กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--กทม.
นายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตธนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่งผังเมือง ระบายน้ำ สภากทม. เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างทางยกระดับคลองภาษีเจริญ และส่วนต่อเนื่อง ตอนที่ 2 ทั้งนี้เนื่องจากเดิมกรุงเทพมหานครมีแนวคิดจะจัดทำทางพิเศษสำหรับรถโดยสารประจำทาง หรือ รถยนต์โดยสารอื่น ๆ ที่สามารถรับ — เชื่อม และส่งต่อการเดินทางของประชาชนไปยังระบบขนส่งมวลชนหลักอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาโครงการฯ มีแนวโน้มที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้า BTS โดยขณะนี้ได้ทำรางต่อเชื่อมไว้และก่อสร้างไปแล้ว 40 % นอกจากนี้กทม.ยังได้รับการส่งมอบพื้นที่จากกรมโยธาฯแล้ว 88 % และในเดือน ต.ค.45 จะได้พื้นที่ทั้งหมดจากกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำหรับแนวคิดในเบื้องต้นของผู้บริหารกทม.นั้น คณะกรรมการฯเห็นด้วย และกำลังพิจารณาความเหมาะสมในรายละเอียดของระบบโครงสร้าง ตลอดจนงบประมาณ โดยคำนึงประโยชน์ของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญ เช่น เรื่องของค่าโดยสารควรมีราคาถูก และให้การส่งต่อการเดินทางฯ สามารถใช้ตั๋วใบเดียวกันได้ เป็นต้น สำหรับส่วนต่อขยายจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มาบรรจบกับโครงการทางยกคลองภาษีเจริญที่ก่อสร้างไว้แล้ว สภากทม.คงต้องรอฝ่ายบริหารกทม. จัดสรรงบประมาณเสนอผ่านสภากทม.มาอีกครั้งหนึ่ง
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินการก่อสร้างโครงการทางยกระดับคลองภาษีเจริญ และส่วนต่อเนื่องได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก หรือ คจร.โดยสอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงการขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งได้กำหนดให้พื้นที่ฝั่งธนบุรีตอนกลาง ได้แก่ เขตธนบุรี คลองสาน จอมทอง ภาษีเจริญ บางแค และหนองแขม เป็นพื้นที่ที่ควรมีการจัดทำโครงการฯเฉพาะสำหรับรถเมล์ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 150 ตร.กม. เนื่องจากมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชาชนทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ พื้นที่นี้มีความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าพื้นที่อื่นถึง 2 เท่า ในขณะที่พื้นผิวจราจรมีเพียง 5.3 ตร.กม. คิดเป็นพื้นที่ผิวจราจร 5 ตร.ม. ต่อคน ซึ่งน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ ถึง 40 % นอกจากนี้ยังมีถนนเพชรเกษมเป็นถนนสายหลักเพียงสายเดียวทำให้เกิดปัญหาการจราจรเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเร่งด่วน และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาคมนาคมกรุงเทพฯด้านใต้แห่งใหม่ตามรายงานการศึกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนา โครงการขนาดใหญ่ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของ สจร. ซึ่งคณะกรรมการจัดการจราจรทางบกได้มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 4/2542 แล้ว
สำหรับแนวเส้นทางของโครงการทางยกระดับคลองภาษีเจริญจะเริ่มต้นที่ถนนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนรอบนอก ฝั่งตะวันตก) จุดที่ข้ามคลองภาษีเจริญเลียบตามแนวคลองภาษีเจริญมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก จนถึงแนวโครงการถนนตากสิน-เพชรเกษมจึงเลี้ยวไปตามแนวโครงการถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเพชรเกษม ต่อเนื่องไปตามแนวถนนกรุงธนบุรี สิ้นสุดที่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 12.2 กม.--จบ--
-นห-