กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศยกย่องให้ รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2542 ตามมติที่ประชุม สภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2543 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 โดยที่สาขามนุษยศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ไม่มีผู้เสนอชื่อ
รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2542 ให้สัมภาษณ์ถึง หลักและวิธีการทำงานว่า ต้องทำงานให้ดีที่สุด เท่าที่สามารถจะทำได้ ผู้ที่ได้รับการยกย่อง เป็นกีรตยาจารย์ นอกจากจะต้อง เป็นนักวิชาการแล้ว ควรมีคุณสมบัติของครูที่ดีด้วย คือ ไม่ใช่เพียง แค่การบรรยายทางวิชาการเท่านั้น คำว่า "ครู" เป็นคำที่ลึกซึ้ง ต้องมีความรัก ความเมตตา ต่อลูกศิษย์ และถ่ายทอดความรู้ แก่ลูกศิษย์ ให้อย่างเต็มความสามารถ อาชีพครู เป็นอาชีพที่รวยอย่างเดียว คือลูกศิษย์ ฉะนั้นคนที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรต้องคิด ให้ดีก่อนว่า ตัวเองพร้อมหรือไม่ สำหรับการเป็นครู และในฐานะที่ เคยเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดว่า โครงการกีรตยาจารย์ เป็นสิ่งที่ดี เป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติอาจารย์ ช่วยส่งเสริมคนดี ซึ่งมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการคัดเลือก นอกจากการยกย่องอาจารย์ นักวิชาการแล้ว ยังมีการยกย่อง ครูดีเด่น ข้าราชการดีเด่น ลูกจ้างดีเด่น รวมถึงนักศึกษาดีเด่น และผู้ทำคุณประโยชน์ ให้กับมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเรียกได้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการยกย่องคนดี คนทำงาน อย่างครบวงจร เพื่อเป็นการสนับสนุน และให้กำลังใจ คนทำงาน ถึงแม้จะไม่มีรางวัลตอบแทน เป็นสิ่งมีค่า มีราคาก็ตาม
รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร สำเร็จการศึกษา รัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Diploma in Sovietology Freiburg University , Switzerland. ระดับปริญญาโท Master of Arts (Diplomacy & World Affairs) Occidental College , U.S.A. Master of Arts (Comparative Politics and Russian Studies) Columbia University , U.S.A. และปริญญาบัตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประจำปี 2537 (ร.ป.อ.รุ่นที่ 36) เคยได้รับรางวัลทุน Chevalier Program ทุน Rockefeller Foundation Scholars รางวัลเกียรติคุณ นักรัฐประศาสนศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2538 จากสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ แห่งประเทศไทย และรางวัลครุฑทองคำ ผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2538 จากสมาคมข้าราชการพลเรือน โดยเคยดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2534-2537 และ 2538-2541 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาอธิการบดี และประธานศูนย์ศึกษาการพัฒนา ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษ แห่งประเทศไทย และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีงานสอนภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท รวมถึงการบรรยายพิเศษ ที่สถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ มีผลงานทางวิชาการมากมาย ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น นโยบายต่างประเทศ ของสหภาพโซเวียต, ไทยวัฒนาพานิช , 2519 พรรคประชาธิปัตย์: ความสำเร็จ และความล้มเหลว, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530 ฯลฯ
ผลงานวิจัย เช่น "กองทัพไทย ในฐานสถาบันทางการเมือง" คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530 "นโยบายต่างประเทศ สมัยนายกอร์บาชอฟ" "การเมืองไทย ตามนัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521" ฯลฯ และมีโครงการวิจัยปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องกระบวนการ นิติบัญญัติของรัฐสภาไทย และเรื่องบทบาท และอิทธิพลต่างชาติ ในประเทศกลุ่มอินโดจีน เป็นต้น
อนึ่ง คุณสมบัติของผู้ที่สมควร ได้รับการยกย่อง เป็นกีรตยาจารย์ตามระเบียบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2539 คือ เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยรับราชการ หรือทำงานในมหาวิทยาลัย มาไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นผู้มีคุณธรรม ความสามารถในการสอน และมีความประพฤติ เป็นแบบอย่าง สมฐานะ ความเป็นครู เป็นที่ยอมรับ อย่างกว้างขวาง สำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ เป็นนักวิชาการที่มีผลงาน เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ เป็นผู้อุทิศตน ให้เป็นที่ประจักษ์ แก่สาธารณชน ในด้านการสอน การวิจัย และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ในฐานะอาจารย์ และช่วยเหลืองานบริหาร ของมหาวิทยาลัย--จบ--
- ๒๔ ธ.ค. OKMD จับมือ CMDF จัดกิจกรรมค่ายบ่มเพาะเชิงลึกด้านการเงินให้เยาวชน ภายใต้แนวคิด "หา-ใช้-ออม-ลงทุน-ปกป้อง"
- ๒๓ ธ.ค. CEO กลุ่มบริษัทบางจากรับมอบโล่ศิษย์เก่าเกียรติยศ 90 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ๒๓ ธ.ค. ม.ธรรมศาสตร์ เฉลิมฉลอง 90 ปี เตรียมเปิดฉาก "ธรรมศาสตร์เกมส์" ลุยเจ้าภาพจัดแข่งขัน "กีฬามหา'ลัยครั้งที่ 50" เฟ้นหานักกีฬาศักยภาพสู่ระดับโลก