดียวกันโดยใช้โปรแกรม JCP (Java Community ProcessSM) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ติดตั้งและให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมสามารถสร้างระบบ OSS ระบบเปิดที่สามารถรันแอพพลิเคชั่นร่วมกันได้ทุกระบบ ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้แอพพลิเคชั่นของผู้ค้าต่างรายสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
โครงการพัฒนาระบบ OSS ด้วยเทคโนโลยีจาวา มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบ OSS APIs ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้โปรแกรม Java Community ProcessSM หรือ JCP ซึ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเปิดที่ซันได้นำมาดัดแปลงข้อกำหนด (specification) ของเทคโนโลยีจาวาตั้งแต่เมื่อปี 2538 โดยร่วมมือกับนักพัฒนาโปรแกรมจาวาจากนานาประเทศทั่วโลกปัจจุบัน ผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับปัญหาด้าน OSS ที่เป็นระบบปิด เนื่องจากระบบที่นำมาใช้งานเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของผู้ผลิตแต่ละรายและไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ นอกจากจะมีการนำระบบที่แตกต่างกันเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวมีความซับซ้อน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลามาก จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
โครงการพัฒนาระบบ OSS จะเริ่มด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบการสื่อสารแบบไร้สาย 3G (third-generation)โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการจองซื้อตั๋วที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน การควบคุมการดำเนินงานและคุณภาพของบริการ ตลอดจนการสนับสนุนและขยายการให้บริการ
มร. ฌอง ปิแอร์ โบดูแอง ผู้อำนวยการกลุ่มซอฟต์แวร์การสื่อสารโทรคมนาคม บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ อิงค์ กล่าวว่า "เนื่องจากผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมได้ก้าวเข้าสู่ระบบเครือข่าย IP หรืออินเตอร์เน็ต จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ OSS ให้เป็นระบบเปิดที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถใช้งานร่วมกันได้ ทั้งยังให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆในตลาด นอกจากนี้ ซันยังมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา APIs ให้สามารถใช้งานได้กับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของซัน เพื่อให้มีสมรรถนะในการผลิตโซลูชั่นแบบครบวงจรที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวาเป็นผลจากความต้องการของบริษัทกลุ่มหนึ่งที่ได้พัฒนาระบบและอุปกรณ์ที่รองรับ OSS รุ่นใหม่โดยใช้แพลทฟอร์มจาวา
"โนเกียมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาคุณลักษณะใหม่ของระบบการจัดการ 3G ให้เป็นระบบเปิดและสามารถทำงานข้ามระบบกันได้ ความพยายามดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของโนเกียในการสนับสนุนการพัฒนาระบบ OSS ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และการให้ความร่วมมือกับผู้ค้าซอฟต์แวร์อิสระ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมมีโซลูชั่นสนับสนุนการบริหารงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น" มร. จอร์มา เฮคคิเนน รองประธานบริหาร และผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย โอเอสเอส กล่าว
ความสามารถในการปรับขยายบริการต่างๆได้อย่างง่ายดาย ตลอดจนการนำแอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ที่รองรับ OSS ใหม่มาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว คือภารกิจสำคัญของผู้ติดตั้งและให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมที่ต้องการสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆในยุคที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยี คือ การสื่อสารด้วยเสียงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (IP) และการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตด้วยระบบการสื่อสารแบบไร้สายได้กลายเป็นความจริง
มร. สติ๊ก รูเน โจฮานส์สัน รองประธานกลุ่มระบบจีเอสเอ็ม บริษัทอีริคสันกล่าวว่า "เครือข่ายรุ่นที่สาม หรือ 3G และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆทำให้เกิดความต้องการโซลูชั่นด้านการจัดการสูงขึ้น ดังนั้น อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบเปิดจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญประการหนึ่ง และโครงการพัฒนาระบบ OSS จะทำให้การใช้และการเชื่อมโยงกับอุปกรณ์เชื่อมต่อเหล่านี้ง่ายขึ้น"
ดังนั้น การแยกระบบการจัดการเครือข่ายออกจากระบบการจัดการบริการจะค่อยๆลดลง เนื่องจากตลาดการสื่อสารโทรคมนาคมจะขยายตัวไปสู่การจัดหาบริการต่างๆที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงทั้งสองระบบไว้ด้วยกัน
มร. สตีฟ นิคอลลี รองประธานกลุ่ม Service Ware Solutions บริษัท นอร์เทล เน็ตเวิร์คส์ กล่าวว่า "ในฐานะผู้นำด้านโซลูชั่นการให้บริการระบบเปิดสำหรับระบบอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย บริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้าด้วยโซลูชั่นการจัดการแบบเปิดของผู้ผลิตหลายราย ทั้งประเภทโซลูชั่นเครือข่าย และโซลูชั่นบริการ บริษัทฯ มองเห็นว่าโครงการพัฒนาระบบ OSS ดังกล่าว เป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งที่บริษัทฯ พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย"
ดังนั้น เทคโนโลยี Enterprise JavaBeans ซึ่งจะนำมาใช้พัฒนาระบบ OSS APIs จึงช่วยให้การพัฒนาโซลูชั่นมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น
มร. นาโอตาเกะ ทาคะ-ทสุคาสะ ผู้จัดการทั่วไประดับอาวุโส ฝ่าย Control Systems Operations บริษัทเอ็นอีซี กล่าวว่า "ความสามารถในการจัดหาโซลูชั่นตามความต้องการของลูกค้า โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์พิเศษ ได้สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และโครงการพัฒนาระบบ OSS ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการดังกล่าว"
โครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวา คือคำตอบสมบูรณ์แบบสำหรับผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งต้องการเชื่อมโยงระบบการทำงานเฉพาะของตนไว้ด้วยกัน
"การพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันได้โดยใช้ APIs ที่เป็นมาตรฐานร่วมกันจะทำให้การพัฒนาโซลูชั่น OSS ตามความต้องการของลูกค้ามีความรวดเร็วยิ่งขึ้น" มร. ริช วอล์ฟฟ์ รองประธานฝ่าย Advanced Network Systems Research บริษัท เทลคอร์เดีย เทคโนโลยีส์ อิงค์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า "โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโซลูชั่นการจัดการแบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมให้มีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นที่ตลาดการสื่อสารเคลื่อนที่ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ เทลคอร์เดียรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้สอดรับกับ JCP"
โครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมมือกับโครงการอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน อาทิ โครงการ TeleManagement Forum (TMF) และโครงการ Third Generation Partnership Project (3GPP)
"เป้าหมายหลักของเราในปีนี้คือ การกำหนดโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบของระบบ OSS รุ่นใหม่ (New Generation OSS หรือ NGOSS) รวมทั้งระบบเทคโนโลยีที่สามารถใช้ร่วมกับระบบอื่นๆได้ และสถาปัตยกรรมที่รองรับการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีหลายระบบ" เอลิซาเบ็ธ อดัมส์ ประธาน และประธานกรรมการบริหารโครงการ TM Forum กล่าว พร้อมกับเสริมว่า "เทคโนโลยีจาวาได้รับการสนับสนุนจากตลาดเป็นอย่างมาก และเราต้องการให้นักพัฒนาจาวาช่วยกำหนดรายละเอียดการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีจาวา เรามีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับทีมงานโครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ และคาดหวังว่า การพัฒนา APIs ด้วยเทคโนโลยีจาวาจะเป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมที่สำคัญ"
ระบบ OSS APIs ที่สามารถทำงานร่วมกันได้จะช่วยให้บริษัทซอฟต์แวร์อิสระสามารถทำงานได้ง่ายดายและสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถรุกตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบที่แตกต่างกันของผู้ผลิตแต่ละราย
"APIs คือผลลัพธ์ที่เกิดจากโครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวา และถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SunConnect และสำหรับอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว โครงการ SunConnect ได้มุ่งเน้นที่การพัฒนาโซลูชั่นระบบ OSS แบบครบวงจร ดังนั้น โครงการ SunConnect จึงเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญในการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ให้บรรลุผลสำเร็จ โดยร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ และ ซิสเต็ม อินเทเกรเตอร์เพื่อจัดหาโซลูชั่นระบบเปิดครบวงจรสำหรับผู้ให้บริการต่างๆ" มร. ฟิล ซาสโซ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ OSS บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์กล่าวในตอนท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
รัมภา บุศยอังกูร สิริพร ศุภรัชตการ หรือ สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร. 636-1555 โทร. 252-9871-7
อีเมล์ [email protected] อีเมล์ [email protected] / [email protected] จบ--
-สส-